“ภาคการท่องเที่ยวไทย” ถือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งเห็นได้จากผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกฉบับล่าสุดของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) ที่พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวลำดับที่ 4 ที่นักท่องเที่ยวมองว่าน่าเดินทางไปเยือนมากที่สุดในโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดยเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกค้นหาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ และหัวหิน อีกทั้งจากการรายงานของ Insider ซึ่งเป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนำเสนอข่าวสารและไลฟ์สไตล์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ยังระบุว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 23 สถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการท่องเที่ยวในปี 2566 (23 of the best places to travel to around the world in 2023) เช่นกัน จึงอาจถือได้ว่าในช่วง 2 ปีนับจากนี้ จะเป็นช่วง Honeymoon time ของการท่องเที่ยวไทยเลยทีเดียว
“ภาคการท่องเที่ยว” จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 147% ต่อปี และล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยแล้วถึง 6.4 ล้านคน เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันถึง 1,202% (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น สร้างรายได้ให้กับประเทศรวมแล้วกว่า 2.5 แสนล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลของ กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ออกมาเปิดเผยตัวเลขสถิติประจำปี 2564 ที่พบว่า สัดส่วนการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ 10.55% ต่อการจ้างงานทั้งหมด
แต่ใครจะรู้ว่า ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวของไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะจากการสำรวจโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ เทคซอส มีเดีย ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อสะท้อนมุมมองประเด็นที่ส่งผลต่อการยกระดับการดำเนินธุรกิจ พบว่า ในภาพรวมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กำลังประสบปัญหาที่จะกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจอย่างน่าจับตา ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นด้านภาพรวมของตลาดที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น จนทําให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ยาก ส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้า ทั้งยังขาดความรู้ ความชำนาญในการทำการตลาดและการเลือกใช้เครื่องมือ Digital ที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการสร้างยอดขาย ขณะที่ ในหลายธุรกิจก็ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถตรงตามที่ธุรกิจต้องการ เกิดการลาออกและย้ายงานบ่อยครั้ง จนกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ และขาดระบบ หรือ เครื่องมือที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการงานภายในองค์กรและบริหารจัดการงานบุคคลที่สร้างแรงจูงใจให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ เป็นต้น
แล้วเราจะเข้ามาช่วย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ให้ไปต่อและเติบโตได้กว่าที่เคยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้อย่างไร? นี่คือโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเดินหน้าและเร่งผลักดันไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการเร่งเครื่องให้ ‘ธุรกิจการท่องเที่ยวไทย’ พร้อมสู่ ‘Digital Transformation’ เพื่อให้พร้อมสู่การแข่งขันบนโลกดิจิทัลในอนาคต เพราะจากรายงานของ SAP Center for Business Insights and Oxford Economics ระบุว่า 80% ขององค์กรที่ทำ Digital Transformation จะมีแนวโน้มมีกำไรสูงขึ้น และกว่า 85% จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นตามมาด้วย
ดังนั้น ETDA ในฐานะหน่วยงานในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับการดำเนินงานด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital transformation) โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เกิดการทำงานและการทำธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือ ที่จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงจับมือกับพาร์ทเนอร์ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกว่า 10 หน่วยงาน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) The Finlab powered by UOB Amazon Web Services (Thailand) และ เทคซอส มีเดีย จัดกิจกรรม “Hack for GROWTH” ภายใต้แนวคิด Make a Chance to Grow Together เพื่อเปิดพื้นที่ให้ Startup, Service Provider, ผู้พัฒนานวัตกรรมหน้าใหม่หรือคนที่มีของ มีนวัตกรรม โซลูชัน ระบบ แพลตฟอร์มใหม่ๆ หรือที่ถูกพัฒนามาจากของที่มีอยู่เดิม ได้มาร่วมแข่งขัน ประชันไอเดีย นำเสนอนวัตกรรม โซลูชัน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ให้พร้อมสู่การเติบโตกว่าที่เคยเป็น และเพื่อพร้อมเปิดพื้นที่ของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ที่เอื้อต่อ Digital Transformation ที่เหมาะสมแก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศในอนาคตด้วย
การแข่งขันในครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากทีมผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจะต้องประชันไอเดีย จะต้องเป็นเจ้าของนวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแพลตฟอร์ม ที่ถูกพัฒนาถึงใหม่ หรือ ต่อยอดจากของเดิมที่มีแล้ว ก็จะต้องสอดคล้องกับโจทย์การแข่งขัน และถูกพัฒนาขึ้นจากปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ดังนี้
นวัตกรรม โซลูชัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างยอดขาย จากทรัพยากรที่มีอยู่
ปัญหาที่พบ: ธุรกิจมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทําให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ยากและยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากการขาดความชำนาญในการเลือกใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสม ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนการทำการตลาด การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management) เป็นต้น
นวัตกรรม โซลูชัน เพื่อช่วยสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถและตรงกับภาพลักษณ์ของธุรกิจ
ปัญหาที่พบ: ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เกิดการลาออก ย้ายงานอยู่บ่อยครั้ง ขาดระบบ หรือ เครื่องมือ ในการสรรหาบุคลากรที่สอดคล้อง และมีศักยภาพตรงกับที่องค์กรต้องการ
นวัตกรรม โซลูชัน เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการวิธีการทำงานของทีมภายในองค์กร
ปัญหาที่พบ: บุคลากรที่มีคุณภาพย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางเพื่อการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าในการเข้ามาใช้บริการที่อาจจะมองในมุมของ Customer Retention ควบคู่กันไปด้วยได้
ถ้าคุณคิดว่ามีของและทีมที่พร้อมลุย ! มาร่วมกันทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตมากกว่าเคยไปด้วยกัน สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ : https://www.etda.or.th/th/hackforgowth ตั้งแต่วันนี้- 12 มิถุนายน 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]
หรือโทร 02-286-7646 , 06-4658-9500
ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ที่ เพจ ETDA Thailand: https://www.facebook.com/ETDA.Thailand
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด