นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของโลกในปัจจุบัน และพร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศลดลง 15% ภายใน 10 ปี (ปี 2020 – 2030) สอดรับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส รวมถึงพยายามไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด อาทิ การพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ เป็นต้น
ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับการปรับกระบวนการทำงาน และริเริ่มแนวทางใหม่ๆ เพื่อร่วมผลักดันและแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปลูกและดูแลรักษาป่ากว่า 1.1 ล้านไร่ใน 54 จังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2.14 ล้านตันคาร์บอนออกไซด์เทียบเท่าต่อปี การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ณ คุ้งบางกะเจ้า การสร้างศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ ปตท. ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ การพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้เริ่มทำธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในธุรกิจเติมน้ำมันเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Green Bunker) ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้ล้วนสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และตอบรับเจตนารมณ์ของประเทศไทยในด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด