“อินเวสทรี” (Investree) ชูแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง เป็นทางเลือกใหม่เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย - SMEs ที่ประสบปัญหาในช่วงเศรษฐกิจผันผวน วอนรัฐออกเกณฑ์ส่งเสริมต่อเนื่อง สร้างโอกาสการเติบโตทั้ง SMEs และนักลงทุน
คุณณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting : APEC SFOM) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่ให้บริการคราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์ม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนเพื่อส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อสนับสนุนระดมทุนในตลาดทุน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก และเป็นโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย
จากรายงานของ International Finance Corporate (IFC) ภายใต้ธนาคารโลก ปี 2017 พบว่าผู้ประกอบการ MSMEsไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อย ช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคิดเป็นประมาณ 10 % ของจีดีพี ที่มีมูลค่าสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) ดังนั้นการส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลกำลังเติบโตสูงทั่วโลก โดยในเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วน 8% ของตลาดโลก ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
“ตามคำแนะนำของ IFC ภาครัฐควรเข้าช่วยสนับสนุนนวัตกรรมการเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริม การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึง Financial Inclusion รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลเครดิตกลาง ยิ่งขยายฐานมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่ผู้ประกอบการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนยิ่งมีมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความไว้วางใจของผู้ที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุน ที่ภาครัฐเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่น ที่ประเทศมาเลเซีย ภาครัฐเข้าไปร่วมลงทุนกับแพลตฟอร์ม ช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจผู้ให้บริการ ซึ่งช่วยลดอุปสรรค และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น” คุณณัทสุดากล่าว
ข้อเสนอแนะที่ IFC เคยแนะนำให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ภาครัฐควรเข้าไปกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อแฟคตอริ่งให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงฐานข้อมูลเครดิตของผู้ให้บริการมากขึ้น รวมถึงควรพัฒนาให้หลักทรัพย์ค้ำประกันให้มีการเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น ซึ่งแม้ว่า IFC จะให้คำแนะนำดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2017 และภาครัฐได้นำไปปฏิบัติบ้างแล้ว แต่เรายังพัฒนาต่อยอดได้อีก
ยกตัวอย่าง เช่น ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับกฎหมาย National Credit Bureau เพื่ออนุญาตให้คราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์มสามารถเป็นสมาชิกได้ แต่ขณะเดียวกันคราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์นั้น ๆ อาจต้องมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 50 ล้านบาทถึงจะเป็นสมาชิก NCB ได้ ซึ่งเป็นระดับทุนจดทะเบียนที่เป็นอุปสรรคสำหรับ non-bank ที่จะเข้าเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้พัฒนาระบบการเงินไทยมาระดับหนึ่งแล้ว และยังมีช่องว่างที่จะพัฒนาต่อยอดได้อีก
สำหรับมูลค่าธุรกิจคราวด์ฟันดิงในประเทศไทยปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และน้อยมากเมื่อเทียบกับช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME จึงแทบไม่มีความเสี่ยงต่อระบบตลาดเงิน-ตลาดทุนโดยรวม ขณะที่ธุรกิจของอินเวสทรี เติบโตมากกว่า 300% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของ SME
และนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจนี้ ซึ่งเราเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และการเติบโตของธุรกิจนี้ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งความเห็นนี้ก็เป็นความเห็นที่สะท้อนมาจากมุมมองของตัวแทนผู้ประกอบการจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ร่วมในการประชุม APEC SFOM เช่นกัน
“เราหวังว่าผู้ประกอบการใหม่เช่นเราจะมีโอกาสร่วมในการประชุมเชิงนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรา มีโอกาสได้ออกความเห็น และร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาที่ต้องส่งเสริมแพลตฟอร์มบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น”
คุณณัทสุดา กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง ทั้งจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนในสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง แม้จะมีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่จับต้องได้ ถือเป็นการลงทุนในธุรกิจจริง และมีโอกาสที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ
“การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนล่าช้า และมีความเสี่ยงที่จะมีเงินสูญเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์นี้ควรจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์นี้ในวงเงินที่จำกัด และกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยหลากหลายบริษัท เพื่อป้องกันการกระจุกตัว”
สำหรับภาพรวมตลาดการปล่อยสินเชื่อเพื่อ SMEs นั้น ปัจจุบันไทยมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 3 ล้านบริษัท 99% หรือประมาณ 2.9 ล้านเป็น SMEs และมากกว่า 2 ล้านบริษัทนั้นเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถึงแม้ในตลาดจะมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อสูง แต่บริษัทขนาดเล็กยังคงเจอปัญหาเข้าไม่ถึงเงินกู้เหมือนเดิม จากเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกลายเป็นข้อจำกัด เช่น ประวัติชำระหนี้ไม่ดี ไม่ยอมชำระหนี้ มีหนี้สินติดค้าง หรือชำระเงินล่าช้า
การระดมทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจึงเป็นโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs และแน่นอนว่าเราก็เห็นโอกาสเติบโตจากตลาดนี้เช่นกัน รวมไปถึงโอกาสจากนักลงทุนไทยที่ก็เปิดกว้างในการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้ คราวด์ฟันดิง ก็ยังผันผวนน้อยกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ และให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ SMEs และนักลงทุนที่ต้องการคำปรึกษาจากเราสามารถเข้าไปที่ www.investree.co.th
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด