ม.มหิดล ผลักดันทักษะในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก | Techsauce

ม.มหิดล ผลักดันทักษะในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก

ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกสถาบันการศึกษา ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก (global citizenship) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำแนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome based Education) เข้ามาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและการวัดผล รวมทั้ง นำเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-QA) มาเป็นกลไกในการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา  และยังได้มองไปถึงโลกอนาคตที่นักศึกษาต้องออกไปเผชิญเมื่อจบการศึกษา จึงได้มีเป้าหมายที่จะพัฒนานักศึกษาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) มีการบูรณาการหลักสูตรโดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ  และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในทุกกลุ่มสาขาวิชา เพื่อพัฒนาทักษะ และประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา

ในส่วนของกิจกรรมเสริมหลักสูตรรูปแบบใหม่เพื่อมุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ในการใช้ชีวิตยุคศตวรรษที่ 21 (global talents) มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นผู้เลือก เพื่อสะสมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต กิจกรรมนี้ คือ “Mahidol HIDEF” เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะความรู้ที่ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในตำราเรียนเท่านั้น ได้แก่ 

1) Health Literacy: ความเข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นผู้มีสุขภาพดี 

2) Internationalization: ความเป็นนานาชาติ 

3) Digital Literacy: ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

4) Environmental Literacy: ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม 

5) Financial Literacy: ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านการเงินเศรษฐกิจและธุรกิจ  ซึ่ง Mahidol-HIDEF เป็นการส่งเสริมทักษะประเภท soft skills และ life skills ที่มีความสำคัญต่อความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ 

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีนโยบายที่เปิดกว้างในด้านการสร้างความเป็นนานาชาติในรั้วมหาวิทยาลัย (Internationalization at Home) โดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านความเป็นนานาชาติภายในมหาวิทยาลัย และจัดสรรทุนสนับสนุนการเดินทางเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ในต่างประเทศที่ทั่วถึงในทุกกลุ่มสาขาวิชา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เดินทางไปเปิดโลกทัศน์เสริมสร้างประสบการณ์ความเป็นนานาชาติเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยถึงกว่า 3,000 คนต่อปี เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเดินทางไปสร้างเสริมประสบการณ์ทางการศึกษา ณ ประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ทั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระยะสั้น และระยะยาว และการร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้เกิดความตระหนักในความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้เรียนรู้ถึงการเป็นพลเมืองโลกด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ในฐานะที่นักศึกษาจะต้องเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมสีเขียวเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการศึกษาเรียนรู้แก่นักศึกษาและก่อให้เกิดความตระหนักในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับ UI Green Metric World University Rankings 2018 เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยและติดอันดับ 1 ใน 100 ของโลกเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จากเกณฑ์การประเมิน 6 ด้าน คือ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการขยะ การใช้น้ำ การจัดการระบบขนส่ง และการศึกษา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวต่อไปว่า ในปีการศึกษา 2020 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยมหิดล จะปรับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาจากเดิมรูปแบบหน่วยกิตปรับเป็นรูปแบบเหมาจ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในการส่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลได้อย่างเต็มที่แก่นักศึกษา   

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดสรรทุนการศึกษาจำนวน 20 ล้านบาทต่อปี สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งมีทุนการศึกษาที่ได้รับจัดสรรจาก สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และทุนการศึกษาของคณะต่างๆ เพื่อมอบให้แก่นักศึกษาที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล แต่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสศึกษาเล่าเรียน และพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

"หน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา โดยมุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตให้ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของสังคม ซึ่งการสร้างบัณฑิตให้เป็นพลเมืองโลก และมีความรู้ในการใช้ชีวิตยุคศตวรรษที่ 21 บัณฑิตจะต้องรู้ลึกถึงศาสตร์ในวิชาชีพของตน รู้กว้างในการมีทักษะการใช้ชีวิต ปรับตัวได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่จบการศึกษาออกไป จะมีทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นพร้อมสำหรับการทำงานในโลกปัจจุบันและมีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ" ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...

Responsive image

รู้จัก MoneyThunder แก้หนี้นอกระบบด้วย AI แอปสินเชื่อออนไลน์จาก ABACUS Digital

สำรวจปัญหาหนี้นอกระบบในไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 21 ล้านคน พร้อมทำความรู้จัก MoneyThunder แอปสินเชื่อ AI ที่ช่วยคนไทยเข้าถึงเงินทุนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน...

Responsive image

Freshket ระดมทุนเพิ่ม กว่า 273 ล้านบาท เดินหน้าขยายแพลตฟอร์มสู่ Food Supply Chain ครบวงจร

เฟรชเก็ต (freshket) แพลตฟอร์มจัดการวัตถุดิบออนไลน์สำหรับร้านอาหารแบบครบวงจร (Food Supply Chain Platform) สัญชาติไทย เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมระดมทุนเพิ่มจากผู้ลงทุ...