KPMG เผย การควบรวมและซื้อกิจการในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง | Techsauce

KPMG เผย การควบรวมและซื้อกิจการในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นผลจากธุรกิจไทยที่ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาด (private equity funds) และธุรกิจที่ต้องการหาตลาดใหม่ในการลงทุนและเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กร
  • ธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของการควบรวมและซื้อกิจการโดยการหาผู้ร่วมทุนในกิจการร่วมค้า (joint venture) หรือพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ
  • KPMG กล่าวว่าในประเทศไทยการเจรจาต่อรองซื้อขายกิจการที่ไม่สำเร็จส่วนใหญ่เป็นผลจากประเด็นต่างๆ ที่พบจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ (due diligence)
  • บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความแตกต่างทางวัฒนธรรมองค์กรระหว่างสองบริษัทที่ควบรวมกัน KPMG กล่าว
  • การควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยยังคงมีอนาคตที่เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป

การสำรวจบริษัทที่มีส่วนร่วมในการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยโดย KPMG แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการควบรวมและซื้อกิจการ ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เหมาะจะใช้ประโยชน์จากการที่บริษัททั่วโลกยังคงมีความต้องการซื้อขายกิจการ การสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายและข้อดีจากการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับธุรกิจที่กำลังพิจารณาการซื้อ ขาย หรือ จัดตั้งกิจการร่วมค้ากับธุรกิจอื่น

ประเทศไทยมีการควบรวมและซื้อกิจการเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั่วโลกที่ผู้บริหารระดับสูงสุดต่างต้องการการควบรวมและซื้อกิจการ และเพิ่มพันธมิตรเพื่อการเติบโตของธุรกิจ  ซึ่งนอกจากการควบรวมและซื้อกิจการในลักษณะที่เห็นเดิมคือ การควบรวมและซื้อกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลางภายในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการลงทุนจาก private equity และบริษัทข้ามชาติอีกด้วย และธุรกิจไทยเองยังมีการลงทุนในประเทศและนอกประเทศอีกมากเนื่องจากหลายบริษัทกำลังผันตัวเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะการลงทุนจาก private equity ทั้งจากกองทุนในประเทศและระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ที่ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในกองทุนขนาดเล็กและช่วง early-stage ในประเทศไทย ตลอดจนถึงกองทุนระดับโลกที่มีการทำธุรกรรมมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ในลักษณะเดียวกัน บริษัททั่วโลกที่ต้องการขยายกิจการยังคงมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อเข้าถึงตลาด ลูกค้า และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยที่สองในสามของบริษัท ที่ได้ทำการสำรวจระบุว่า การขยายตลาดเป็นแรงจูงใจหลักในการทำ M&A

ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุด้วยว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับกิจกรรมการควบรวมและซื้อกิจการในอนาคตอันใกล้ โดยร้อยละ 88 ระบุว่าพวกเขาคาดว่าจะทำข้อตกลงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในประเทศไทยในอีกห้าปีข้างหน้า และร้อยละ 27 คาดว่าจะทำอย่างน้อยสี่ครั้ง ผู้ตอบแบบสอบถามยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายที่น่าดึงดูดสำหรับการควบรวมและซื้อกิจการมากกว่ากลุ่มประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเพียงประเทศเวียดนามเท่านั้นที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศไทยได้ในแง่ของความน่าดึงดูด

การสำรวจยังบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อมีการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทย และที่สำคัญยังแสดงให้เห็นถึงสาเหตุในกรณีที่การควบรวมและซื้อกิจการนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ โดยการทำความเข้าใจและการเรียนรู้จากความท้าทายเหล่านี้ จะทำให้ทั้งผู้ขายและนักลงทุนสามารถเตรียมพร้อมและจัดการกับการควบรวมและซื้อกิจการได้ดียิ่งขึ้น

ไม่น่าแปลกใจที่ความท้าทายหลักที่พบคือวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการ due diligence โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ประเด็นด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านภาษี และการบันทึกทางการเงินที่ขาดคุณภาพและความซื่อสัตย์สุจริต KPMGกล่าวว่าปัญหาเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าผู้ขายเตรียมการเร็วขึ้น เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าใจถึงสถานะทางการเงิน การค้า และกฎหมายของธุรกิจและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น KPMGระบุว่า ได้มีการให้บริการแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบ่อยขึ้นและให้บริการตั้งแต่เริ่มต้นเป็นจำนวนมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การควบรวมและซื้อกิจการมีแนวโน้มสำเร็จมากขึ้น

ความท้าทายหลักที่พบภายหลังการควบรวมและซื้อกิจการ (post-deal) คือ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมองค์กรและการบริหาร (ร้อยละ 71) ความสอดคล้องของกลยุทธ์ทางธุรกิจ (ร้อยละ 54) และการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (ร้อยละ 43) ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ตัวเลขเหล่านี้สูง เนื่องจากธุรกิจมากกว่าครึ่งที่ทำการสำรวจไม่ได้มีการวางแผนอย่างจริงจังเกี่ยวกับวิธีจัดการรวมธุรกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน (integration planning) หลังการทำข้อตกลงควบรวมกิจการสำเร็จ หนึ่งในประเด็นเรียนรู้สำคัญที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ คือความสำคัญของการวางแผนการจัดการการรวมกิจการทั้งสองเข้าด้วยกันตั้งแต่วันแรก ไปจนถึงอย่างน้อย 100 วันภายหลังการควบรวมและซื้อกิจการ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้การซื้อขายกิจการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

แนวโน้มการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยยังคงจะดำเนินต่อไปในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การรอดูท่าทีสถานการณ์อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ธุรกิจในประเทศไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากแนวโน้มเหล่านี้ และในขณะที่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต การตระหนักถึงข้อผิดพลาดและโอกาสของการควบรวมและซื้อกิจการและการเตรียมพร้อมสำหรับการซื้อ การขาย หรือการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่น ๆ ควรเป็นส่วนหนึ่งของวาระสำคัญขององค์กร

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Tokenization Summit 2024 by Token X พบกูรูระดับโลกเจาะลึกวิสัยทัศน์การปฏิวัติ Digital Asset

เวทีสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ “Tokenization Summit 2024” ภายใต้หัวข้อ Unveiling the Next Big Thing ขนทัพผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มาให้ความรู้ แ...

Responsive image

TikTok จับมือ ลาลีกา สานต่อความร่วมมือ ยกระดับคอมมูนิตี้คนรักฟุตบอล

TikTok จับมือ ร่วมมือ LALIGA (ลาลีกา) ลีกฟุตบอลของประเทศสเปน เดินหน้าความร่วมมือต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากความสำเร็จในการร่วมมือกันครั้งแรกในประเทศไทย ที่นำไปสู่การขยายความร่วมมื...

Responsive image

จับตา ‘ไทยในฐานะ Digital Asset Hub’ เตรียมจัดงานบล็อกเชนระดับโลก SEA Blockchain Week และ Devcon ปีนี้

ไทยกำลังได้รับความสนใจจากวงการเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ด้วยการเป็นสถานที่จัดงานสำคัญระดับนานาชาติถึง 2 งาน ได้แก่ SEA Blockchain Week (SEABW) ในวันที่ 22-28 เมษา...