จากชาวสวนยางพารา สู่การสร้างมูลค่าให้กับเห็ดแครง แบรนด์ Mudjai : มัดใจ Plant-Based Food จากเห็ดแครง | Techsauce

จากชาวสวนยางพารา สู่การสร้างมูลค่าให้กับเห็ดแครง แบรนด์ Mudjai : มัดใจ Plant-Based Food จากเห็ดแครง

ชั่วโมงนี้เทรนด์การบริโภคที่กำลังฮอตฮิตทั่วโลกคงหนีไม่พ้น “Plant-based” หรือที่คนไทยหลาย ๆ คนอาจจะเรียกกันอย่างติดปากว่า เนื้อเทียม เนื้อจากพืช ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วนั้นคือ “โปรตีนจากพืช” ที่เข้ามาช่วยทดแทนการรับประทานเนื้อสัตว์ ทั้งในกลุ่มผู้รับประทานมังสวิรัติ หรือแม้แต่กระทั่งผู้ที่นิยมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามเทรนด์ดังกล่าวเป็นกระแสที่เข้ามาจากต่างประเทศ จุดเริ่มต้นในการพัฒนา Plant-based ก็ถูกคิดค้นโดยคนต่างชาติ และจากการตอบรับกระแสที่มาแรงนี้เอง ในระยะแรกจึงทำให้ต้องมีการอิมพอร์ตอาหารประเภทดังกล่าวจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้อัตราการไหลเวียนของเงินไหลออกไปสู่ต่างชาติ รวมทั้งในเรื่องรสชาติก็อาจยังไม่ถูกจริตกับคนไทยเท่าใดนัก  

เพื่อเกาะกระแสกับตลาด “Plant-based” ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ากำลังจะเข้ามา Disrupt “เนื้อสัตว์จริง” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ วันนี้โครงการพัฒนานักส่งออกรุ่นใหม่ : Young Exporter from Local to Global หรือ YELG โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะพาไปทำความรู้จักกับผู้คิดค้น Plant-based จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องรสชาติ ความคล้ายคลึง และคุณประโยชน์ที่อัดแน่นยิ่งกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์จริง และที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่านั้นคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เตรียมตีตั๋วออกจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์ให้ผู้บริโภคทั้งโลกได้รู้ว่า “Plant-based” จากเมืองไทยนั้นเจ๋ง และรสชาติแจ๋วไม่แพ้เมืองนอกแน่นอน 

ภาณุวัตร กิ้มหิ้น กรรมการบริษัท อินโนโฟ จำกัด ผู้พัฒนา MJ Mudjai plant based food เล่าว่า ที่ผ่านมาตนมีอาชีพปลูกยางพาราเป็นหลัก แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนของราคายางที่บางปีต่ำมาก บางปีสูงมาก ทำให้ตนเองไม่สามารถควบคุมรายได้ในแต่ละปีได้ รวมไปถึงต้นทุนการลงทุนและกำไรค่อนข้างไม่สอดรับกับต้นทุน จึงทำให้ตนเริ่มมองหาอาชีพเสริมด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้จึงได้เริ่มต้นทำฟาร์มเห็ดแครง...ปลูกแซมในร่องสวนยางเพราะเพื่อนทำอยู่และรายได้ค่อนข้างดีสามารถขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250 บาท  ประกอบกับในพื้นที่สามารถเพาะเห็ดแครงได้ในคุณภาพดี ตนจึงหันมาร่วมกับเพื่อน ๆ  ทำฟาร์มเห็ดแครงและเริ่มทำเห็ดแครงอบแห้ง ส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ เพื่อทดลองตลาดก่อน ซึ่งปรากฏว่าเห็ดแครงอบแห้งได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง หลังจากนั้นได้มีการส่งเสริมให้เกษตรในพื้นที่หันมาเพาะเห็ดแครงกันมากขึ้นเพื่อทำเป็นรายได้เสริมในช่วงที่ไม่สามารถกรีดยางได้ หรือในช่วงที่ราคายางตกต่ำ  เมื่อเห็นช่องทางและมีประสบการณ์การเพาะเห็ดแครง รวมถึงปริมาณความต้องการที่มากขึ้น ตนและเพื่อนเริ่มร่วมมือกันก่อตั้งบริษัทขึ้นมา  และเริ่มมองหาวิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดแครงให้มีความหลากหลาย รวมไปถึงเปิดสอนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจเพาะปลูกเห็ดแครง จนสร้างเป็นเครือข่ายเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือเรื่องความรู้ และรับซื้อผลผลิตคืน เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ โดยเริ่มจากการพิจารณาคุณสมบัติของเห็ดแครงที่มีความหนึบคล้ายเนื้อสัตว์ก่อน และมีสารอาหารประเภทโปรตีนสูงและต่อยอดโดยการคิดว่าเราจะสามารถทำอะไรกับคุณสมบัติพิเศษของเห็ดแครงได้บ้าง จนเป็นที่มาของการพัฒนาแพลนต์เบสแบรนด์ Mudjai : มัดใจ ในปัจจุบัน 

รู้ช่องทางต่อยอด หัวใจสำคัญในการเติบโตที่ไม่รู้จบ

จุดเริ่มต้นในการทำ Plant-based มาจากที่ตนได้เข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานรัฐ จึงทำให้รู้ว่าตลาด Plant-based ในต่างประเทศกำลังโตมาก แต่ในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่ได้มีการพูดถึงมากเท่าที่ควร และยังไม่มีการผลิต Plant-based ขายในประเทศเองแต่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นตนและทีมงานจึงจุดประกายแนวคิดว่าเราควรจะทำแพลนต์เบสจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถเสิร์ฟไปให้คนทั่วโลกได้ลองรับประทานได้ จึงเป็นที่มาของแบรนด์มัดใจ และได้เริ่มคิดสูตรที่จะนำเห็ดแครงมาพัฒนาเป็นโปรตีนทางเลือกให้แก่กลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติหรือวีแกน รวมไปถึงกลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพ จากนั้นประมาณช่วงปี 2018 จึงเริ่มปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดซึ่งพบว่าได้รับความนิยมค่อนข้างดี  

สำหรับเห็ดแครงนั้นเป็นเห็ดท้องถิ่นของทางภาคใต้ ที่พบมากในฤดูฝน ดอกขนาดเล็ก 1-4 ซม.สีขาวอมน้ำตาล คุณสมบัติที่โดเด่นของเห็ดแครงคือมีเนื้อสัมผัสที่เด้งสู้ฟัน  มีโปรตีนค่อนข้างสูง ประมาณ 17% ซึ่งเห็ดชนิดอื่น ๆ มีแค่ 2-3%  มีสารเบต้ากลูแคนสูงซึ่งช่วยในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง รวมทั้งมีกรดอะมิโนจำเป็นทุกชนิดเหมือนกับเนื้อสัตว์ และมี fiber สูงช่วยในระบบการย่อยและการขับถ่าย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงเป็นข้อแตกต่างของแบรนด์มัดใจและแบรนด์อื่น ๆ อย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า Plant-based ของเราเป็นอาหารที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อความยั่งยืนของจริง 

แพลนต์เบสที่เป็นมากกว่าอาหารเพื่อสุขภาพ 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทที่วางจำหน่ายมีทั้งหมด 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร Freeze dry เป็นการแปรรูปอาหารให้คงไว้ซึ่งรสชาติเหมือนรสชาติอาหารสด  ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 เมนู ได้แก่ ลาบ แกงคั่ว ทั้งสองเมนูจะใช้เห็ดแครงเป็นวัตถุดิบหลัก และผสมผสานสมุนไพรท้องถิ่นเข้าไป ซึ่งนอกจากจะให้รสชาติดีแล้ว สมุนไพรยังส่งผลต่อร่างกายร่วมด้วย และกลุ่มอาหารแช่แข็ง (Frozen) จะเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based จากเห็ดแครงและขนุนอ่อน แบบไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ ไม่ใส่สี และไม่แต่งกลิ่น เน้นการให้รสชาติที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคนำไปปรุงอาหารได้ตามใจชอบ นอกจากนี้ ทางแบรนด์มัดใจยังได้ตระหนักถึงแนวการบริโภคของกลุ่มผู้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ขณะนี้ไม่ได้ต้องการแต่เรื่องคุณประโยชน์แต่ต้องควบคู่ไปกับรสชาติที่ดี จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้มีความหลากหลายอย่างหมูปิ้ง Plant-based ไขมันต่ำที่ทางบริษัทมีการเสียบไม้ ปรุงให้รสชาติอร่อยเสมือนหมูปิ้งของจริงเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่เลือกทานโปรตีนทางเลือกเพื่อสุขภาพ

แบรนด์ชุมชนกับแนวคิดติดปีกสู่ตลาดโลก

มัดใจเล็งเห็นว่า Plant-based เป็นอาหารทางเลือกที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป และตะวันตก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจ และให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอาหารที่เป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำธุรกิจแบบ Circular Economy จากการเล็งเห็นความนิยมดังกล่าว ทางแบรนด์จึงมีแนวคิดที่จะนำสินค้า Plant-based ไทยให้เป็นที่รู้จัก และต่อยอดวัตถุดิบให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น จึงได้ร่วมโครงการพัฒนานักส่งออกรุ่นใหม่ หรือ YELG ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้บริษัทได้กลยุทธ์ใหม่ ๆ และได้แนวทางสำหรับการทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นหลักการบริหารจัดการงบประมาณ ช่องทางในการขออนุญาตสำหรับทำการส่งออก ร่วมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของตลาด ความรู้เหล่านี้ช่วยให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีและเหมาะสม และแน่นอนว่าความรู้ทีได้มาจะช่วยขับเคลื่อนให้เป้าหมายการส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศเป็นจริงได้มากขึ้นด้วย โดยบริษัทวางแผนว่าหลังจากจบการระบาดโควิด – 19 จะเดินหน้าเพื่อส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้ 

“สำหรับการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ Plant-based ในตลาดทั่ว ๆ ไปนั้น ตนมองว่าสิ่งสำคัญคือการขายความจริงให้กับผู้บริโภคผ่านการส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานให้กับลูกค้า รวมไปถึงการนำเอาอัตลักษณ์ของพืชทางการเกษตรของประเทศไทยมาพัฒนาเป็น Plant-based ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังเน้นการทำ CSR ร่วมกับชุมชนโดยการรับซื้อเห็ดจากลูกฟาร์มในพื้นที่ เพื่อเกื้อหนุนให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมไปถึงเป้าหมายในการผลักดันให้เห็ดแครงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยอีกหนึ่งชนิด ที่จะมีบทบาทเข้ามาขับเคลื่อนมูลค่าสินค้าชุมชนในภาพรวม ซึ่งความยั่งยืนทั้งระบบเหล่านี้เรายังไม่ได้เห็นในตลาด Plant-based ในบ้านเราเท่าไหร่นัก”ภาณุวัตร กล่าวทิ้งท้าย 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Freshket ระดมทุนเพิ่ม กว่า 273 ล้านบาท เดินหน้าขยายแพลตฟอร์มสู่ Food Supply Chain ครบวงจร

เฟรชเก็ต (freshket) แพลตฟอร์มจัดการวัตถุดิบออนไลน์สำหรับร้านอาหารแบบครบวงจร (Food Supply Chain Platform) สัญชาติไทย เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมระดมทุนเพิ่มจากผู้ลงทุ...

Responsive image

ไทยเตรียมจัดงาน ASEAN Digital Awards 2025 การแข่งขันรอบชิงสำหรับภูมิภาค นำเสนอนวัตกรรมดิจิทัลจากสมาชิกอาเซียน

ASEAN Digital Awards 2025 คือเวทีระดับภูมิภาคที่รวมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมล้ำสมัย และแรงบันดาลใจสำหรับนักพัฒนา พร้อมผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการในอาเซียนให้ก้าวสู่ระดับโลก...

Responsive image

ทรู ไอดีซี ดาต้าเซ็นเตอร์ คว้ารางวัลนานาชาติ ด้านออกแบบและพลังงาน พร้อมรองรับเทคโนโลยี AI

ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศความสำเร็จของโครงการ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส ที่สร้างปรา...