ไทยเดินหน้ารับ Roadmaps เข้าร่วม OECD เสริมศักยภาพเศรษฐกิจ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน | Techsauce

ไทยเดินหน้ารับ Roadmaps เข้าร่วม OECD เสริมศักยภาพเศรษฐกิจ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

นายมาธิอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการใหญ่แห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Secretary-General) ได้เปิดตัวกระบวนการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)ของประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร ในวันนี้ โดยได้ส่งมอบแผนการดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก หรือการภาคยานุวัตรของประเทศไทย (Roadmap for the Accession) ให้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

คณะมนตรีแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Council) ได้มีมติเห็นชอบต่อแผนการดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก หรือการทำภาคยานุวัตรของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีมติเห็นชอบต่อการเปิดการเจรจาเพื่อการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทยหรือกระบวนการภาคยานุวัตรของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศลำดับที่สองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าสู่กระบวนการนี้ โดยก่อนหน้านี้มีประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านขั้นตอนนี้แล้ว ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีพลวัตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก

ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการCountry Programme ของ OECD นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีการเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆขององค์กร แบ่งปันฐานข้อมูลในบางประเด็น และการเข้ามาเป็นภาคีในตราสารทางกฎหมายในหลายๆด้าน   นอกจากนี้ ในระหว่างวาระการเป็นประธานร่วมของประเทศไทยในโครงการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Southeast Asia Regional Programme - SEARP) ระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้กำหนดนโยบายจากกลุ่มประเทศสมาชิก OECD และประเทศในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านนโยบายทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก 

นายมาธิอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการใหญ่แห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Secretary-General) ได้แถลงว่า “การเริ่มต้นของกระบวนการการเข้าเป็นสมาชิก หรือการทำภาคยานุวัตรของประเทศไทย คือจุดหมายถัดไปของความร่วมมือระหว่างองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนาน”  “การดำเนินการเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของ OECD จะส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อการแนวทางการปฏิรูปประเทศ  การวิเคราะห์ทบทวนนโยบายสาธารณะต่างๆอย่างเคร่งคลัดและการประเมินเชิงลึกจากคณะกรรมาการต่างๆของ OECD จะช่วยผลักดันระเบียบวาระการปฏิรูปที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างสูงของประเทศไทยเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี พ.ศ. 2580 โดยประชาชนชาวไทยจะได้รับประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน – นับตั้งแต่การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาทักษะไปจนถึงการเพิ่มความสามารถในการดึงดูดการลงทุน  ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยสามารถส่งเสริมการสนทนาและการถกเถียงเชิงนโยบายของ OECD  จากมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์บนพื้นฐานของความรู้ความชำนาญจากประสบการณ์ ความท้าทายที่ต้องเผชิญและความสำเร็จของประเทศไทย”

แผนการดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก หรือการทำภาคยานุวัตรของประเทศไทย (Accession Roadmap) ได้วางระเบียบข้อกำหนด เงื่อนไขและกระบวนการสำหรับการภาคยานุวัติของแต่ละประเทศที่จะเข้าสู่การเป็นสมาชิกของOECD โดยจะสะท้อนนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนที่กำหนดโดยประเทศสมาชิกของOECD โดยกระบวนการดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิกนี้ จะมีการประเมินผลในเชิงลึกอย่างรอบด้านโดยละเอียดจากคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 26 คณะ ซึ่งจะตรวจสอบและเสนอแนะแนวทางปฎิรูปมาตรฐาน นโยบายและแนวทางปฏิบัติของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของOECD

การประเมินผลเชิงเทคนิค (technical reviews) จะครอบคลุมนโยบายสาธารณะในแทบทุกด้าน เช่น การเปิดการค้าและการลงทุน ธรรมาภิบาลภาครัฐ ความซื่อสัตย์สุจริตและความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริต ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ

เมื่อผ่านการประเมินผลเชิงเทคนิค (technical reviews) ต่างๆแล้ว คณะกรรมการอาจให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกฎหมาย นโยบายและแนวทางการปฏิบัติของประเทศไทยเพื่อยกระดับเข้าให้สู่มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้การปฏิรูปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการเกื้อหนุนต่อระเบียบวาระการปฏิรูปภายในของประเทศไทยเอง

การดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก หรือการทำภาคยานุวัตรให้สำเร็จลุล่วงนั้นไม่มีเงื่อนไขด้านเวลาอย่างตายตัว  ผลลัพธ์และการใช้เวลาจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการดำเนินการของประเทศผู้สมัครแต่ละประเทศว่าจะปรับเปลี่ยนและปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้อย่างรวดเร็วแค่ไหน เมื่อคณะกรรมการเฉพาะด้านทุกคณะ (the technical committees)  ได้ทำการประเมินตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ประเทศสมาชิกของ OECD จะลงมติร่วมกันเพื่อเชิญประเทศผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อว.-บพข. ร่วมผลักดัน Deep Tech Startup ไทยเจาะตลาดนอร์ดิก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดยหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงาน "OKRs Workshop: From Epicenter to Th...

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...

Responsive image

ทีทีบี ยกระดับ "ยินดี-Yindee" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ตอบทุกคำถามฉับไว บน Mobile Banking ด้วย Azure OpenAI ครั้งแรกในไทย

ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Transformation โชว์ความสำเร็จการพัฒนาผู้ช่วยบนมือถือ “ยินดี-Yindee” เวอร์ชันใหม่ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำ Generative AI ผ่าน Microsoft A...