กลับมาอีกครั้งกับการรวมตัวของนักพัฒนา คนสายเทคและ Startup ภายใต้ชื่อ ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ (https://www.facebook.com/pedthaisupai) ซึ่งเป็นการร่วมกันเพื่อนำเทคโนโลยีที่มีมาร่วมกันพัฒนา โดยมุ่งไปสู่การแก้ไขสถานการณ์อันคับขันในช่วงที่มีการแพร่ระบาด Covid-19 ในประเทศไทย ภายใต้โจทย์ในการทำงานที่ว่า เราจะพัฒนาเทคโนโลยีที่ไปเพื่อใช้คัดกรองผู้ติดเชื้อ เพื่อลดภาระงานให้กับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ด่านหน้า
จากการการแพร่ระบาดอย่างหนักของ Covid-19 ในระยะเวลาต้นปี 2021 ทีมเป็ดไทยสู้ภัยได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการให้บริการประเมินความเสี่ยงโควิด- 19 ผ่านสายด่วน 1422 เพื่อให้ประชาชนที่มีความกังวลใจได้รับการบริการที่รวดเร็วขึ้น โดยได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา
จากเทคโนโลยีที่เรามีและการรวมตัวกันครั้งนี้ เราสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ พยาบาทและแพทย์ที่อยู่หน้าด่านได้ นอกจากนี้แล้ว data จากการคัดกรองผู้ติดเชื้อ Covid-19 ยังทำให้เราต้องกลับมาตั้งโจทย์การทำงานเพิ่มว่า ในวิกกฤตครั้งนี้ เราจะเอาเทคโนโลยีมาทำอะไรเพื่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อประเทศชาติในการคลี่คลายสถานการณ์ได้บ้าง
เมื่อเรามีข้อมูลจากการให้บริการผ่านระบบ 1422 แล้ว จากโจทย์เล็กๆ ที่เราตั้งใจ คือ จะทำยังไงให้เราสามารถช่วยคนได้มากขึ้’ จึงนำมาสู่ภารกิจการและกลยุทธ์ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ รวมถึงระบบ Operation ในโรงพยาบาลสนาม และ ระบบ Operation เมื่อต้อง Home Isolation
ปัจจุบัน เป็ดไทยสู้ภัยเป็นทีมอาสาสมัคร ซึ่งร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยพัฒนาเทคโนโลยีจากการร่วมมือของ Startup กว่า 20 บริษัท มาช่วยกันยกระดับประสิทธิภาพสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ให้รองรับการติดต่อสอบถามของประชาชนได้มากขึ้น
มีการนำระบบประเมินความเสี่ยงโควิดอัตโนมัติ (ซึ่งอ้างอิงหลักการตามชุดคำถามคัดกรองความเสี่ยงโควิด19 ออกแบบโดยกรมควบคุมโรค) มาให้บริการผ่านคู่สายโทรศัพท์ 1422 และ Line Official Account และกำลังพัฒนาสำหรับช่องทาง Facebook
ทั้งนี้ ยังมีระบบส่งต่อผู้ที่ประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์ ให้ได้คุยกับเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์พยาบาลอาสา ผ่านระบบ telemedicine ของกลุ่ม startup เพื่อประเมินความเสี่ยงซ้ำ ก่อนคัดกรองส่งตรวจตามระบบ และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว
หลังจากทดสอบใช้งานเทคโนโลยีนี้มาราว 1 เดือน เรายังพบว่า ระบบนี้มีศักยภาพโดยเป็นช่องทางเฝ้าระวังการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ เพราะมีระบบข้อมูลที่รับแจ้งจากประชาชนได้โดยตรงและรวดเร็ว
โดยข้อมูลที่ได้รับจากการให้บริการผ่านระบบ 1422 นั้น เป็นแนวโน้มการเกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือว่าแหล่งระบาดใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ระยะเวลาในการเชื่อต่อบริการของ 1422 จากวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 2 กรกฎาคม 2564) พบคลัสเตอร์ใหม่รวมแล้วกว่า 162 แห่ง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้นับเป็น ‘สัญญาณแจ้งเตือน’ สำคัญที่ภาครัฐไม่ควรจะนิ่งเฉย
เมื่อพบว่ามีการแจ้งข้อมูลสงสัยการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากประชาชน ระบบก็จะส่งข้อมูลต่อไปยังทีมสอบสวนโรคของพื้นที่ เช่น ตัวแทนสำนักอนามัยเขตใน กทม. หรือ สสจ.ในแต่ละจังหวัด โดยทีมสอบสวนโรคจะลงพื้นที่ไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อให้มีการตรวจเชิงรุก ดังที่เห็นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้ง กทม.และต่างจังหวัด เป็นประจำ (ซึ่งระบบจะเป็นเครื่องมือช่วยส่งสัญญาณจุดเสี่ยงพบคลัสเตอร์ได้เร็วขึ้น)
ทางทีมอาสา ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ จึงอยากเสนอแนวคิด 'ตัดไฟแต่ต้นลม' โดย ‘ใช้วัคซีนล้อมพื้นที่’ หากพบคลัสเตอร์ที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่ถูกรายงานมาจากข้อมูลของระบบ 1422 ซึ่งมีโอกาสแพร่ระบาดในบริเวณชุมชนนั้นได้ง่าย ก่อนเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ โดยทีมเป็ดไทยสู้ภัยขอให้พิจารณาใช้วัคซีนช่วยในการตีวงและควบคุมการแพร่กระจายในชุมชนที่ประชาชนจำเป็นต้องมีกิจกรรมการเดินทางออกนอกพื้นที่ เพื่อทำมาหากินเป็นประจำ ดังเช่นกรณี ของการระบาดคลัสเตอตลาดบางแค หรือคลองเตย
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีโอกาสส่งผลต่อระบบสาธารณสุขในไทย ทีมเป็ดไทยสู้ภัยจึงพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับ ระบบ Operation ในโรงพยาบาลสนาม และระบบ Operation เมื่อต้อง Home Isolation เช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด