วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกมาถึงประเทศไทยแล้ว | Techsauce

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกมาถึงประเทศไทยแล้ว

กรุงเทพฯ (24 กุมภาพันธ์ 2564) – วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าขนส่งถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ววันนี้ ซึ่งเป็นการส่งมอบเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้เพื่อเป็นอีกความหวังของประเทศไทยในการฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัคซีนชุดแรกของแอสตร้าเซนเนก้าที่ขนส่งมายังประเทศไทยมีจำนวน 117,600 โดส นับเป็นก้าวสำคัญสู่การเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะทำการส่งมอบเพื่อเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนในประเทศไทย

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการยืนยันว่ามีความปลอดภัยและสามารถป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเว้นระยะเวลาในการให้วัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ ผลการทดลองทางคลินิกยังระบุว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 100% ตั้งแต่ 22 วันหลังจากฉีดวัคซีนโดสแรก

ทั้งนี้ผลการวิจัยล่าสุดยังพบว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเมื่อยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันนาน 12 สัปดาห์ โดยประสิทธิผลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 76% (ดัชนีค่าประสิทธิผลอยู่ระหว่าง 59% ถึง 86%) ขึ้นไปที่ระดับ 82% (ดัชนีค่าประสิทธิผลอยู่ระหว่าง63% ถึง 92%) วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถเก็บและจัดส่งที่อุณหภูมิเครื่องแช่เย็นทั่วไปที่มีใช้อยู่แล้วในระบบสาธารณสุข (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส) ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน

วัคซีนที่ส่งมอบดังกล่าวมาจากสายการผลิตในระดับโลกของแอสตร้าเซนเนก้าตามพันธกิจในการสนับสนุนให้ประชาชนจำนวนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา แอสตร้าเซนเนก้าร่วมทำงานกับพันธมิตรมากกว่า 20 รายจัดตั้งสายการผลิตมากกว่า 12 แห่งครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ เพื่อเร่งดำเนินการผลิตและส่งมอบวัคซีน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าว่า “วัคซีนที่มาถึงในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 เราจะเริ่มต้นแผนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเริ่มต้นจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เสี่ยงสูงสุดเป็นอับดับแรก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วันนี้เราได้ก้าวไปอีกขั้นของการเอาชนะโรคระบาดครั้งนี้ และผมตั้งตารอนาทีประวัติศาสตร์ของการฉีดวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทย พร้อมกับการเดินทางเพื่อข้ามผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกัน”

เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตราเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการส่งมอบวัคซีนในประเทศไทยว่า “การขนส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าชุดแรกมายังประเทศไทยนั้น นับเป็นความสำเร็จของทีมงานที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การจัดส่งวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถส่งมอบได้เร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้จากแผนเดิม ในวันนี้เราได้บรรลุอีกหนึ่งเป้าหมายเพื่อตอกย้ำพันธกิจของแอสตร้าเซนเนก้าในการผลิตและจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อร่วมคลี่คลายการแพร่ระบาด”

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ เดิมเรียก AZD1222 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

ข้อมูลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนมาจากการทดลองระยะที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรและบราซิล ซึ่งได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัคร 11,636 รายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้มีอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 131 ราย

ผลการวิเคราะห์ความปลอดภัยโดยรวมของวัคซีนมาจากข้อมูลการทดลองทางคลินิก 4 ครั้งที่ดำเนินการในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ จากอาสาสมัคร 23,745 รายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีความปลอดภัยและไม่มีรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยร้ายแรงที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีน โดยกลุ่มอาสาสมัครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภูมิลำเนา มีทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งควบคุมอาการได้ 

นอกเหนือจากการวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว แอสตร้าเซนเนก้ายังได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าดึงอาสาสมัครจากทั่วโลกให้เข้าร่วมการวิจัยมากกว่า 60,000 ราย

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับอนุมัติให้ใช้อย่างมีเงื่อนไหขหรือเป็นกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกที่จะช่วยเร่งให้ 145 ประเทศทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโคแวกซ์


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...