Facebook ประกาศรายชื่อชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Community Accelerator ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมระยะเวลา 6 เดือนเพื่อช่วยเหลือผู้นำชุมชนให้สามารถสร้างการเติบโตชุมชนของพวกเขาผ่านการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และการมอบเงินทุน
หลังจากที่ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มีชุมชนทั้งสิ้น 13 ชุมชนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งรวมถึงกลุ่ม Young Pride Club, ยังแฮปปี้ YoungHappy, Local Alike, Ooca และ เด็กพิการเรียนไหนดี จากประเทศไทย คุณเกรซ แคลปแฮม หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook กล่าวว่า
“มีชุมชนหลายร้อยแห่งจาก 4 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และประเทศไทยที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ หลังจากขั้นตอนการพิจารณาที่เข้มข้น เราจึงได้ตัดสินใจคัดเลือกชุมชนที่ได้เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกระยะยาว แต่อาจยังขาดแรงสนับสนุนสำคัญในการผลักดันเจตนารมณ์และขยายชุมชนให้เติบโตยิ่งขึ้น เราตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้นำชุมชนที่หลากหลายและตั้งตารอการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชุมชนเหล่านี้ในอนาคต”
ชุมชนจากประเทศไทยทั้ง 5 กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของความหลากหลายและมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือและสร้างพลังให้กับกลุ่มชุมชนที่อาจไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนขนาดเล็กต่างๆ
คุณชิษณุพงศ์ นิธิวนา ได้ก่อตั้งกลุ่ม Young Pride Club ขึ้นในปี พ.ศ. 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนที่สนใจด้านความเท่าเทียมทางเพศและกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สมาชิกได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมซึ่งส่งเสริมความเป็นผู้นำ การมี ส่วนร่วมและประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้มีผู้ติดตามราว 20,000 ราย และได้พัฒนาผู้นำ LGBT+ รุ่นเยาว์แล้วกว่า 50 คนจาก 4 ภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 50 แห่งและได้จัดกิจกรรม Chiang Mai Pride ที่มีผู้เข้าร่วมกว่าพันคน
จำนวนผู้สูงอายุในไทยคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุเหล่านี้ถือเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงกระฉับกระเฉง แต่บ่อยครั้งกลับไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม ส่งผลให้เกิดความเบื่อหน่าย ซึมเศร้า รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ ธนากร พรหมยศ ได้ก่อตั้งกลุ่ม ยังแฮปปี้ YoungHappy ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ พัฒนาการมีปฏิสัมพันธ์และสนับสนุนสุขภาพที่ดี ชุมชนแห่งนี้มีสมาชิกกว่า 60,000 ราย และผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากกว่า 5,000 คน โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้มีค่าดัชนีวุฒิวัยของผู้สูงอายุ (Active Aging Index หรือ AAI) สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากองค์การอนามัยโลกถึงร้อยละ 15
ชุมชน Local Alike ก่อตั้งโดยสมศักดิ์ บุญคำ ในปี พ.ศ. 2554 เพื่อพัฒนา ยกระดับศักยภาพ และเชื่อมชุมชนการท่องเที่ยวของไทยไปทั่วโลก ปัจจุบัน หมู่บ้านกว่า 300 แห่งในประเทศไทยสามารถดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น ได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืนด้วยตนเอง ชุมชนแห่งนี้ยังได้ทำงานร่วมกับหมู่บ้านอีก 150 แห่ง และสร้างรายได้จากท่องเที่ยวมูลค่าราวกว่า 62 ล้านบาท (2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ริเริ่มแพลทฟอร์ม Ooca ในปี พ.ศ. 2559 เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและเป็นสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและผู้ที่ต้องการรับคำแนะนำ โดยไม่เปิดเผยตัวตนผ่านทางวิดีโอคอล นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัว Ooca ได้กลายเป็นผู้นำแพลทฟอร์มสำหรับให้คำปรึกษา โดยมีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนราว 72,000 คน และมีผู้ที่เข้ารับคำแนะนำออนไลน์กว่า 6,000 คน
คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เล็งเห็นประเด็นการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายในประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะว่างงาน จึงได้จัดตั้งโครงการ เด็กพิการเรียนไหนดี เพื่อช่วยพัฒนาโอกาสด้านการศึกษาและเปิดทางสู่
การเสริมสร้างศักยภาพที่จำเป็นในการใช้ชีวิตให้กับเด็กๆ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ มีเด็กพิการกว่า 600 ชีวิตได้ค้นพบแนวทางการศึกษาผ่านทางเพจและกลุ่มบน Facebook ตลอดถึงกิจกรรมแนะแนวประจำปีต่างๆ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด