Looloo Technology ร่วมกับ มหิดล ปล่อย Thonburian Whisper โมเดลถอดความจากเสียงพูดภาษาไทย | Techsauce

Looloo Technology ร่วมกับ มหิดล ปล่อย Thonburian Whisper โมเดลถอดความจากเสียงพูดภาษาไทย

โมเดลถอดความเสียงพูดภาษาไทย (Automatic Speech Recognition, ASR) เป็นโมเดลที่มีบทบาทอย่างมากในหลากหลายการใช้งาน ในปัจจุบัน ASR ถูกนำมาใช้ในแอพพลิเคชั่น เช่น Amazon Alexa, Apple Siri, และ Google Assistant ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ผ่านแอปพลิเคชันมือถือและคอมพิวเตอร์ 

นอกจากนั้น ASR ยังถูกนำมาใช้ในการถอดข้อความจากเสียงโทรศัพท์ วิดีโอ ภาพยนตร์ หรือระหว่างกีฬาและการแคสเกมได้อีกด้วย ดังนั้น ASR จึงเป็นโมเดลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อยอดแอปพลิเคชันในหลากหลายสาขา 

ในปัจจุบันมีโมเดลเปิด ASR ภาษาไทยที่ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ได้ เช่นโมเดล Wav2vec2 ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Facebook (Meta ในปัจจุบัน) และถูกนำมาพัฒนาให้ใช้งานกับภาษาไทยโดย AIResearch.in.th ซึ่งเป็นโมเดลเปิด ASR นอกจากนั้นยังมี API สำหรับระบบรู้จำข้อความเสียงภาษาไทย เช่นของบริษัท Gowajee และ iApp ASR ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆได้

เพื่อเพิ่มความหลากหลายของโมเดลเปิด ASR กลุ่มนักพัฒนาจากบริษัทลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด (Looloo Technology) และ Biomedical and Data Lab คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกันพัฒนาโมเดลถอดความเสียงพูดภาษาไทย (Automatic Speech Recognition, ASR) ทางเลือก ใช้ชื่อว่า Thonburian Whisper ที่พัฒนาเพิ่มเติมจากโมเดล Whisper ที่ถูกสร้างจาก OpenAI ถูกที่ปล่อยออกมาในช่วงเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา โดยการพัฒนาโมเดลนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Huggingface Whisper Fine-Tuning Event ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

Whisper คืออะไร?

Whisper เป็นโมเดล ASR ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท OpenAI ซึ่งถูกเทรนด้วยไฟล์เสียงหลายภาษาจำนวนมากกว่า 680,000 ชั่วโมง จึงทำให้โมเดลมีความสามารถในการทำความเข้าใจลักษณะของสัญญาณเสียงในเชิงเวลาและความถี่ได้ดีมาก โดยความสามารถในการถอดข้อความภาษาอังกฤษของ Whisper ในภาษาอังกฤษมีความแม่นยำเข้าใกล้การถอดความของคน (human-level) แต่ทั้งนี้โมเดล Whisper ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้กับภาษาอังกฤษและแบบหลายภาษาเป็นหลัก การนำมาใช้งานในภาษาไทยนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเทรนเพิ่มเติม (Fine-tune) กับชุดข้อมูลสัญญาณเสียงภาษาไทยก่อนเพื่อให้โมเดลเรียนรู้ และใช้กับภาษาไทยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

สถาปัตยกรรมการทำงานของโมเดล Whisper ประกอบด้วย Encoder และ Decoder blocks ที่รับ log-Mel Spectogram ที่มา: Radford, Alec, et al. “Robust speech recognition via large-scale weak supervision.” OpenAI Blog (2022). Github: https://github.com/openai/whisper



Whisper ทำงานอย่างไร?

Whisper ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบ end-to-end ที่มี Transformer เป็น Encoder และ Decoder ของโมเดล โดย Whisper เทรนโดยใช้ข้อมูลเสียงความยาวกว่า 680,000 ชั่วโมง วิธีการคือเปลี่ยนจากไฟล์สัญญาณเสียงให้เป็น log-Mel spectrogram ให้ Encoder และ Decoder เพื่อทำนายภาษาแบบหลายภาษาและภาษาอังกฤษภาษาเดียว เนื่องจาก Whisper ใช้ข้อมูลเสียงจากหลายภาษาในการสร้างโมเดล ทำให้มีความสามารถในการบีบอัดข้อมูลเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการประมวลผลข้อความก่อนเทรนโมเดลนั้น เราใช้วิธีการประมวลผลแบบน้อยที่สุด (Minimalist approach) คล้ายกับต้นฉบับเปเปอร์ของโมเดล Whisper โดยทำความสะอาดภาษาไทยมาตรฐาน เช่นเปลี่ยนสระเอ 2 ตัว (เเ) เป็นสระแอ (แ), การเขียนสระอำผิด, รวมถึงลบเครื่องหมายวรรคตอน เช่น “, -, –, ! แต่เราไม่ได้ทำการตัดคำ (word tokenize) ไม่เปลี่ยนไม้ยมก (ๆ) ให้เป็นคำที่มาก่อนหน้า เช่น “เดี๋ยวเจอกันบ่อยๆ” เป็น “เดี๋ยวเจอกันบ่อย บ่อย” และไม่ได้เปลี่ยนตัวเลขให้เป็นคำอ่าน แน่นอนว่าการนำโมเดลมาทำนายอาจเกิดความผิดพลาดมากกว่าแต่ว่าเป็นการเลือกของผู้พัฒนา (development choice) โดยข้อดีของการเลือกใช้การประมวลผลที่น้อยทำให้ช่วยลดการ post process หลังจากโมเดลทำนายผลอีกด้วย

ความแตกต่างของ Whisper และ Wav2Vec2

ความแตกต่างโดยสังเขปของโมเดล Whisper ของ OpenAI และ Wav2Vec2 ของ Facebook AI Research (FAIR) ที่ทาง AIResearch.in.th ได้ปล่อยออกมาในปี ค.ศ. 2021 คือโมเดลทั้งสองใช้สถาปัตยกรรมของ Encoder ที่แตกต่างกัน โดย Whisper ใช้ Transformer เพื่อรับ Log-mel spectrogram แต่ว่า Wav2vec2 ใช้สถาปัตยกรรมที่สามารถดึง latent representation จากสัญญาณเสียง นอกจากนั้นแล้วในฝั่ง Decoder ของ Wav2vec2 จะใช้การทำนายตัวอักษร ส่วน Whisper จะใช้การทำนายด้วย GPT2 tokens (โดยการใช้โมเดล GPT2 ในการ tokenize ประโยคหรือคำที่เข้ามา)

จำนวนพารามิเตอร์ของ Whisper ขนาด tiny, base, small, medium, large เท่ากับ 39M, 74M, 244M, 769M, 1550M ตามลำดับ ส่วน Wav2vec2 มีขนาดเท่ากับ 317M

สถาปัตยกรรมของ Wav2vec2 ประกอบด้วย CNN encoder, Quantizer, Transformer,
และ Context representation โดยมีสัญญาณเสียงใน time-domain เป็น input
ที่มา: https://ai.facebook.com/blog/wav2vec-20-learning-the-structure-of-speech-from-raw-audio/


ทำไมต้อง Fine-tune โมเดล Whisper เพื่อใช้กับภาษาไทย?

ถึงแม้ว่าโมเดล Whisper จะถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจจับหลายภาษา แต่ว่าการทำงานในภาษาไทยอย่างเดียวนั้นยังมีความผิดพลาดของการทำนายที่สูง การ Fine-tune โมเดล Whisper จึงสามารถทำให้โมเดลมีความผิดพลาดของการทำนายที่น้อยลงได้ ทั้งนี้บริษัท Huggingface ได้เล็งเห็นความสำคัญและจัดงาน Whisper fine-tuning sprint เพื่อให้ผู้พัฒนานำโมเดล Whisper มา fine-tune ให้เหมาะสมกับภาษาต่างๆ ทั้งนี้ทีมได้เข้าร่วมการ sprint ในครั้งนี้เพื่อพัฒนาโมเดล Whisper ที่มีความเหมาะสมกับภาษาไทย และเปิดโมเดลเป็นสาธารณะให้กับนักพัฒนาและผู้ใช้งานทั่วไปได้ทดลองใช้กัน เพิ่มความหลากหลายของตัวเลือกโมเดล ASR ที่มีในปัจจุบัน

Fine-tune Thonburian Whisper (ธนบุเรี่ยนวิสเปอร์)

ธนบุเรี่ยนวิสเปอร์ถูกเทรนจากโมเดล Whisper เป็นโมเดลตั้งต้น ดังที่กล่าวข้างต้น Whisper มีหลายขนาดให้เลือกตั้งแต่ tiny, base, small, medium, large เราเลือกเทรนโมเดล 2 ขนาดคือ small และ medium โดยขนาดที่พบว่าทำงานได้ดีที่สุดคือขนาด medium โดยโมเดลขนาด medium มีจำนวนพารามิเตอร์ประมาณ 770 ล้านพารามิเตอร์ เราเทรนโมเดล Whisper สำหรับภาษาไทยด้วยชุดข้อมูลเปิด Commonvoice ที่ได้รับบริจาคเสียงภาษาไทยจากมากกว่า 7000 คน, ข้อมูลเปิดของ Gowajee โดยบริษัท Gowajee, และข้อมูลเปิดของ Thai Elderly Dataset โดยบริษัท VISAI และ Data Wow หลังจากเทรนโมเดลเรียบร้อย เรานำโมเดลมาวัดผลด้วยความผิดพลาดระดับคำ Word Error Rate (WER) ในข้อมูลชุดเทสของ Commonvoice 11 โดยตัดคำด้วยตัวตัดคำ Deepcut เท่ากับ 9.17* โมเดลมีความผิดพลาดใกล้เคียงกับโมเดล ASR ในปัจจุบัน และเป็นโมเดลตัวเลือกเพิ่มเติมหลังจากสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIResearch.in.th) และทีม PyThaiNLP ได้ปล่อยโมเดล ASR เปิดมาในปีที่แล้ว

*แบ่งข้อมูล train, test ของ Commonvoice ตามไลบรารี่ huggingface/datasets

*ทำความสะอาดข้อความโดยลบเครื่องหมายวรรคตอนก่อนวัดผล

ผลการทำนายและประสิทธิภาพของโมเดล

โดยรวมนั้นโมเดลสามารถทำนายคำได้ค่อนข้างแม่นยำแต่ยังมีความผิดพลาดอยู่บ้าง โดยเราได้ยกตัวอย่างตารางผลการทำนายสำหรับข้อมูลชุดเทส Commonvoice 11 ที่โมเดลทำนายผิดพลาดดังนี้

จะเห็นว่าโมเดลยังมีความผิดพลาดในการสะกดคำอยู่ เช่น แซ็กเขียนเป็นเป็นแซค ไซยาไนด์เป็นไซยานัย สับสนระหว่าง ร กับ ล และวรรณยุกต์ที่ผิดอยู่บ้าง เช่น นักเก็ตเป็นนักเก๊ต ปัจจัยหนึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดเนื่องจาก Whisper ไม่ได้ใช้โมเดลภาษา (language model) ในการทำนายผล

ผู้พัฒนาลองนำวีดีโอของน้องใจดีมาทดลองถอดความได้ผลตามข้างต้น โดยรวม Thonburian Whisper สามารถทำนายได้ดีแต่ยังมีการผิดอยู่บ้างเช่น กระเผกเป็นกระเพก เห้ยล้อเล่นเป็นโหยล้อนเล่น มีค่าเป็นนิค่ะ(ที่มาวิดีโอ: https://www.youtube.com/shorts/v0S0hJfZZY8)

สำหรับความเร็วในการ inference นั้น เบื้องต้นเราได้ทดลอง inference ไฟล์เสียงตัวอย่างในความยาวต่างๆจำนวน 1000 ไฟล์ (ความยาวเฉลี่ย 5.02 วินาทีต่อไฟล์) ด้วยการ์ดจอ RTX3060 พบว่า Thonburian Whisper (medium) ใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 1.8 วินาที/ไฟล์ ส่วน Wav2vec-XLSR ใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 0.054 วินาที/ไฟล์ ผู้พัฒนายังเห็นว่าความเร็วในการ inference ของ Whisper ยังช้ากว่า Wav2vec-XLSR หลายเท่าตัวอยู่ แต่ก็ยังมีข้อดีอื่นๆของโมเดล Whisper เช่นสามารถนำมาใช้แปลภาษาและถอดความภาษาไทยร่วมกับเวลาเริ่ม-หยุด (timestamps) ได้

โมเดลเปิดให้ใช้ฟรีด้วยไลบรารี่ Huggingface transformers

สำหรับผู้ที่สนใจใช้งาน Thonburian Whisper สามารถทดลองใช้งานผ่านช่องทางดังนี้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank เปิดผลงานปี 67 กำไร 48,598 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว...

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...