IBM เปิดตัวระบบ Quantum Computing ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมเปิดให้ใช้งานเเล้วที่นิวยอร์ค | Techsauce

IBM เปิดตัวระบบ Quantum Computing ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมเปิดให้ใช้งานเเล้วที่นิวยอร์ค

IBM ประกาศเปิดตัวศูนย์ประมวลผลควอนตัมแห่งใหม่ที่นิวยอร์ค เพื่อขยายศักยภาพระบบควอนตัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ครอบคลุมการใช้งานในเชิงพาณิชย์และการศึกษาวิจัย จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่เพียงการใช้ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของชุมชนผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 150,000 ราย รวมถึงลูกค้าเชิงพาณิชย์ สถาบันการศึกษา และห้องปฏิบัติการวิจัยอีกเกือบ 80 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อพัฒนาการประมวลผลเชิงควอนตัมให้ก้าวหน้า และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริงในด้านต่างๆ 

ชุมชนผู้ใช้งานทั่วโลกได้เริ่มทำการทดลองต่างๆ บนระบบ Quantum computing ของ IBM ผ่านคลาวด์ไปแล้วกว่า 14 ล้านครั้งนับตั้งแต่ปี 2559 โดยได้มีการเผยแพร่เอกสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์แล้วกว่า 200 ชิ้น และเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ต้องการเข้าถึงระบบควอนตัมของจริง IBM จึงได้เปิดระบบประมวลผลควอนตัม 10 ระบบให้สามารถใช้งานออนไลน์ได้ผ่านศูนย์ประมวลผลควอนตัมของ IBM โดยประกอบด้วยระบบขนาด 20 คิวบิตจำนวน 5 ระบบ ขนาด 14 คิวบิต 1 ระบบ และขนาด 5 คิวบิตอีก 4 ระบบ นอกจากนี้ยังมีถึง 5 ระบบที่มีควอนตัมวอลุ่ม หรือค่าที่ใช้วัดความประสิทธิภาพของ Quantum computer สูงถึง 16 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการรักษาระดับประสิทธิภาพให้แรงต่อเนื่อง 

ระบบควอนตัมของ IBM ได้รับการปรับแต่งมาเพื่อความน่าเชื่อถือ และเพื่อความสามารถในการดำเนินการระดับหลายคิวบิตซ้ำหลายครั้งผ่านการโปรแกรม และปัจจัยเหล่านี้เองก็ทำให้ระบบของ IBM สามารถให้บริการด้านการศึกษาวิจัยที่ต้องอาศัยการประมวลผลเชิงควอนตัมอันล้ำสมัยด้วยระดับความพร้อมใช้งานสูงถึง 95%

ภายในหนึ่งเดือน ระบบควอนตัมที่เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ของ IBM จะขยายเพิ่มเป็น 14 ระบบ และในจำนวนนี้รวมถึง Quantum computer ระดับ 53 คิวบิต ซึ่งเป็นระบบควอนตัมเดี่ยวสำหรับงานทุกประเภทที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ได้ด้วย โดยระบบใหม่นี้มีแลตทิซที่ใหญ่ขึ้นและช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำการทดลองที่มีทั้งความเชื่อมโยงและความยุ่งยากสลับซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

"กลยุทธ์ของ IBM นับตั้งแต่ที่เรานำ Quantum computer เครื่องแรกมาอยู่บนคลาวด์เมื่อปี 2559 ก็คือการนำควอนตัมคอมพิวติ้ง ที่เดิมเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยองค์กรเพียงไม่กี่แห่ง ให้เข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยล่าสุดได้พัฒนา Quantum computer ระดับ 53 คิวบิตแล้ว” นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท IBM ประเทศไทย จำกัด กล่าว " IBM เห็นความสำคัญของการเสริมศักยภาพให้กับชุมชนควอนตัมที่กำลังเติบโต ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล้วนมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิวัติระบบประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ โดย IBM หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาของไทย ในการนำควอนตัมคอมพิวติ้งเข้ามาเสริมสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0"

ความก้าวหน้าด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมอาจเปิดประตูสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น ยาและวัสดุชนิดใหม่ ระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพและลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงวิธีใหม่ๆ ในการจำลองข้อมูลทางการเงินเพื่อการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างผลงานที่ IBM ร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ อาทิ

  • J.P. Morgan Chase และ เผยแพร่บทความใน arXiv ว่าด้วยเรื่อง Option Pricing using Quantum Computers ซึ่งเป็นวิธีการกำหนดราคาออพชันทางการเงินและพอร์ตโฟลิโอที่มีออพชันดังกล่าวบน Quantum computer แบบเกต และผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออัลกอริทึมที่สามารถเร่งความเร็วแบบยกกำลัง กล่าวคือในขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้อง IBM ใช้ตัวอย่างนับล้าน แต่การประมวลผลบนควอนตัมใช้เพียงไม่กี่พันตัวอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน เมื่อเทียบกับวิธี Monte Carlo แบบดั้งเดิม ซึ่งอาจช่วยให้นักวิเคราะห์ทางการเงินสามารถกำหนดราคาออพชันและวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แทบจะในทันที และแนวทางการปฏิบัตินี้ก็มีอยู่ใน Qiskit Finance ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส  
  • Mitsubishi Chemical ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคโอะและ IBM ในการจำลองขั้นตอนแรกเริ่มของกลไกการเกิดปฏิกิริยาระหว่างลิเธียมและออกซิเจนในแบตเตอรี่แบบลิเธียม-อากาศ บทความเรื่อง Computational Investigations of the Lithium Superoxide Dimer Rearrangement on Noisy Quantum Devices ซึ่งเผยแพร่อยู่บน arXiv คือก้าวแรกของการจำลองปฏิกิริยาทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างลิเธียมและออกซิเจนบน Quantum computer จากนั้นเมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิกิริยานี้ดีขึ้นแล้วก็อาจนำไปสู่การคิดค้นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับอุปกรณ์พกพาหรือยานยนต์
  • IBM Q Hub ณ มหาวิทยาลัยเคโอ ร่วมมือกับพันธมิตร Mizuhu Financial Group และ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ในการนำเสนอบทความที่ตีพิมพ์ล่วงหน้าลงใน arXiv ว่าด้วยเรื่อง Amplitude Estimation without Phase Estimation ซึ่งเป็นอัลกอริทึมที่สามารถลดจำนวนของคิวบิตและความยาวของวงจรลงจากวิธีการเดิมที่เสนอไว้โดย IBM เพื่อใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงควอนตัมในทางการเงิน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Agile Tour Bangkok 2024

กลับมาอีกครั้งเป็นปีที่ 13 ของ Agile Tour Bangkok กับงานสัมมนาประจำปีระดับนานาชาติของชุมชนของคนรักอไจล์ ซึ่งจัดโดยกลุ่มจิตอาสา Agile66...

Responsive image

Krungsri Finnovate เปิดตัว 12 Startups ในโครงการ Finno Efra Accelerator

Krungsri Finnovate เปิดตัวแล้วกับ Startup ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 12 ทีม หลังจากใบสมัครจำนวนหลักร้อยและการคัดเลือกในสนาม Dungeon pitch ในบทความนี้ Techsauce จึงอยากพาไปรู้จักกับโ...

Responsive image

“บิวตี้ เทค” โอกาสของคนสายเทคในโลกความงามที่ลอรีอัล

"ธุรกิจความงาม: ทางเลือกใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับสายเทค โดยเฉพาะในบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง ลอรีอัล กรุ๊ป ที่มาพร้อมโอกาสเติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน...