ธุรกิจและนักลงทุนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนดำเนินนโยบาย Common Prosperity | Techsauce

ธุรกิจและนักลงทุนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนดำเนินนโยบาย Common Prosperity

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนและการออกมาตรการภายใต้นโยบาย Common Prosperity จะส่งผลกระทบที่ธุรกิจและนักลงทุนไทยไม่อาจมองข้าม เนื่องจาก 1) คนไทยไปลงทุนในจีนจำนวนมาก 2) จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย 3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนสูง  4) ผลกระทบต่อความมั่นคงของเอเชียจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ 

สิ่งที่จุดประกายนโยบาย Common Prosperity

มาตรการต่างๆ ที่เราได้เห็นทางการจีนบังคับใช้ไม่ได้เป็นเพียงมาตรการเพื่อจัดระเบียบอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว 5 ประการได้แก่ 1) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ครอบครองสัดส่วนตลาดสูงและมีการสะสมข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง 2) หนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้างจนทำให้ราคาบ้านแพงจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ 3) สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึงและจำนวนประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง 4) มลภาวะทางอากาศซึ่งมาจากการเผาถ่านหินเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน 5) อิทธิพลจากค่านิยมตะวันตกที่พยายามเข้ามาในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น 

เมื่อค่านิยมของธุรกิจและรัฐไม่ตรงกัน

นอกจากประเด็นเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ภายใต้แนวคิดของสี จิ้นผิง หากปล่อยให้จีนมีการเปิดเสรีและปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามากำกับดูแล จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานที่จะขยายมากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐภายใต้แนวคิดของสี  จิ้นผิง จะเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลภาคเอกชน ทำให้หลักการพื้นฐานในการลงทุนในจีนแตกต่างจากหลักการลงทุนในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นระบบตลาดทุนนิยมแบบเสรีมากกว่า สำหรับนักลงทุนไทย การนำหลักการในการลงทุนแบบประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมเสรี มาใช้กับประเทศสังคมนิยมแบบจีน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกิดจากค่านิยมที่ขัดกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของจีน

ธุรกิจไหนบ้างที่อาจเจอความเสี่ยงจากภาครัฐ

กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐสูงคือ กลุ่มเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีการผูกขาดและสะสมข้อมูลที่มีความสำคัญ กลุ่ม Fintech ที่อาจกระทบเสถียรภาพทางการเงิน กลุ่มการศึกษาและสุขภาพที่อาจถูกควบคุมราคา หรือกลุ่มเกมส์และงานบันเทิงที่อาจบั่นถอนผลิตภาพของเยาวชนในระยะยาว 

จีนยอมชะลอในระยะสั้นเพื่อความมั่นคงในระยะยาว

นโยบายภาครัฐที่ต้องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในระยะยาวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจดังนี้

  1. เศรษฐกิจระยะสั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลง มาตรการต่างๆ เช่น นโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญอย่างยิ่งและมีขนาดใหญ่ถึง 28.7% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด 

  2. ผลกระทบต่อการเติบโตระยะยาว การที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจของภาคธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้นอาจสร้างความไม่แน่นอนและลดทอนความมั่นใจของธุรกิจเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship spirit) ซึ่งจะเป็นปัจจัยด้านลบต่อโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

  3. จากเติบโตด้วยการลงทุน เป็น เติบโตด้วยการบริโภค รัฐบาลจีนพยายามเปลี่ยนเครื่องยนต์ในการเติบโตไปเป็นภาคการบริโภคมากขึ้นผ่านนโยบาย Dual circulation ที่จะเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น  การปรับสมดุล (rebalancing) ในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้า KKP Research ประเมินว่า หากการลงทุนในจีนชะลอตัวลงในขณะที่การเติบโตของภาคการบริโภคเร่งตัวขึ้นในอัตราที่เท่ากัน ธุรกิจที่การส่งออกมูลค่าเพิ่มพึ่งพาภาคการลงทุนในจีน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล อุปกรณ์การคมนาคม ไฟแนนซ์ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับผลกระทบในด้านลบจากการเปลี่ยนโมเดลการเติบโตของจีน ในขณะที่ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ คือธุรกิจที่การส่งออกมูลค่าเพิ่มพึ่งพาภาคการบริโภค ได้แก่ ภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์เคมีและยา การค้าปลีกและค้าส่ง และผลิตภัณฑ์อาหาร

ช่องทางผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

  1. ด้านการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นจะทำให้ความต้องการในการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะจากประเทศแถบอาเซียน เอเชีย และประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคของจีนสูงจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายในประเทศมากกว่าประเทศที่เน้นการส่งออกมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกของจีน จากข้อมูล OECD TiVA (Trade in Value-Added) จะพบว่า ไทย มีการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคในสัดส่วนสูง โดยคิดเป็น 5.6% ของ GDP

  2. ด้านการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทำให้ FDI จากจีนที่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีน ได้แก่ ภาคยางและพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน การค้าส่งและค้าปลีก รวมไปถึง ภาคอสังหาริมทรัพย์ 

  3. ด้านการท่องเที่ยว ด้วยความที่รัฐบาลจีนต้องการทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลักแต่ก็ยังกังวลเรื่องการเกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากจะทำให้ระดับของหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การลดการขาดดุลภาคบริการอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายก็เป็นได้ หนึ่งในวิธีการที่ภาครัฐอาจใช้ในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของจีนคือการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งถ้าหากจีนประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้คนเที่ยวในประเทศก็จะมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยลดลงในระยะยาว และไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคนก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Tokenization Summit 2024 by Token X พบกูรูระดับโลกเจาะลึกวิสัยทัศน์การปฏิวัติ Digital Asset

เวทีสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ “Tokenization Summit 2024” ภายใต้หัวข้อ Unveiling the Next Big Thing ขนทัพผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มาให้ความรู้ แ...

Responsive image

TikTok จับมือ ลาลีกา สานต่อความร่วมมือ ยกระดับคอมมูนิตี้คนรักฟุตบอล

TikTok จับมือ ร่วมมือ LALIGA (ลาลีกา) ลีกฟุตบอลของประเทศสเปน เดินหน้าความร่วมมือต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากความสำเร็จในการร่วมมือกันครั้งแรกในประเทศไทย ที่นำไปสู่การขยายความร่วมมื...

Responsive image

จับตา ‘ไทยในฐานะ Digital Asset Hub’ เตรียมจัดงานบล็อกเชนระดับโลก SEA Blockchain Week และ Devcon ปีนี้

ไทยกำลังได้รับความสนใจจากวงการเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ด้วยการเป็นสถานที่จัดงานสำคัญระดับนานาชาติถึง 2 งาน ได้แก่ SEA Blockchain Week (SEABW) ในวันที่ 22-28 เมษา...