สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรปลุกกระแสตื่นตัวเรื่อง FinTech เฟ้นหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์หรือขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงในตลาดเงิน ตลาดทุน และประกันภัยของไทย มาปรับใช้กับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มีทางเลือกมากขึ้น ต้นทุนต่ำลง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน คัดเฟ้น 10 ทีมเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “FAST FORWARD FOR THE FUTURE” ในวันพุธที่ 27 กันยายน ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ชั้น 7
คุณทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเกือบทุกฟังก์ชั่นของการทำงานและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่า FinTech จะเข้ามามีบทบาทและอาจจะเข้ามาแทนที่ธุรกรรมภาคการเงินแบบทั่วๆไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการประกวด “FinTech Challenge ครั้งที่ 2” คณะกรรมการได้คัดเลือกโดยพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์/นวัตกรรม ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานได้จริง รูปแบบธุรกิจ แต่ละทีมมีแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจ มีการนำ FinTech มาปรับใช้กับรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มีทางเลือกมากขึ้น ต้นทุนต่ำลง ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานหรือการปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎเกณฑ์ต่างๆ บางแนวคิดก็ท้าทายหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องให้ต้องกลับมาคิดว่า จะช่วยขจัดอุปสรรคและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้จริงในไทยได้อย่างไร”
ผลงานของ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ประกอบด้วย
กลุ่มที่ให้บริการช่วยผู้บริโภคตัดสินใจหรืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุน ได้แก่
- Cryptovation.co – โรโบแอดไวเซอร์สำหรับการลงทุนใน Cryptocurrencies เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเงินได้ง่ายขึ้นในทุกๆ ส่วน ทั้งในด้านผลตอบแทนจากการลงทุน เรียนรู้พื้นฐานทางการเงิน ผ่านนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ในระบบ Blockchain Asset โดยการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คือ การทำอาร์บิทราจ ผสมผสานกับการเขียนโปรแกรมมาช่วยในการวิเคราะห์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด
- StockRadars Gift - บัตรของขวัญเพื่อการลงทุนในหุ้น สำหรับมอบให้กับคนที่คุณรักเพื่อส่งต่อของขวัญที่มีมูลค่าและเติบโตได้ อันนำไปสู่หนทางแห่งความมั่งคั่งในอนาคตและยังช่วยให้คนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเริ่มลงทุนด้วยเงินที่น้อยลงกว่าเดิม ผ่านแพลตฟอร์มได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- Wealth Me – เครื่องมือช่วยตัวแทนประกันชีวิตวางแผนทางการเงินให้ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยแอปพลิเคชันที่จะช่วยลดระยะเวลา และลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time คำนวณถูกต้องและแม่นยำตามทฤษฎีทางการเงิน
- Moto Punk - แพลตฟอร์มช่วยลูกค้าเลือกดีลเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ โดยเป็นตัวกลางระหว่างลูกค้า ร้านดีลเลอร์รถมอเตอร์ไซค์ และบริษัทไฟแนนซ์ ซึ่ง U Lease ทำหน้าที่ตรวจสอบเครดิตของลูกค้าและนำเสนอแคมเปญของบริษัทไฟแนนซ์ให้กับลูกค้า รวมถึงแนะนำร้านดีลเลอร์ที่มีข้อเสนอที่ดีที่สุด
กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภครักษาสิทธิ ได้แก่
- Flight DApp Bot - ระบบเคลมประกันอัตโนมัติด้วยบล็อกเชน smart contract ด้วย user interface ในรูปแบบ AI Chatbot โดยกลุ่มลูกค้าที่ทำประกัน
- UTU – แพลตฟอร์มระบบสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดน ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือชื่อ ยูทู (UTU) สามารถสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดนจากการช้อปปิ้งจาก 1,000 ร้านค้าพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศของ UTU โดยไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของแต่ละร้านค้า และพกบัตรสมาชิก
กลุ่มบริการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของผู้เอาประกัน ได้แก่
- noon - ระบบบันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถเพื่อเบี้ยประกันที่เป็นธรรม โดยนำเอาคอนเซปต์ Pay How You Drive มาปรับใช้กับการคิดส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับตัวเอง
- Insbee – ประกันรถยนต์ที่จูงใจพฤติกรรมที่ดีผ่านเพียร์คอมมิวนิตี้ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกค้าผู้ทำประกันที่ขับรถปลอดภัย Insbee ทำงานร่วมกับบริษัทประกันเพื่อออกผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ชั้น 1 แบบใหม่ที่จะมีเงินคืนในกรณีที่ลูกค้าไม่เคลมประกันเลยในปีนั้น
กลุ่มบริการที่ช่วยส่งเสริมสังคม cashless ได้แก่
- VenDingCoin - E-wallet สำหรับตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลฯ
กลุ่มระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน ได้แก่
- Siam RegTech โดยการนำเสนอระบบ Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับใช้ในการตรวจจับความผิดปกติด้านการเงินที่มีแนวโน้มทุจริตในรูปแบบต่างๆ
รายละเอียดโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2
ทุกทีมจะต้องนำเสนอผลงานบนเวทีต่อหน้าคณะกรรมการ พร้อมมีการจัดแสดงนิทรรศการด้าน FinTech ต่อผู้สนใจทั่วไป ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ชั้น 7 ในวันที่ 27 กันยายน 2560 นี้ เพื่อชิงรางวัลทุนสนับสนุน 3 ทุน ได้แก่
- ทุนนวัตกรรมประเภท Rising Star FinTech จำนวน 100,000 บาท สำหรับทีมที่สามารถเสนอ business model ที่น่าสนใจ สามารถทำได้จริง
- ทุนนวัตกรรมประเภท Innovative FinTech จำนวน 100,000 บาท สำหรับทีมที่สามารถเสนอ นวัตกรรม หรือความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ
- ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท สำหรับทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด
ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/FinTech-Challenge-Fast-Forward-for-the-Future
ทั้งนี้ หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนโครงการประกวด FinTech Challenge ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
- เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
- สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ศูนย์ C Asean
- สมาคมฟินเทคประเทศไทย และ
- สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่