ส่องตลาด Data Center ไทย อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง | Techsauce

ส่องตลาด Data Center ไทย อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง

ศูนย์ข้อมูล (data center) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มถูกออกแบบและพัฒนาไปสู่รูปแบบของ modular data center มากขึ้น เนื่องจากเป็นรูปแบบที่สามารถประหยัดต้นทุน เวลา และมีความยืดหยุ่นในการขยาย ทั้งนี้ data center ซึ่งทำหน้าที่ในการรับ จัดเก็บ ประมวลผล และส่งออกข้อมูล มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ 

  1. โครงสร้างอาคาร data center (Site infrastructure capital) ซึ่งเป็นอาคารสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ซึ่งในปัจจุบันการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างอาคารของ data center มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนจากอาคารรูปแบบทั่วไปที่ก่อสร้างและวางระบบพื้นฐานให้เสร็จก่อน แล้วจึงเริ่มเปิดให้มีการนำเครื่องเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์เข้ามาจัดวางในพื้นที่เช่า มาเป็นรูปแบบ modular data center (MDC) ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยย่อยของ data center สำเร็จรูปซึ่งทำงานได้ในตัว โดยเมื่อมีความต้องการใช้งานมากขึ้นจึงค่อยขยายไปยัง module ถัดไป โดยโซลูชันดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงด้านความล่าช้าของการก่อสร้างและเงินลงทุนเริ่มต้นที่มากเกินไป ซึ่งจะทำให้สามารถขยายได้รวดเร็ว 
  2. ระบบและอุปกรณ์ไอที (IT capital) ซึ่งเป็นส่วนประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล เช่น อุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูล, เครื่องประมวลผลขนาดใหญ่, ระบบปฏิบัติการ, ตู้ rack, อุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็นต้น  
  3. บุคลากร (Human capital) ซึ่งทำหน้าที่ควมคุมและดูแลระบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการออกแบบและดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลซึ่งกำหนดขึ้นโดยสถาบันกลาง เช่น Uptime Institute, Telecommunications Industry Association (TIA), Building Industry Consulting Services International (BICSI) และ International Organization for Standardization (ISO) รวมถึงบุคลากรที่ทำหน้าที่ประสานงานกับลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

นอกจากการสร้าง data center เพื่อใช้งานเองแล้ว การเช่าใช้บริการได้สร้างโมเดลธุรกิจที่หลากหลายให้กับผู้ให้บริการ data center เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการ data center โดยการเช่าใช้บริการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การเช่าใช้บริการแบบ private cloud หรือ colocation และ 2. การเช่าใช้บริการแบบ public cloud การให้บริการ private cloud (colocation) และ public cloud มีความแตกต่างกันในด้านขอบเขตการให้บริการของผู้ให้บริการ data center โดยในกรณี private cloud (colocation) ผู้ให้บริการจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่ที่ใช้ในการจัดวางอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น rack และสายเชื่อมต่อสัญญาณ ขณะที่ผู้ใช้บริการจะเป็นฝ่ายลงทุนในสินทรัพย์ไอทีต่าง ๆ เอง เช่น เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ระบบปฏิบัติการ โดยผู้ใช้บริการจ่ายค่าเช่าวางอุปกรณ์เป็นรายเดือนให้กับผู้ให้บริการตามพื้นที่การใช้งาน ส่วนในกรณี public cloud ผู้ให้บริการจะเป็นฝ่ายจัดเตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ทั้งหมด รวมถึงสินทรัพย์ด้านไอที โดยผู้ใช้บริการจ่ายค่าบริการในลักษณะการสมัครใช้บริการตามระยะเวลาที่กำหนด (subscription) หรือจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง (pay per use) ทำให้ผู้ใช้บริการมีความยืดหยุ่นในการขยายหรือลดขนาดการใช้งานได้ตามความต้องการ

ทั้งนี้การให้บริการ public cloud สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทย่อยตามระดับการให้บริการ ได้แก่ 

  1. Infrastructure as a Service (IaaS) หมายถึง การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อรองรับการให้บริการ พื้นที่เก็บข้อมูล (storage) และเครือข่ายคอมพิวเตอร์บน cloud โดยค่าบริการจะคำนวณตามการใช้งานจริง (pay per use) ตัวอย่างผู้ให้บริการ เช่น Azure IaaS services, AWS EC2, Google Compute Engine, Rackspace และ INET เป็นต้น
  2. Platform as a Service (PaaS) หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันหรือ ซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนคลาวด์ โดยผู้ให้บริการจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์เอาไว้ให้ เช่น Web Server, Database, development runtime โดยค่าบริการจะคิดตามการใช้งานจริง (pay per use) ตัวอย่างผู้ให้บริการ เช่น AWS Elastic Beanstalk, Windows Azure, Google App Engine, Oracle Cloud, IBM Cloud และ Alibaba Cloud เป็นต้น
  3. Software as a Service (SaaS) หมายถึง การให้บริการซอฟต์แวร์พร้อมใช้งานบนระบบคลาวด์ โดยการคิดค่าบริการมักอยู่ในรูปแบบการสมัครใช้บริการเป็นรายเดือนหรือรายปี (subscription model) ตัวอย่างผู้ให้บริการ เช่น Office365, Google Doc, Salesforce, Docusign และ Zoom apllication เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการใช้งาน public cloud ผู้ใช้บริการอาจเกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลเนื่องจากอุปกรณ์จัดเก็บมีการใช้ร่วมกันกับองค์กรอื่น ส่งผลให้หลายองค์กรเริ่มหันมาใช้บริการในรูปแบบ hybrid cloud ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง private และ public cloud กันมากขึ้น โดย hybrid cloud มีข้อได้เปรียบในด้านการลงทุนเริ่มต้น ที่น้อยกว่าหากเทียบกับ private cloud และสามารถลดข้อกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลลงได้ โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวด้านข้อมูลไว้บน private cloud และเลือกเก็บข้อมูลทั่วไปไว้บน public cloud 

มูลค่าตลาดการให้บริการ data center รวมของโลกคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องราว 23%CAGR ในช่วงปี 2020-2022 โดยมีปัจจัยหนุนจากตลาด public cloud ที่เติบโตโดดเด่น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้งานในระดับองค์กรภายใต้วิถีใหม่ (new normal) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้มูลค่าตลาด data center รวมในปี 2022 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12 ล้านล้านบาท) โดยในอดีตตลาดการให้บริการ data center มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2018-2020 อยู่ที่ 22%CAGR หนุนโดยปริมาณการใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล และอัตราการเข้าถึงสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น อัตราการเติบโตดังกล่าวมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งสำคัญให้องค์กรนำเทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และคาดว่าเทรนด์ดังกล่าวจะยังดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์สามารถช่วยลดต้นทุนในด้านไอทีให้กับองค์กรและยังช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น ซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้า (customer relationship service, CRM) ซอฟต์แวร์การประชุมระยะไกล (teleconference), ซอฟต์แวร์การจัดทำเอกสารออนไลน์และ e-signature เป็นต้น 

จากการรวบรวมข้อมูลงานศึกษาแนวโน้มธุรกิจ data center ของสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ EIC ประเมินว่ามูลค่าตลาด colocation จะเติบโตได้ในอัตราที่ช้ากว่าตลาด data center โดยรวม โดยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 8%CAGR มาอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2020-2022 เนื่องจากมีแรงกดดันของลูกค้าบางส่วนที่อาจเปลี่ยนไปใช้บริการ public cloud แทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวขององค์กรเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน ขณะที่ตลาด public cloud มีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 25%CAGR มาอยู่ที่ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 

มูลค่าตลาดให้บริการ data center ของไทย มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าตลาดโลก โดยคาดว่าในช่วงปี 2020-2022 ตลาดจะปรับตัวขึ้น 20%CAGR มาอยู่ที่ราว 3.2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการเร่งตัวขึ้นจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2018-2020 ซึ่งเติบโตประมาณ 19%CAGR โดยตลาด colocation คาดว่าจะเติบโตราว 6%CAGR มาอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท ในปี 2022 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าตลาดโลก (8%CAGR) เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2021-2022 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการในบางธุรกิจตัดสินใจชะลอการลงทุนด้านสินทรัพย์ไอทีลง หรือบางส่วนมีการเปลี่ยนไปใช้งาน public cloud มากขึ้น เนื่องจากใช้เงินลงทุนเริ่มต้นน้อยกว่า ขณะที่ตลาด Public cloud ของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ใกล้เคียงกับตลาดโลก (25%CAGR) โดยคาดว่าจะขยายตัวถึงราว 24%CAGR มาอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2022 จากการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ภายในองค์กรที่เพิ่มขึ้น 

รูปที่ 1 : มูลค่าตลาด colocation และ public cloud ของโลก

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Gartner, Grandview research และ JPMorgan

รูปที่ 2 : มูลค่าตลาด colocationและ public cloud ของไทย

 ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IDC APeJ Public Cloud Services Tracker, Gartner และข้อมูลจากผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าตลาด data center ในปี 2019 พบว่ามูลค่าตลาดของ public cloud อยู่ที่ 72% ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสัดส่วนของตลาดโลกซึ่งมีสัดส่วนของ public cloud ที่ราว 80% แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของตลาด public cloud ของไทยที่ยังมีอยู่มากในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางตลาดที่คาดว่าอัตราการเติบโตของ public cloud จะสูงกว่า colocation ทั้งนี้สัดส่วนของรูปแบบการให้บริการของ public cloud พบว่ากว่า 93% เป็นแบบ IaaS และ SaaS ขณะที่มูลค่าตลาดของ PaaS มีสัดส่วนเพียง 7% โดย EIC คาดว่าผู้ให้บริการของไทย 2 กลุ่มหลักอย่างผู้ให้บริการในกลุ่ม IaaS ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเดียวกับผู้ให้บริการ Colocation และผู้ให้บริการ SaaS ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ตอัปผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บนระบบคลาวด์ จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของธุรกิจ data center และคลาวด์ของไทยในอนาคต ขณะที่ตลาด PaaS แม้ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตตามตลาด public cloud รวม แต่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในไทยยังเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เช่น Amazon, Google, Microsoft และ Alibaba เป็นต้น 

รูปที่ 3 : สัดส่วนมูลค่าตลาดประเภทของ public cloud ของโลกและของไทย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ International Data Corporation (IDC), Gartner และ JPMorgan 

การเติบโตของทั้ง colocation และ public cloud มาจาก 3 ปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้ข้อมูลทั้งจากผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้ 

1) ภาคผู้บริโภค คาดว่าการใช้งานข้อมูลจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของธุรกิจ Cloud Gaming, Over-the-top platform (OTT), Social media รวมถึง E-commerce เป็นต้น ซึ่งการเติบโตนี้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น สะท้อนได้จากปริมาณการใช้งานข้อมูลบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยของไทย  ที่มีการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 38%CAGR (1H2019-1H2021) มาอยู่ที่ 20.3 GB/เลขหมาย/เดือน ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เช่นเดียวกับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ (Fixed Broadband Internet) ในไทยที่มีการเติบโตราว 14%YOY มาอยู่ที่ 11 ล้านรายในปี 2020

2) ภาคองค์กรธุรกิจ การแพร่ระบาด COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งให้องค์กรธุรกิจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น (digital transformation) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI), Big Data analytics, Automation system รวมถึง Cloud computing ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้ข้อมูลขององค์กรธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้ประเมินว่ามูลค่าตลาด big data analytics ของไทยมีแนวโน้มเติบโต 12%CAGR (2020-2022) มาอยู่ที่ราว 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2022 นอกจากนี้ คาดการณ์ของสำนักวิจัยต่างประเทศ ระบุว่ามูลค่าตลาดโลกของ SaaS Customer Relationship Management (CRM) และ Enterprise Resource Planning (ERP) ซึ่งทำงานบนคลาวด์มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 14%CAGR และ 17%CAGR ตามลำดับในช่วงปี 2021-2025 

3) หน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐมีโครงการในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลางของภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) เพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐให้อยู่ในระบบดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงการสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียนโดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษี (BOI) กับผู้ให้บริการ data center อีกด้วย

แม้ว่าธุรกิจ data center จะมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตามอง ทั้งประเด็นด้านเงินลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงและการแข่งขันจากผู้เล่นต่างประเทศ โดยลักษณะของธุรกิจซึ่งจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการทำงานของเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ ส่งผลให้มีเงินลงทุนเริ่มต้นในช่วงแรกและต้นทุนคงที่ (fixed cost) สูง เนื่องจากต้องมีการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคาร, งานระบบ, ตู้ rack, พนักงานดูแล รวมถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับให้บริการลูกค้า ซึ่งตามระบบบัญชีจะต้องใช้เวลาในการทยอยตัดค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดจึงส่งผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรของผู้ให้บริการในช่วงต้นของการดำเนินธุรกิจยังไม่ดีนัก เนื่องจากอัตราครอบครองพื้นที่ให้บริการยังไม่สูงนัก 

ขณะที่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของผู้ให้บริการจากต่างประเทศถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตามองและอาจก่อให้เกิดการแย่งชิงตลาดโดยใช้กลยุทธ์ทั้งด้านการบริการที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกันได้ ด้านความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ รวมถึงการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีงบประมาณการลงทุนสูง โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่มีแผนขยายตลาดในไทย ได้แก่ STT-GDC ที่จับมือกับกลุ่ม Fraser, Huawei, NTT, Supernap, Tencent cloud และ KT Corporation เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการ data center ของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2017-2019) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากเทียบกับผู้ให้บริการในระดับโลกอัตราทำกำไรของผู้ให้บริการไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างของผู้ให้บริการ data center ในประเทศ (ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ) และผู้ให้บริการในต่างประเทศจำนวนทั้งหมด 20 ราย พบว่าในช่วงปี 2017-2019 รายได้เฉลี่ยของกลุ่มมีการเติบโตถึง 25%CAGR ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่ง โดยผู้ให้บริการ colocation ของไทยมีรายได้เติบโตเฉลี่ยที่ 16%CAGR ใกล้เคียงกับผู้ให้บริการในต่างประเทศที่ราว 14%CAGR ขณะที่รายได้ของผู้ให้บริการ public cloud ของไทยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 38%CAGR ขยายตัวได้ดีกว่าผู้ให้บริการ SaaS และ multi-cloud (ให้บริการครอบคลุมทั้ง IaaS, PaaS และ SaaS)  ของต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ราว 29%CAGR และ 30%CAGR ตามลำดับ เป็นผลจากฐานรายได้ที่เล็กกว่าของตลาดคลาวด์ของประเทศไทย อีกทั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้น 

นอกจากนี้ รายได้ของผู้ให้บริการ public cloud ของทั้งไทยและต่างประเทศเติบโตได้ดีกว่า colocation ซึ่งสอดคล้องกับภาวะตลาดโดยรวม อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่อัตราทำกำไร (EBIT margin) พบว่าโดยเฉลี่ยผู้ให้บริการของไทยมีอัตราทำกำไรต่ำกว่าผู้ให้บริการของต่างประเทศ โดยผู้ให้บริการ colocation ของไทยมีอัตราทำกำไรราว 10% ต่ำกว่าผู้ให้บริการต่างประเทศซึ่งมีอัตราทำกำไรที่ 22% เช่นเดียวกับผู้ให้บริการ public cloud ของไทยซึ่งมีอัตราทำกำไรที่ 8% ต่ำกว่าผู้ให้บริการ SaaS และ multi-cloud ต่างประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 17% และ 23% ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากความประหยัดเชิงขนาด ซึ่งผู้เล่นในระดับโลกมีข้อได้เปรียบในฐานรายได้ที่สูงกว่าผู้ให้บริการในไทยส่งผลให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่าภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่มีสัดส่วนของต้นทุนคงที่ที่สูง 

ในระยะข้างหน้า EIC คาดว่ารายได้และอัตราทำกำไรของผู้ให้บริการของไทยจะมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของตลาดและการประหยัดเชิงขนาดที่ดีขึ้นจากฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้ให้บริการ public cloud ซึ่งตลาดมีการเติบโตสูง ขณะที่ผู้ให้บริการ colocation อาจถูกกดดันจากผู้ใช้บริการบางส่วนที่เปลี่ยนไปใช้ public cloud มากขึ้น ส่งผลให้เติบโตในอัตราที่ต่ำกว่า โดยมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของผู้ให้บริการจากต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองในระยะกลางต่อไป 

รูปที่ 4 : การเติบโตของรายได้เฉลี่ย (%CAGR) และอัตราทำกำไร (EBIT margin) ของผู้ให้บริการในช่วงปี 2017-2019  

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้อง

EIC นำเสนอ 3 แนวทางในการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ 

  1. การนำ modular data center เข้ามาประยุกต์ใช้ จะช่วยลดเงินลงทุนในระยะเริ่มต้นได้ รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นในการขยายพื้นที่ให้บริการ 
  2. เน้นการให้บริการ public cloud มากขึ้น เพื่อรองรับกับตลาด public cloud ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในอนาคต นอกจากนี้ การให้บริการ public cloud ยังมีอัตราทำกำไรต่อการให้บริการ 1 rack ที่ดีกว่า colocation อีกด้วย 
  3. การร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มทางเลือกและก่อให้เกิด synergy ของการให้บริการ เช่น การจับมือกับกลุ่ม System Integrator (SI) ซึ่งมีการนำเสนอโซลูชันด้าน cyber security ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจของลูกค้าในการใช้บริการ public cloud รวมถึงการจับมือกับผู้ให้บริการต่างประเทศในการนำเสนอบริการ platform as a service (PaaS) ซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการไทยน้อยรายที่ให้บริการ เป็นต้น 

การเติบโตของธุรกิจ data center ส่งผลให้มีธุรกิจอื่นในห่วงโซ่อุปทานได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน โดย EIC มองว่า 1) กลุ่มผู้ผลิตจัดหาอุปกรณ์ไอที 2) กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และ 3) กลุ่มผู้ให้บริการเชื่อมต่อระบบ ถือเป็น 3 กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์อย่างมีนัยสำคัญ

1. กลุ่มผู้ผลิตและจัดหาอุปกรณ์ไอที (hardware supplier) เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอที ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักของ data center เช่น hard disk, สวิตช์, เราท์เตอร์ และสายเคเบิล เป็นต้น ทั้งนี้ Gartner ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกได้ประเมินการเติบโตของการใช้จ่ายด้านระบบและอุปกรณ์ data center ของโลกในปี 2021 ที่ราว 8%YOY มาอยู่ที่ 2.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

2. กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง (contractor) นอกจากความต้องการก่อสร้างอาคาร data center ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดแล้ว การก่อสร้างและวางระบบ mechanical & electrical (M&E) ของอาคาร data center ยังมีความซับซ้อนกว่าอาคารทั่วไปและต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการออกแบบและก่อสร้างเพื่อให้อาคาร data center สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่มาตรฐานกำหนด ส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร data center มีอัตรากำไรที่สูงกว่าผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารทั่วไป ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร data center มี EBIT margin เฉลี่ยที่ราว 20% ซึ่งสูงกว่าผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไปซึ่งส่วนมากอยู่ในระดับ 5%-10%

3. กลุ่มผู้ออกแบบ รวบรวม และติดตั้งระบบ (system integrator, SI) เปรียบเสมือนตัวกลางผู้เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีและซอฟต์แวร์กับผู้ใช้งานผ่านหลายบทบาท ได้แก่ การเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไอที, การติดตั้งอุปกรณ์ซอฟต์แวร์, การให้คำปรึกษา และการดูแลจัดการระบบ เพื่อให้การใช้งาน data center และ cloud computing สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย EIC คาดว่าผู้เชื่อมต่อระบบซึ่งโดยส่วนมากมีความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไอทีต่างชาติ เช่น CISCO, Oracle, IBM และ Salesforce เป็นต้น จะได้อานิสงส์จากการเติบโตของธุรกิจ data center อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ให้บริการ cloud service solutions และ cyber security ซึ่งมีการเติบโตในอัตราที่สูงตามการขยายตัวของการใช้งาน public cloud ในองค์กร 

โดยสรุป ธุรกิจ Data center ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจแห่งอนาคตที่น่าจับตามองและมีทิศทางเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งจากความต้องการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคผู้บริโภค, ภาคองค์กรธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ให้บริการ ทั้งในแง่การเติบโตของรายได้และอัตราทำกำไรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยท้าทายในด้านเงินลงทุนเริ่มต้นที่สูง และการเข้ามาแข่งขันของบริษัทต่างชาติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัจจัยดังกล่าวต่อไป 

บทวิเคราะห์โดย: https://www.scbeic.com/th/detail/product/7756

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : โอฬาร เอื้อวิทยาศุภร ([email protected]) นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com  

Line: @scbeic


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...

Responsive image

ทีทีบี ยกระดับ "ยินดี-Yindee" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ตอบทุกคำถามฉับไว บน Mobile Banking ด้วย Azure OpenAI ครั้งแรกในไทย

ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Transformation โชว์ความสำเร็จการพัฒนาผู้ช่วยบนมือถือ “ยินดี-Yindee” เวอร์ชันใหม่ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำ Generative AI ผ่าน Microsoft A...

Responsive image

สำรวจ KPMG เผย ซีอีโอพลังงานเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยี แม้เศรษฐกิจผันผวน

การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี (KPMG) แสดงให้เห็นว่าซีอีโอร้อยละ 78 มั่นใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามปีข้างหน้า สะท้อนความเชื่อมั่นในระดับสูง แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเ...