Google จัดกิจกรรมด้านการศึกษา “The Anywhere School 2020” ในรูปแบบออนไลน์พร้อมกันทั่วโลกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพและอัปเดตอนาคตด้านการศึกษาจากผู้นำทางความคิดระดับโลก โดยแต่ละประเทศได้มาร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งงานนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาสามารถเข้ามาร่วมรับฟังได้แบบเรียลไทม์ฟรีเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ในวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีการสรุปความคิดเห็น ความร่วมมือ และการส่งเสริมด้านการศึกษาจากผู้นำด้านความคิดจากประเทศไทยในประเด็นสำคัญดังนี้
แจ็คกี้ หวาง Country Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ดิฉันในฐานะตัวแทน Google ประเทศไทย รู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาในครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำในความมุ่งมั่นของ Google ที่มีต่อคนไทยและประเทศไทยในด้านการศึกษา ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจหลักของ Google ภายใต้คอนเซปต์ “Leave No Thai Behind” เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นับเป็นอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดที่ส่งผลต่อระบบการศึกษาทั่วโลกจากที่เคยประสบมา
ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่การระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงสุด องค์การยูเนสโกได้ประมาณการว่า 90% ของนักเรียนทั่วโลกต้องการเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ทางไกลเป็นหลัก ในขณะเดียวกันทั้งครูและอาจารย์ก็ต้องเผชิญความท้าทายในการสอนทางไกล ในส่วนของผู้ปกครองและเด็กก็ต้องปรับตัวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ในช่วงเวลาเพียงชั่วข้ามคืน และต้องหันมาใช้การเรียนการสอนทางไกลรวมทั้งต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนครั้งนี้
Google มุ่งมั่นที่จะทำทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ผ่านโครงการ Google for Education ซึ่ง Google ได้นำเสนอเครื่องมือต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น G Suite for Education และ Google Classroom ซึ่งในช่วงที่โรงเรียนหลายๆ แห่งทยอยปิดการเรียนการสอน เราได้พยายามช่วยให้ผู้คนได้เข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบัน มีครูและนักเรียนที่ใช้ G Suite for Education จำนวนมากกว่า 140 ล้านคนทั่วโลก และมีครูและนักเรียนใช้งาน Google Classroom มากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากเดิมที่มีผู้ใช้งานเพียง 50 ล้านคนจากช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับโรงเรียนในประเทศไทยเราจะเห็นว่ามีการหันมาใช้ G Suite for Education มากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพเท่านั้นแต่รวมถึงโรงเรียนในต่างจังหวัดด้วย”
คุณอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กพฐ. ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนในระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นโรงเรียนของรัฐบาล เราให้ความสำคัญในการเรียน การสอน รวมถึงข้อมูลและเครื่องมืออื่นๆ ที่เป็นสื่อการเรียนการสอนของครูที่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์
Google เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และเราได้ช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาครูผ่านระบบ Google Classroom และ Google ยังได้จัดทำคลิปวิดีโอจำนวน 18 คลิป เพื่อส่งต่อให้คุณครูในพื้นที่เพื่อนำไปใช้เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีครูและนักเรียนสนใจชมคลิปดังกล่าวมากกว่า 2 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ในวันนี้ การเรียนของเด็กจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นจากวันจันทร์ - วันศุกร์ นอกจากนั้นจะเห็นเด็กใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เราจึงได้ร่วมมือกับ Google จัดทำโครงการ “Be Internet Awesome” เป็นสื่อที่ให้ความรู้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างมั่นใจ และจะช่วยป้องกันภัยออนไลน์ที่อาจจะแฝงมาจากสื่อและสิ่งอันไม่พึงปรารถนา และในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดภาคเรียนได้เราได้ทดลองเตรียมความพร้อมโดยการนำเครื่องมือจาก Google เข้ามาช่วยในการสื่อสารการเรียนการสอนในระบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งทาง กพฐ. ได้สื่อสารและกำชับถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและทุกโรงเรียนว่าต้องเรียนรู้เครื่องมือเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลสื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง”
คุณชาตรี ประดุจชนม์ ผู้อำนวยการจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า “โรงเรียนของเรามีภารกิจจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-มัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเป้าหมายและอุดมการณ์ที่ตั้งไว้สูง รวมถึงต้องดูแลในลักษณะขอโรงเรียนประจำ ที่มีการดูแลเด็กนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ในการเรียนการสอนจึงมีความจำเป็นต้องแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาช่วยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เมื่อต้นปีที่แล้วทางโรงเรียนได้ร่วมมือกับ Google ประเทศไทย โดยการนำ G Suite for Education เข้ามาใช้เรื่องการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ รวมทั้งนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อช่วยพัฒนาครูและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยครูของเราได้รับการเพิ่มพูนทักษะในการสร้างบทเรียนออนไลน์และนำไปสอนผ่าน Google Classroom
ส่วนในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ที่มีประกาศปิดโรงเรียนนั้น เราได้ร่วมมือกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 โรงเรียน โดยตกลงกันว่าจะสร้างบทเรียนออนไลน์และสอนผ่าน G Suite for Education โดยทำบทเรียนทุกรายวิชาและใช้สอนทุกระดับชั้น อีกทั้งได้ประชุมผู้ปกครองเพื่อชี้แจงการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองทุกคนด้วยดี ผมประทับใจกับเครื่องมือของ Google โดยเฉพาะ Google Calendar ที่ใช้ในการนัดหมายประชุมกับครูผู้สอนและบุคลากรของโรงเรียน และสามารถแนบไฟล์เอกสารต่างๆ ทำให้ลดการใช้กระดาษในการประชุมแต่ละครั้งได้เป็นจำนวนมหาศาล และยังมี Google Meet ที่เราใช้ในการบรรยายสดที่เหล่าคุณครูเองก็ไม่ได้จินตนาการมาก่อนว่าการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีนี้จะเป็นธรรมชาติได้ขนาดนี้ และวันนี้ ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนได้มีการเปิดเรียนที่โรงเรียนตามปกติแล้ว เราก็ไม่ได้หยุดการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ยังใช้คู่ขนานไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพร้อมในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีก”
คุณพิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กล่าวว่า “โรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 3,200 คน และเมื่อต้องจัดการเรียนการสอนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง จึงมีข้อตกลงกับผู้ปกครองว่าต้องกำหนดรูปแบบการเรียนเป็น 3 รูปแบบ เรียนที่บ้าน 100% เรียนที่โรงเรียน 100% โดยโรงเรียนจะเป็นผู้จัดรูปแบบการเรียนให้ โดยช่วงก่อนเปิดเทอมจึงมีการอบรมคุณครูและมีการประชุม โดยเราตัดสินใจใช้ Google Classroom ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทำให้การอบรมและการจัดประชุมแต่ละครั้งออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ”
คุณประจักษ์ น้อยเหนื่อย ครูประจำภาควิชาภาษาไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กล่าวเสริมว่า “การเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นระบบออนไลน์นั้นต้องพูดจริงๆ ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนระบบอย่างกะทันหันนั้นส่งผลหลายอย่าง และก็ขึ้นอยู่กับครูแต่ละท่านจะเปิดใจรับมากแค่ไหน รวมทั้งยังต้องดูว่ามีสื่อหรือเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เป็นเครื่องมือสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะที่ผมเป็นครูที่ใช้งานจริงนั้น ผมมองว่าใช้ G Suite for Education มีประโยชน์มากทั้งการเรียนการสอนออนไลน์และสอนในห้องเรียน หรือสามารถใช้ในเวลาเดียวกัน”
พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ประธานมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน กล่าวว่า “ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล มีการใช้ระบบออนไลน์ทั้งด้านการบริหาร การเรียนรู้ และการศึกษา ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการเรียนการสอนที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ซึ่งระบบเรียนออนไลน์ช่วยเร่งให้เกิดความเร็วในการเรียนการสอน ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีอายุเท่ากันทั้งหมด รวมทั้งมีช่อง Youtube ที่ทำคลิปสอนหนังสือ หรือโรงเรียนที่เปิดสอนออนไลน์ ครูสามารถส่งลิงก์ข้อมูลให้นักเรียนได้ศึกษาก่อนเข้าเรียนจริงได้อย่างสะดวกสบาย
ในปัจจุบัน เรายังต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น Google จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯ และกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการ “Be Internet Awesome” เพื่อให้เด็กอายุ 9-12 ปี และผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่มาจากอินเทอร์เน็ตที่มีทั้งดีและไม่ดี อันไหนคือข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จที่ต้องระมัดระวังตลอดเวลา โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของเราที่ต้องการเก็บเป็นความลับ เด็กๆ อาจจะไม่ทราบว่าสิ่งที่เห็นหรือเข้าใจในความถูกต้องหรือไม่ก็สามารถสอบถามผู้ใหญ่ได้
ทางมูลนิธิครูดีของแผ่นดินพยายามสร้างครูและนักเรียนที่ดี วันนี้ ถ้าถามว่าต้องการให้เด็กดีหรือเก่ง จริงๆ ต้องดีและเก่งไปพร้อมๆ กัน โดยพยายามนำระบบออนไลน์เข้ามาช่วยในการอบรม ให้ข้อมูลครู ประเมินครู เพื่อให้ครูช่วยนำข้อมูลตรงนี้ไปเผยแพร่แก่เด็กต่อไป ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ให้การสนับสนุน รวมทั้ง Google เองก็มีเครื่องมือมากมายและผมมั่นใจว่าเครื่องมือต่างๆ จาก Google นั้น จะช่วยให้เด็กและครูได้เรียนรู้ได้ให้เท่าทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ผมรู้สึกยินดีมากที่ Google ได้ตระหนักและให้ความสำคัญว่า “เก่ง” อย่างเดียวไม่ได้ต้อง “ดี” ด้วย เพื่อสร้างสรรค์และแบ่งปันให้กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่ไม่รู้จัก สามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต”
และทั้งหมดนี้เป็นมุมมองจากผู้นำด้านความคิดจากประเทศไทยในงาน “The Anywhere School 2020” ในครั้งนี้ ซึ่ง Google หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในประเด็นต่างๆ นี้ต่อไป รวมทั้งจะเป็นประโยชน์และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกท่าน และ Google หวังว่าจะมีโอกาสได้ร่วมมือในรูปแบบนี้อีกเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด