Oracle เผย 5 กุญแจสำคัญนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จในปี 2022 ชี้ AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม | Techsauce

Oracle เผย 5 กุญแจสำคัญนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จในปี 2022 ชี้ AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม

ออราเคิล (Oracle) แนะภาคธุรกิจปรับตัว เพื่อตั้งรับมือเทคโนโลยีแห่งอนาคต เนื่องจากการเปิดรับศักราชใหม่ ปี 2022 ภาคธุรกิจทั่วโลกมักมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการปฏิบัติการต่างๆ ที่จะนำพาให้ธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างสูงสุด ออราเคิล คอร์ปอเรชัน ประเทศไทย จึงเผย 5 กุญแจสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับอนาคตและสามารถปรับตัวให้องค์กรอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

คุณทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า เทรนด์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานมาเป็นระบบดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นและเป็นกระแสในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงองค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต่างก็ตอบรับกระแสและดึงเทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังหันเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถตอบโจทย์การใช้งานแอปพลิเคชั่นออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ออราเคิลในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านระบบคลาวด์และโซลูชั่นเพื่อธุรกิจและวิสาหกิจแบบครบวงจร พร้อมร่วมมือเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับธุรกิจและหน่วยงานทุกประเภท เพื่อเคียงข้างสร้างสรรค์การเติบโต ส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร และตอบรับความต้องการของผู้ใช้งานในเมืองไทยต่อไปอย่างเต็มศักยภาพ

5 กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีแห่งปี 2022

และในนามออราเคิล ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ทั่วโลกได้ออกมาเผยถึง 5 กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีแห่งปี 2022 พร้อมกับข้อแนะนำที่จำเป็นจากผู้บริหารระดับสูงทั่วเอเชียแปซิฟิก โดย นายคริส เชลลิอาห์ รองประธานกรรมฝ่ายกลยุทธ์ลูกค้า แผนกข้อมูลและการพัฒนาธุรกิจ ออราเคิล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น”

1. คณะกรรมการต้องเปลี่ยนแปลงการลงทุนกับระบบคลาวด์อย่างจริงจัง

ข้อมูลของ Statista ระบุว่า ทั่วโลกจะใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลราว 1.78 ล้านล้านดอลลาร์ไปกับเทคโนโลยีคลาวด์และแผนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลรูปแบบอื่น ๆ ในปี 2022

คำถามก็คือ บริษัทและหน่วยงานรัฐบาลกำลังลงทุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ หรือพวกเขาแค่กำลังทำงานด้านดิจิทัลแบบผักชีโรยหน้าเพื่อให้เกิดสิ่งที่ Foresster เรียกว่า “ความซ้ำซากเรื่องดิจิทัล”

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบคลาวด์ รวมถึงเทคโนโลยีอัตโนมัตินั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยในภาคเอกชนนั้น เราพบว่าอุตสาหกรรมทุกประเภทจะมีองค์กรอย่างน้อยหนึ่งรายที่ใช้ระบบดิจิทัลทำงานบนคลาวด์ ปรากฏขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นแล้ว โดยพบเห็นทั้งในธุรกิจค้าปลีก สื่อ ความบันเทิง การท่องเที่ยว การศึกษา ลอจิสติกส์ บริการทางการเงิน เฮลธแคร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการขนส่ง

ยกตัวอย่างเช่น Singtel หนึ่งในกลุ่มบริษัทการสื่อสารชั้นนำของเอเชีย ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัปมูลค่าสูงอย่างแกร็บ (Grab) เพื่อนำเสนอบริการธนาคารให้แก่ผู้ค้าปลีกและลูกค้าองค์กรในสิงคโปร์ จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าในอนาคตเราจะได้เห็นความร่วมมือด้านดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นในภาคธุรกิจอื่นๆ

แน่นอน องค์กรที่เล็งเห็นว่าคลาวด์คือสิ่งกอบกู้วิกฤติและสร้างความสะดวกสบายย่อมจะได้รับผลตอบแทนมหาศาล เช่นเดียวกับที่ Gartner เรียกคลาวด์ว่า “ตัวเสริมแรงแบบทวีคูณ” เพราะถือเป็นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนขนาดได้ ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและการเติบโตในระยะยาว

เราเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ว่าระบบคลาวด์มอบอิสระแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคนิคให้หลุดพ้นจากงานที่น่าเบื่ออย่างการดูแลความปลอดภัยหรือการบำรุงรักษาระบบ ช่วยให้พวกเขามีเวลาใช้ความคิดเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีความโดดเด่นและสร้างผลกำไรได้มากกว่า นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าคลาวด์ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผ่านการใช้เครื่องมือที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning: ML) รูปแบบใหม่ ช่วยให้ผู้ใช้งานที่มีความเข้าใจสามารถสั่งงานได้เพียงปลายนิ้วเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจขององค์กร

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2022 เราจึงคาดหวังว่าคณะกรรมการของบริษัทต่าง ๆ จะขอให้ฝ่ายบริหารนำเสนอเอกสารเรื่องการลงทุนกับระบบคลาวด์เพื่อช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว

2. การเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์คือขุมพลังสู่การเป็นวิสากิจดิจิทัลชั้นนำ

เนื่องจากวิสาหกิจส่วนใหญ่มีปริมาณข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์เป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์และเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านั้น รวมถึงยกระดับการตัดสินใจ และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานในขั้นต่อไปได้

ทว่าวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขั้นตอนทดลองใช้งานระบบการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็คือการแสวงหาทักษะที่จำเป็น

เนื่องจากบริษัทและหน่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการรวบรวมบุคลากรระดับด็อกเตอร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทางเลือกอื่นที่ทำได้คือการสร้างทีม MLOps (Machine Learning + Operations) ที่มีขนาดเล็กลงและเน้นการทำงานเฉพาะด้าน โดยจะคล้ายกับทีม DevOps (Development Operations) ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นมากกว่า ซึ่งแน่นอนทีมดังกล่าวประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงนักพัฒนา และผู้ปฏิบัติงานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนา ดูแลรักษา และปรังปรุงประสิทธิภาพโมดุลระบบการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังเริ่มตระหนักถึงมูลค่าของความได้เปรียบที่เกิดจากการใช้คลาวด์และแอปพลิเคชั่นที่มีอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์มาแบบพร้อมสรรพ

จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาบัน Foresster ทำนายว่าองค์กร 1 ใน 5 จะลงทุนมากขึ้นเป็นสองเท่ากับสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์ภายใน (AI inside)” ซึ่งก็คือปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องที่ฝังอยู่ในระบบและขั้นตอนการปฏิบัติงานขององค์กร และภายในปี 2025 ทาง Gartner ยังทำนายว่าวิสาหกิจ 10% ที่ติดตั้งระบบวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างน้อย 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 90% ที่เหลือซึ่งไม่ได้ติดตั้ง ดังนั้นรีบสร้างความได้เปรียบตั้งแต่วันนี้ย่อมดีกว่า


3. ลูกค้าจะประเมินบริษัทของคุณด้วยมาตรฐานด้านความยั่งยืน

ไม่ว่าในการซื้อสินค้าและบริการ การพิจารณาถึงนายจ้างในอนาคต หรือแม้แต่การลงทุนสต็อกสินค้า ผู้คนในทุกช่วงวัยเริ่มมีการประเมินแนวคิดและพันธะสัญญาด้านความยั่งยืนของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ วิสาหกิจต่างๆ ก็กำลังทำเช่นเดียวกับซัพพลายเออร์และคู่ค้าทุกราย นั่นคือการพยายามทำให้องค์กรของตนเองมีความน่าเชื่อถือในด้านการลดอัตราการปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนวิธีการกลบฝังขยะ และการหันมาใช้แนวทางการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด

ในปี 2022 การที่ธุรกิจต่างๆ ต้องวางแผนและดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเสมือนคำสั่งสูงที่จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก สถาบัน Foresster รายงานว่ากลุ่มบริษัทในรายชื่อ Fortune Global 200 กว่า 92% ในอเมริกาเหนือ และ 81% ในกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีการแต่งตั้งตำแหน่งผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ และตำแหน่งอื่น ๆ ในระดับบริหาร ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกมีตำแหน่งด้านนี้เพียง 26%

“ความพยายามด้านความยั่งยืนขององค์กรส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกถูกขับเคลื่อนด้วยการต้องปฏิบัติกฎหมายและแรงกดดันจากนักลงทุน ไม่ใช่การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงที่แท้จริง” สถาบัน Foresster ระบุ “แนวทางเช่นนี้จะไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก” และถือเป็นการหลอกลวงลูกค้าและบรรดาหุ้นส่วนที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“การดำเนินงานที่แท้จริง” จำเป็นต้องให้วิสาหกิจมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานบางอย่างในธุรกิจของตนเองด้วย


4. นายจ้างที่ไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาสายอาชีพและการรับสมัครพนักงานหลังภาวะการแพร่ระบาดจะล้าหลังกว่าคนอื่น  

การสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าระบุอย่างชัดเจนว่า การว่าจ้างและการรักษาพนักงานผู้มีทักษะถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของผู้บริหารระดับสูงทุกคน กระนั้น การลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าในปี 2022 นายจ้างจะตัดงานบางส่วนของพนักงานออกไป กล่าวคือ บริษัทจำเป็นต้องกระตือรือร้นมากขึ้นในการวางแผนเส้นทางอาชีพให้กับพนักงานที่มีคุณค่ามากที่สุด และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาในเรื่องสมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต ความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงาน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ หรือไม่ก็ต้องยอมเห็นพวกเขาเดินออกไปจากองค์กร

รายงาน 2021 AI@Work report by Oracle and Workplace Intelligence พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกล่าวว่าการแพร่ระบาดเป็นสาเหตุทำให้พวกเขารู้สึก “จมปลัก” และผลักดันให้พวกเขาต้องทบทวนอนาคตของตนเองอีกครั้ง ผลลัพธ์ก็คือพนักงานกว่า 84% ต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพการงานในปีหน้า 86% ไม่พึงพอใจกับการสนับสนุนด้านอาชีพการงานของนายจ้าง และ 91% กล่าวว่านายจ้างควรรับฟังความต้องการของพวกเขามากกว่า นอกจากนี้ 93% ของผู้ทำแบบสอบถามยังระบุว่าการแพร่ระบาดทำให้การสร้างสมดุลชีวิตและงาน สุขภาพจิต และความยืดหยุ่นในการทำงาน มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับพวกเขา

“วันนี้ พนักงานเริ่มลำดับสิ่งสำคัญแตกต่างไปจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด” ข้อมูลในรายงาน AI@Work ระบุ “ผู้คนเริ่มพิจารณาว่าบริษัทแบบไหนที่พวกเขาต้องการทำงานด้วย สิ่งที่พวกเขาต้องการในอาชีพการงานคืออะไร รวมถึงความสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี บริษัทจึงต้องนำเรื่องเหล่านี้มาทบทวนเพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่เหมาะสมสำหรับพนักงานหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด”

5. การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในซัพพลายเชนจะ “ไม่ปกติอีกต่อไป”

การแพร่ระบาดกดดันให้นักวางแผนซัพพลายเชนต้องประเมินลำดับความสำคัญเสียใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการบริหารซัพพลายเชน Supply Chain Management (SCM) ใหม่ล่าสุด ดังที่ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนแห่งออราเคิล เอริก ดอมสกี้ และ ไรอัน ซัมเรก กล่าวว่า “การไม่เคยปกติ” ได้กลายเป็น “ความปกติ” ไปแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น การเติมสินค้าในคลังให้ “ทันเวลา” เคยเป็นแนวทางปฏิบัติงานที่ดีที่สุดในช่วงการก่อนแพร่ระบาด แต่ “สินค้าคงคลังในระดับที่ปลอดภัย” หรืออีกชื่อคือคลังสินค้าแบบ “เผื่อในกรณีฉุกเฉิน” กลับถูกพิจารณาให้เป็นความปกติรูปแบบใหม่

แม้เทคโนโลยีซัพพลายเชนอันซับซ้อนจะไม่สามารถป้องกันผลกระทบของตลาดจากปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างเช่นกรณีการแพร่ระบาดทั่วโลก แต่ก็ยังช่วยให้บริษัทมีจุดสมดุลของคลังสินค้าในระดับที่ปลอดภัยได้

เมื่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงจากการซื้อหน้าร้านมาเป็นระบบออนไลน์ บริษัทต่างๆ จึงต้องตระหนักและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น รวมถึงการวางแผนสำหรับ “ปรากฏการณ์ระลอกคลื่น (Ripple Effect)” ที่จะกระทบกับโรงงาน ศูนย์ข้อมูล และห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของบริษัท ผู้เชี่ยวชาญจากออราเคิลกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องใช้โซลูชั่นการวางแผนซัพพลายเชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจำลองสถานการณ์และสร้างการทำนายรูปแบบอุปสงค์ทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้ได้มากยิ่งขึ้น”

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งสำคัญเหล่านี้ทั้งในบริบทด้านผลกระทบ โอกาส และความท้าทายทางธุรกิจแล้ว ธุรกิจต่างๆ ในเมืองไทยและเอเชียจึงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูยุคสมัยแห่งเอเชียให้กลับมาเฟื่องฟูใหม่ได้อีกครั้ง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AIS คว้ารางวัล Creative Equality Award ยกระดับชีวิต ส่งต่อพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม

AIS ตอกย้ำความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ คว้ารางวัล Creative Equality Award Creative ประเภท Social Impact Awards จากเวที Creative Excellence Awards 2024 ซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จขอ...

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...