NIA หนุนพื้นที่ EEC เป็น Sandbox แห่งใหม่ พร้อมเดินเกมปั้น Startup สาย ARI Tech ชี้มูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญ | Techsauce

NIA หนุนพื้นที่ EEC เป็น Sandbox แห่งใหม่ พร้อมเดินเกมปั้น Startup สาย ARI Tech ชี้มูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญ

ชูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นแซนด์บ็อกซ์แห่งใหม่ในการสานฝันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต และมีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น พร้อมเตรียมสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มอารีเทค:  ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้หลากหลายด้าน และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงมากถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ผ่านโครงการ “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 10 ราย และได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโต และความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในสตารท์อัพขณะนี้ถูกมุ่งเป้าไปที่สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทคสตาร์ทอัพ (DeepTech Startup) ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย และเป็นกลุ่มที่มีแต้มต่อในการแข่งขันเนื่องจากเลียนแบบได้ยาก ตลอดจนมีวงจรการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานกว่าเนื่องจากสามารถบูรณาการในอุตสาหกรรม ได้หลายรูปแบบ สำหรับในประเทศไทยกลุ่ม “ดีพเทค” ก็กำลังเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการส่งเสริมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่หน่วยงานด้านนวัตกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา ตลอดจนธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มมีการเฟ้นหาสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพลิกโฉมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ความทันสมัยและแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 

จากข้อมูลพบว่าการทำดีพเทคสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียนมี 2 ประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังนั่นคือ ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย ในส่วนของสิงคโปร์นั้นมีสตาร์ทอัพกลุ่มดีพเทคเกิดขึ้นแล้วประมาณ 65 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการเงินและทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้รับการลงทุนจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของประเทศไทยแม้จะยังมีจำนวนดีพเทคสตาร์ทอัพไม่มากนัก แต่ถือว่ามีจำนวนผู้ให้ความสนใจอยู่ในระดับที่ดี รวมถึงมีโซลูชั่นให้ผู้ที่สนใจสามารถพัฒนาได้อีกมาก เช่น โซลูชั่นด้านอาหาร ระบบการบริการ การเกษตร หรือแม้แต่กระทั่งกลุ่มดิจิทัล “อารีเทค : ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้หลากหลายด้าน และมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงมากถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้านี้ (ข้อมูลจาก www.statista.com)

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นสัดส่วนของดีพเทคสตาร์ทอัพในจำนวนที่สูง และเพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยก็มีความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เป็นเสมือนแซนด์บ็อกซ์ (SandBox) หรือพื้นที่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก สิทธิพิเศษ และความพร้อมในการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจากการมีข้อได้เปรียบของ Sandbox ในพื้นที่อีอีซี NIA จึงได้ ริเริ่มกิจกรรม “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในสาขาอารีเทคให้มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ศักยภาพของประเทศ และเพื่อให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใช้กระบวนการทำงานมากขึ้น รวมถึงเป็นการยกระดับพื้นที่เพื่อดึงดูดบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนหรือเกิดการจัดตั้งบริษัทดีพเทคต่อไปในอนาคต 

“โอกาสการเติบโตของดีพเทคสตาร์ทอัพสาย ARItech ในพื้นที่อีอีซีนั้นมีค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรินิกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ NIA จะต้องเร่งส่งเสริมคือการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเข้าไปทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพและเอกชนในพื้นที่ เพื่อทดลองและทดสอบเทคโนโลยีเชิงลึกของสตาร์ทอัพ ผ่านการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ EEC เพื่อเร่งการเพิ่มจำนวนดีพเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทย รวมถึงกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมดึงเอาเทคโนโลยีเชิงลึกที่เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพไทยเข้าไปใช้งาน  อย่างไรก็ดีในอนาคตหากสามารถสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพในสาขาอารีเทคได้สำเร็จจะทำให้อุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เข้าไปแก้ปัญหาและต่อยอดทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งจะช่วยให้อุตสาหกรรมในพื้นที่เกิดการขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของทั้งดีพเทคสตาร์ทอัพและบริษัทเอกชนในพื้นที่ ทั้งนี้ แม้ว่าดีพเทคจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่า 3-5 ปีในการสร้างเทคโนโลยี แต่ NIA มองว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มรูปแบบและฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดวิกฤติ ในรอบนี้ผ่านพ้นไป” 


ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2564-2566 NIA มีแผนและนโยบายส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเริ่มผันตัวเองเข้ามาทำดีพเทคผ่านโครงการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค (Deep-Tech Regionalization) ซึ่งเป็นการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 จะต้องมีบริษัทที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทดีพเทคได้ประมาณ 100 ราย และหนึ่งในจำนวนดังกล่าวต้องมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านอารีเทคประมาณ 10 ราย พร้อมทั้งคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับ Pre-series A อย่างน้อยประมาณรายละ 30 ล้านบาท โดยนอกเหนือจาการผลักดันกลุ่มอารีเทคให้เติบโตในพื้นที่อีอีซีแล้ว สาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพก็จะได้รับการสนับสนุนในรูปที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากทั้งสตาร์ทอัพและกลุ่มอุตสาหกรรมได้พัฒนาไปพร้อมกัน NIA เชื่อว่าจะได้เห็นพื้นที่อีอีซี เต็มไปด้วยความทันสมัยและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีได้แน่นอน 



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อว.-บพข. ร่วมผลักดัน Deep Tech Startup ไทยเจาะตลาดนอร์ดิก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดยหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงาน "OKRs Workshop: From Epicenter to Th...

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...

Responsive image

ทีทีบี ยกระดับ "ยินดี-Yindee" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ตอบทุกคำถามฉับไว บน Mobile Banking ด้วย Azure OpenAI ครั้งแรกในไทย

ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Transformation โชว์ความสำเร็จการพัฒนาผู้ช่วยบนมือถือ “ยินดี-Yindee” เวอร์ชันใหม่ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำ Generative AI ผ่าน Microsoft A...