รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) เปิดเผยว่า RISC เดินหน้าไม่หยุดยั้งทำงานวิจัยภายใต้หลักการ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิต ตอกย้ำความสำเร็จของหอฟอกอากาศระดับเมืองอัตโนมัติแบบไฮบริด “ฟ้าใส (Fahsai )” ทั้ง 2 รุ่น พัฒนาสู่ “ฟ้าใส มินิ (Fahsai Mini)” หอฟอกอากาศที่มีขนาดเล็กลง ทำให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ พร้อมจำหน่ายผ่านบริษัท Dsupreme ผู้เน้นสินค้า Wellbeing Innovation ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศออกสู่วงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเชื้อโรคต่างๆ ในอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่
“RISC มีความตั้งใจที่จะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับทุกชีวิต ซึ่งผลงานวิจัยที่ออกมาได้นำมาใช้ในหลายโครงการอสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัย พื้นที่สาธารณะอย่างมักกะสัน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม ต่อการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาและสร้างหอฟอกอากาศระดับเมืองหรือ ‘ฟ้าใส I’ ขึ้นในปี 2563 พัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็น 'ฟ้าใส II' ที่สามารถเพิ่มการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ ได้ในช่วงต้นปี 2564 ขณะนี้เราได้พัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็น ‘ฟ้าใส มินิ’ ที่มีขนาดเล็กลง เข้าถึงพื้นที่แออัดในเมืองได้ ซึ่งเราตั้งใจพัฒนาใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ และได้ทำการทดลองและพัฒนาประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนี้ ขยายสู่หลายพื้นที่มากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
ฟ้าใส มินิ นับเป็นหนึ่งในหลากหลายผลงานวิจัยใน 7 กลยุทธ์หลักของ RISC ด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Wellness) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ในเรื่อง Good Health and Well-Being,,Sustainable Cities and Communities และ Life on Land
ทางด้านนายวิฑิต อาภาพาส ประธานผู้อำนวยการ บริษัท ดี ซูพรีม จำกัด (Dsupreme) กล่าวว่า Dsupreme รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ RISC ให้ความไว้วางใจ Dsupreme ให้เป็นตัวแทนในการหาช่องทางจัดจำหน่าย ฟ้าใส มินิ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 และเชื้อโรคต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีของทุกปี ร่วมทั้งยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพอากาศให้กับทุกพื้นที่ สร้างสภาพแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีของคนไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มจัดจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
สำหรับธุรกิจองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่สนใจ ฟ้าใส มินิ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 061 789-2687 หรือเว็บไซต์ https://deessupreme.co.th/
หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส มินิ” นำหลักการมาจากหอดักจับมลพิษอุตสาหกรรมแบบเปียก (wet scrubber) เพื่อสร้างต้นแบบหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ทำงานด้วยการนำพลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ กำลังการผลิตพลังงาน ขนาด 800 วัตต์ มาใช้ร่วมกันกับระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วไป เพื่อลดภาระการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน ออกแบบภายใต้แนวคิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางสุขภาวะและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น มีความพิเศษกว่า ฟ้าใสทั้ง 2 รุ่น คือ ขนาดเล็กกว่า เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง ส่วนประสิทธิภาพการทำงานฟอกอากาศ ฝุ่น PM2.5 และความสามารถในการฆ่าแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้ ยังใกล้เคียงกับทั้ง 2 รุ่น
ฟ้าใส มินิ ลดขนาดของตัวเครื่องลงเหลือความสูงเพียง 3.20 เมตร และฐานกว้าง 1.35 เมตร เพื่อเข้าถึงพื้นที่ติดตั้งได้ง่ายขึ้น ขนาดของพัดลมขาเข้า 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 ใบพัด รวมเป็น 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ขนาดของพัดลมขาออก 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 4 ใบพัด รวมเป็น 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ครึ่งสนามฟุตบอล
หลักการทำงานของฟ้าใสมินิเริ่มต้นจากการดูดอากาศจากผนังด้านข้างด้วยพัดลมดูดอากาศเข้าไปใน chamber รูปทรงกระบอก ผ่านระบบหัวฉีดสเปรย์ จนเกิดรูปแบบไซโคลน (cyclonic pattern) โดย อากาศจะผ่านหัวพ่นละอองน้ำความเร็วสูง 2 ชั้นผสมกับการออกแบบแผ่นโครงสร้างดักฝุ่นละอองและเพิ่มแรงตึงผิวให้กับน้ำเพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น สามารถดักจับฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอน ที่มีขนาดเล็กกว่าฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 อากาศที่ออกมาจะผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบ UVGI เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด และปล่อยลมออกมาในตำแหน่งที่คนใช้งาน โดยมีใบพัดช่วยดึงให้ได้ปริมาตรตามต้องการ ประสานระบบพลังงานไฮบริด ใช้พลังงานไฟฟ้า 600-3,000 วัตต์ต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นในแต่ละวัน และใช้ปริมาณน้ำในระบบเพียง 50 ลิตรต่อวัน และมีระบบหมุนเวียนน้ำบางส่วนให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยเทคโนโลยีโอโซนและระบบกรองน้ำ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด