Grab ปรับลดค่าคอมมิชชันสำหรับ Partner ร้านอาหารจาก 35% เหลือ 30% ช่วง COVID-19 | Techsauce

Grab ปรับลดค่าคอมมิชชันสำหรับ Partner ร้านอาหารจาก 35% เหลือ 30% ช่วง COVID-19

Grab  ร่วมส่งต่อกำลังใจและเดินหน้าสู้ไปพร้อมกับคนไทยเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 ผ่านโครงการ “แกร็บแคร์” (GrabCares) #เราจะผ่านมันไปด้วยกัน เพื่อประกาศมาตรการในการรับมือ รวมถึงแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือกับ 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ พาร์ทเนอร์ร้านอาหาร หน่วยงานราชการและบุคลากรทางการแพทย์ พาร์ทเนอร์คนขับ-จัดส่งอาหาร รวมถึงผู้ใช้บริการ อาทิ 

การปรับลดค่าคอมมิชชันสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารสูงสุดจาก 35% เป็น 30% รวมถึงเร่งขั้นตอนการเปิดร้านบน Grab ฟู้ดให้ได้ภายใน 7-10 วัน พร้อมเปิดรับพาร์ทเนอร์จัดส่งอาหาร-พัสดุกว่า 64,000 อัตรา และเปิดให้พาร์ทเนอร์คนขับให้บริการจัดส่งอาหารด้วยรถยนต์ได้ นอกจากนี้ ยังตอกย้ำมาตรการรักษาความสะอาดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสนับสนุนหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้คนไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปพร้อมกัน

คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกคน แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Grab ได้เฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเราได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน โดยทีมงานของเราทำงานกันอย่างหนักต่อเนื่อง พร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขอนามัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรธุรกิจของ Grab ล่าสุด Grab ประเทศไทย ได้เปิดตัวโครงการ แกร็บแคร์ (GrabCares) #เราจะผ่านมันไปด้วยกัน โดยประกาศมาตรการในการรับมือ รวมถึงแนวทางสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกับ 4 กลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งเราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น  พร้อมร่วมให้กำลังใจคนไทยให้สามารถต่อสู้และฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน” 

กลุ่มที่ 1: พาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย

1.1) ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการสร้างรายได้ผ่านการขายอาหารกับ Grab Food

•    ปรับลดเพดานค่าคอมมิชชันสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร (ไม่รวม GrabKitchen) สูงสุดจาก 35% เป็น 30% ครอบคลุมทั้งร้านค้าเดิมและร้านค้าใหม่ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป

•    ปรับปรุงระบบและกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับสมัครพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร โดยใช้การรับสมัครผ่านทางเว็บไซต์ https://www.grabmerchantth.com พร้อมเพิ่มจำนวนทีมงานมากขึ้นกว่าเท่าตัวเพื่อรองรับการรับสมัครและการเปิดร้านค้าให้เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม Grab Food ให้เร็วที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยสมัครเข้ามาเฉลี่ยราว 2,000 ร้านค้าต่อวัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าภาวะปกติถึง 3 เท่า ทั้งนี้ แกร็บตั้งเป้าเร่งขั้นตอนรับสมัครและเปิดร้านค้าให้ได้ภายใน 7-10 วัน (จากเดิม 14 - 21วัน) 

1.2) เร่งขยายการให้บริการจัดส่งอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในต่างจังหวัด 

•    โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - มีนาคม) Grab Food ได้เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นใน 8 จังหวัด อันได้แก่ ชลบุรี ระยอง นครปฐม สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ลำปาง อุตรดิตถ์ และมหาสารคาม พร้อมตั้งเป้าเปิดบริการเพิ่มอีก 9 จังหวัดในสามเดือนข้างหน้า อาทิ ราชบุรี เพชรบุรี สุรินทร์ หนองคาย เป็นต้น 

1.3) จัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร SME

•    ทำแคมเปญ “Support Local Restaurants” เพื่อช่วยโปรโมตพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กหรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและสร้างการเติบโตในด้านยอดขายได้ถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตปกติ

กลุ่มที่ 2: หน่วยงานราชการและบุคลากรทางการแพทย์

2.1) ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตั้งรับ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

•    ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลการเดินทางของผู้ป่วยต้องสงสัย เนื่องจาก Grab มีระบบเช็กประวัติการเดินทางของทั้งพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหาร รวมถึงผู้ใช้บริการในทุกเที่ยวการเดินทาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 

2.2) สนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานด้านสาธารณสุข พร้อมส่งมอบกำลังใจไปสู่บุคลากรทางการแพทย์

•    มอบส่วนลดค่าส่งเมื่อสั่งอาหารผ่าน Grab Food ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง อันได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร สถาบันราชประชาสมาสัย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมจนถึง 30 มิถุนายน

•    สนับสนุนโรงพยาบาลของรัฐในการจัดส่งยาผ่านบริการ Grab เอ็กซ์เพรส (GrabExpress) ให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงจากการเดินทางให้กับผู้ป่วย อาทิ โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (อยู่ระหว่างดำเนินการ) 

•    ส่งเสริมการบริจาคผ่านการใช้แต้มของแกร็บรีวอร์ดส์ เพื่อสมทบทุนในโครงการป้องกันและช่วยเหลือสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ มูลนิธิรามาธิบดี 

กลุ่มที่ 3: พาร์ทเนอร์คนขับและจัดส่งอาหาร-พัสดุ

3.1) ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้เสริมให้กับคนไทย

•    เปิดรับสมัครพาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างรายได้เสริมให้กับคนไทยในภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ - มีนาคม)  Grab ได้รับพาร์ทเนอร์เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 29,000 คน และเตรียมเปิดรับเพิ่มอีกกว่า 35,000 อัตราในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับคนไทยที่ไม่ต้องการเดินทางออกจากบ้านตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้

•    เปิดให้พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บคาร์และแกร็บแท็กซี่สามารถรับงานจัดส่งอาหารผ่านรถยนต์แทนบริการการเดินทางได้ เพื่อเป็นการปลดล็อคการสร้างรายได้ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับกลุ่มนี้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงผู้โดยสารภายในประเทศ โดย Grab ได้เริ่มนำร่องบริการจัดส่งอาหารผ่านรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ นครปฐมและชลบุรี โดยมีพาร์ทเนอร์คนขับเข้าร่วมแล้วมากกว่า 10,000 คน

•    จัดทำโปรแกรมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยนำเสนอทางเลือกในหลายรูปแบบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ อาทิ การพักชำระหนี้ การปรับลดค่างวดเป็นแบบขั้นต่ำ การขยายระยะเวลาสินเชื่อ และการชำระคืนเฉพาะดอกเบี้ย เป็นต้น

3.2) ปกป้องดูแลสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของพาร์ทเนอร์

•    แจกหน้ากากอนามัยกว่า 50,000 ชิ้น สเปรย์ฆ่าเชื้อในอากาศ และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือกว่า 3,000 ชิ้นให้กับพาร์ทเนอร์นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งยังได้มอบส่วนลด 50% ในการเข้ารับบริการพ่นอบฆ่าเชื้อภายในรถยนต์ นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดหาหน้ากากผ้าเพิ่มเติมให้กับพาร์ทเนอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลนอยู่ในขณะนี้

•    ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่กว่า 3,000 รายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพโดยบุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ Grab ยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อมูลค่า 500 บาทสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับที่มีความเสี่ยง พร้อมมอบเงินช่วยเหลือในกรณีพิเศษอีก 2,000 บาทหากตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19

•    ร่วมกับเมืองไทยประกันชีวิตทำประกันชีวิตและสุขภาพกลุ่มเพื่อคุ้มครองรายได้ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและพาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุ โดยมอบเงินชดเชย 500 บาทต่อวัน สูงสุด 15 วันเมื่อเข้าพักรักษาตัวหากป่วยเป็นโรคโควิด-19

กลุ่มที่ 4: ผู้ใช้บริการ 

4.1) เพิ่มมาตรการในด้านความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ

•    ทำแคมเปญสื่อสารเพื่อให้ความรู้และกระตุ้นความใส่ใจในการดูแลสุขภาพและการรักษาความสะอาดระหว่างการให้บริการของพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหารอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร รวมถึง GrabKitchen ซึ่งเป็นครัวกลางของ Grab ทั้ง 2 สาขา เพื่อให้รักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในการปรุงอาหาร นอกจากนี้ ยังได้ให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิของพาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหารก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่ของร้านอาหารทั่วกรุงเทพฯ 

•    ประกาศใช้มาตรการส่งอาหาร-พัสดุแบบไร้การสัมผัส (Contactless Delivery) โดยให้พาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหารต้องเว้นระยะห่างกับลูกค้าอย่างน้อย 2 เมตรตลอดเวลา พร้อมส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหารปฏิบัติตามแนวทาง 8 ข้อในการจัดส่งอาหารอย่างปลอดภัย ตามประกาศของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังออกมาตรการให้พาร์ทเนอร์ยืนห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตรระหว่างรออาหารที่หน้าร้าน

•    ส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) แทนการใช้เงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด นอกจากนี้ Grab ยังได้ร่วมมือกับธนาคารต่าง ๆ ในการทำโปรโมชันเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้ชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยอดสั่งอาหารผ่าน Grab Food โดยไม่ใช้เงินสด (Cashless Payment) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว 

4.2) เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้บริการในการสั่งซื้อสินค้าที่จำเป็นผ่าน Grab 

•    เปิดบริการแกร็บมาร์ท (GrabMart) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น (จากเดิมที่มีฟีเจอร์ Groceries ซึ่งเป็นบริการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าจากท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และแฮปปี้เฟรช) โดย Grab ได้จับมือกับเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถสั่งซื้ออาหาร รวมถึงสินค้าที่จำเป็นจากแฟมิลี่มาร์ท โดยเริ่มให้บริการในเฟสแรกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ครอบคลุมกว่า 230 สาขาทั่วประเทศ และเตรียมขยายบริการไปสู่ ท็อปส์ เดลี่ ในเร็วๆ นี้

“แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและยากลำบากสำหรับทุกคน แต่วิกฤติครั้งนี้กลับทำให้เราได้เห็นพลังบวกที่ซ่อนอยู่ในหัวใจคนไทย ขอขอบคุณฮีโร่คนสำคัญทุกคน ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงอุทิศแรงกายแรงใจในการป้องกันโรคและรักษาผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ พาร์ทเนอร์ร้านอาหารทุกรายที่ทุ่มเทและตั้งใจปรุงอาหารที่สะอาดและถูกสุขลักษณะเพื่อให้ทุกคนได้อิ่มท้อง และที่ขาดไม่ได้คือฮีโร่แถวหน้าอย่างพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บทุกคนที่ไม่เคยหยุดหัวใจการให้บริการ โดยยังคงเดินหน้ารับส่งผู้โดยสารและจัดส่งอาหารให้กับคนไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย Grab ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในเวลาเช่นนี้  และจะร่วมอยู่เคียงข้างคนไทยเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน” คุณธรินทร์ กล่าว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...

Responsive image

ทีทีบี ยกระดับ "ยินดี-Yindee" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ตอบทุกคำถามฉับไว บน Mobile Banking ด้วย Azure OpenAI ครั้งแรกในไทย

ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Transformation โชว์ความสำเร็จการพัฒนาผู้ช่วยบนมือถือ “ยินดี-Yindee” เวอร์ชันใหม่ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำ Generative AI ผ่าน Microsoft A...

Responsive image

สำรวจ KPMG เผย ซีอีโอพลังงานเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยี แม้เศรษฐกิจผันผวน

การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี (KPMG) แสดงให้เห็นว่าซีอีโอร้อยละ 78 มั่นใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามปีข้างหน้า สะท้อนความเชื่อมั่นในระดับสูง แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเ...