ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยอาจขยับสูงไปอยู่ในกรอบ 88-90 เปอร์เซ็นต์ในสิ้นปีนี้ คาดคงที่สักระยะ เหตุเศรษฐกิจหดตัวแรง คนซื้อทรัพย์สินใหญ่เพิ่ม และมาตรการช่วยเหลือรายย่อยของสถาบันการเงินเอง ทั้งนี้ ส่งผลต่อการประเมิน NPL อันกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์
ถึงแม้ว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1/2563 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง (80.1% ต่อจีดีพี) เพราะยังคงเห็นการก่อหนี้ก้อนใหญ่ ทั้งเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น ตามแคมเปญที่ผู้ประกอบการผลักดันออกมาเพื่อประคองตลาด สวนทางสัญญาณอ่อนแอของกำลังซื้อภาคครัวเรือนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วน ขณะที่การก่อหนี้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจที่ขยับสูงขึ้น ก็เป็นทิศทางที่ตอกย้ำว่า ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อาจเริ่มเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง มาตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจชะลอตัว ก่อนหน้าที่จะมีผลกระทบจากโควิด-19 มาซ้ำเติมอีกระลอก
ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้วมีความเปราะบางมากขึ้น สถานการณ์หนี้ที่ปรับสูงขึ้นหรือทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่หลายๆ ประเทศในเอเชีย กำลังเผชิญอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยอาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 88-90% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2563 จากเศรษฐกิจที่หดตัวลงแรง ขณะที่การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ทัังการลดภาระผ่อนต่อเดือนและการพักชำระหนี้เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือนและลูกค้ารายย่อยไม่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ และคงยากที่จะประเมินตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ที่ชัดเจน อันจะสะท้อนภาพผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่กำลังเผชิญในหลายไตรมาสข้างหน้า
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด