ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ แต่ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการทางด้านสาธารณสุข สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้เปิดคณะแพทยศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยลำดับที่ 22 ของประเทศไทย แต่ความแตกต่างจากคณะแพทยศาสตร์อื่น ๆ นอกเหนือจากมาตรฐานตามกฎของสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลวิชาชีพแพทย์แล้ว ยังเป็นคณะที่สร้างแพทย์เป็น “นวัตกร” หรือ Global Doctor ที่พร้อมก้าวสู่การเป็นแพทย์นานาชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นหลักสูตรนานาชาติ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีอาจารย์สอนจากต่างประเทศ การบริหารแบบนานาชาติ
รวมทั้งการเรียนร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ออโตเมชัน (Automation) วิศวกรรม รวมทั้งเรียนร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เรียนวิธีการคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้เล่าถึงการจัดตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ ของ สจล. ผ่านหนังสือ “คิดต่างสร้างการเปลี่ยนแปลง” ไว้ว่า “หมอที่ประสบความสำเร็จในอนาคตต้องเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ ข้อหนึ่งที่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความเก่งของนักศึกษาแพทย์ได้เต็มที่ก็คือ จริง ๆ คนที่จะเข้ามา เรียนหมอ คือ เด็กที่ได้ที่หนึ่งคณิตศาสตร์ ที่หนึ่งฟิสิกส์ พอมาเรียนกลับไม่ได้ใช้วิชาพวกนี้ พอเรียนจบออกไปก็รักษาคน แต่หมอในอนาคตต้องดีลกับเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ชิ้นหนึ่งราคาเป็นล้าน ๆ แล้วต้องซื้อทุกชิ้น เข็มฉีดยาก็ต้องซื้อ แล้วจะให้วิศวกรไปทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ เขาก็ไม่เข้าใจ ทำไมไม่เอาหมอที่เก่งทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไปต่อยอดสร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม คิดดูว่าประเทศไทยจะลดการนำเข้า ประหยัดงบประมาณทางสาธารณสุขได้กี่ล้านล้านบาท นี่คือความแตกต่างของคณะแพทยศาสตร์ ลาดกระบัง กับคณะแพทย์ที่อื่น ๆ”
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ เห็นว่า การเปิดคณะแพทยศาสตร์ ถือเป็นการช่วยสังคม ช่วยชีวิตคน และสามารถต่อยอดเป็นโรงพยาบาลได้ นั่นคือ “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMC Hospital) ที่ไม่ใช่แค่ศูนย์การแพทย์เท่านั้น แต่เพื่อนำไปสู่ “โรงพยาบาลวิจัย” ในอนาคต รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ สจล. ที่นอกจากเชี่ยวชาญด้านการรักษา ยังต้องมีความเป็นนักวิจัยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และเรียนรู้ความเป็นสากล สู่การเป็น “หมอพันธุ์ใหม่” ที่เข้าใจบริบทการแพทย์ทั่วโลก และมีทักษะของศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ตลอดจนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ “แพทย์” จึงเป็นอาชีพของโลก เพราะไม่ได้เป็นเพียงแพทย์ที่แค่จบการศึกษา หรือเป็นแพทย์ที่รักษาแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถเป็นหมอที่อื่นได้ทั่วโลก ที่มีความรู้รอบทั้งด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และความรู้สมัยใหม่ของโลก เพื่อให้เป็นแพทย์ที่ก้าวทันโลกยุคใหม่ และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรักษาโรคได้ด้วย
เพราะปัจจุบันประเทศไทย ต้องเสียเงินให้กับต่างชาตินับหลายหมื่นล้านบาท ในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้ามาใช้งาน ซึ่งหากแพทย์ของเรามีความรู้ และสามารถสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ไม่ใช่แค่ลดการสูญเสียเงินให้กับต่างประเทศ แต่ยังได้เครื่องมือแพทย์ในราคาที่ถูกลง และมีประสิทธิภาพตามหลักการแพทย์แล้ว สิ่งเหล่านี้ยังได้ชื่อว่าเป็นนวัตกรรมและฝีมือของคนไทย เป็นความภาคภูมิใจ และสามารถสร้างรายได้กลับมาในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้น แผนการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMC Hospital : King Mongkut Chaokhun Thahan Hospital) ภายใต้แนวคิด “ให้เพื่อสร้าง” เพื่อเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน ที่พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วย และเป็นศูนย์วิจัยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ สร้างศูนย์รวมนวัตกรรม และสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้หลากสาขา เพื่อผู้สูงอายุ คนพิการ รองรับวิกฤตสุขภาพ โรคระบาด หลังพบข้อจำกัดด้านการขาดโอกาสเข้าถึง ขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงการลดการพึ่งพิงต่างชาติ
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วม #ให้เพื่อสร้าง เพื่อสมทบทุนในการสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง กดบริจาคตามจิตศรัทธา เข้าบัญชีมูลนิธิฯ เลขที่บัญชี 693-0-32393-4 กดบริจาค 100 บาท เพียงกด *948*1960*100# และโทรออก ซื้อเสื้อให้เพื่อสร้าง ในราคาตัวละ 299 บาท
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด