SCBS CIO รายงานแนวโน้มการบริโภคของจีน และนัยต่อการลงทุนในหุ้นจีน | Techsauce

SCBS CIO รายงานแนวโน้มการบริโภคของจีน และนัยต่อการลงทุนในหุ้นจีน

SCBS CIO รายงานแนวโน้มการบริโภคของจีน และนัยต่อการลงทุนในหุ้นจีน โดยพบว่าปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป มีแนวโน้มทยอยเปลี่ยนจากแรงขับเคลื่อนด้วยการลงทุน และการส่งออกไปสู่ “การบริโภค” มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น 

SCBS CIO

โดยจะเห็นว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันภาคการบริโภคของจีนยังคงฟื้นตัวช้าเมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคของสหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว คือ 

  • ลำดับของการเปิดเศรษฐกิจ โดยภายหลังจากสถานการณ์การระบาดในจีนเริ่มคลี่คลาย ทางการจีนได้อนุญาตให้โรงงานต่าง ๆ กลับมาเปิดดำเนินการเป็นลำดับแรก แล้วจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ของบุคคลตามมา
  • การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯ ออกมาตรการเยียวยาครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่ภาคครัวเรือนสหรัฐฯ ในวงเงินที่สูงและเป็นผลทำให้รายได้การออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ยังได้ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในทางตรงกันข้ามการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังของจีนที่ตรงไปที่ภาคครัวเรือนจีนค่อนข้างจำกัดมาก เช่น การให้สวัสดิการสังคมที่ยังไม่เพียงพอ โดยจะเห็นว่า ในระหว่างการ lockdown ในจีนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของจีนได้ปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ในปี 2021 นี้ การบริโภคของจีนยังแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุน เช่น 

  1. เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า Real GDP ของจีนในปี 2564 จะขยายตัวสูงถึง 8.4% ซึ่งสถิติในอดีต บ่งชี้ว่า การขยายตัวของ Real และ Nominal GDP ของจีน มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการขยายตัวของรายได้ภาคครัวเรือนของจีน นอกจากนี้อัตราการออมของภาคครัวเรือนจีน ในไตรมาส 1/2564 ปรับลดลงอยู่ที่ 33.7% (จากจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่ 36.1%) ดังนั้น ด้วยแนวโน้มการทยอยปรับลดลงของเงินออมส่วนเกินในภาคครัวเรือนจีน จะช่วยหนุนให้ภาคการบริโภคจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไป
  2. ภาวะตลาดแรงงานของจีนทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยตัวเลขอัตราการว่างงานของจีน เดือน มี.ค.ปรับลดลงอยู่ที่ 5.3% สูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดในจีนเพียงเล็กน้อย และ ตัวเลขจำนวนแรงงานที่อพยพจากบ้านเกิดไปทำงานที่เมืองอื่น ในไตรมาส 1/2564 ฟื้นตัวดีขึ้นสู่ระดับ 174 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับในช่วงไตรมาส 4/2562
  3. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนปรับตัวดีขึ้น โดยผลสำรวจในไตรมาส 1/2564 พบว่า ผู้บริโภคจีนมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น เกี่ยวกับรายได้ในปัจจุบันและในอนาคตรวมถึงการจ้างงาน แต่ยังมองบวกน้อยกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2562 เล็กน้อย ดังนั้น การที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มดีขึ้นต่อ จะถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของรายได้ของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้

ในระยะกลางถึงยาว (5-10 ปีข้างหน้า) การบริโภคจีนยังมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุน เช่น 

  1. สัดส่วนของภาคบริการในการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของนโยบายลูกคนเดียวในอดีต ทำให้จำนวนประชากรผู้สูงวัยของจีนเร่งตัวอยู่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งเป็นรายจ่ายในภาคบริการ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้รายจ่ายในภาคบริการยังได้แรงหนุนจากการที่ประชาชนจีนเริ่มเปิดรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในจีนโดยประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาสาธารณสุขของสังคมมากกว่าประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวสำหรับแต่ละบุคคล 
  2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีน โดยจำนวนประชากรช่วงสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่า ในปี 2573 ประชากรจีนในช่วงอายุ 20-34 ปี และ 45-54 ปี จะมีจำนวนลดลง 63.5 และ 50.4 ล้านคน ตามลำดับ ในขณะที่ประชากรจีนในช่วงอายุ 35-44 ปี และ 55 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 25.3 และ 123.9 ล้านคน ตามลำดับ ดังนั้นแนวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีนข้างต้นจะช่วยหนุนการขยายตัวของการบริโภคจีนโดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ครอบครัว และการวางแผนเกษียณ 
  3. แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2564-2568) ของจีน ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ โดยเน้นกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศผ่านยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ทั้งนี้ ทางการจีนได้ทยอยออกมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับ Dual Circulation เช่น เพิ่มรายได้ของประชากรจีนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาจเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นธรรม เพิ่มรายได้จากการลงทุนในตลาดการเงิน ผ่านการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มการจ่ายปันผลมากขึ้นและการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมขี้น โดยปรับปรุงระบบภาษีรวมทั้งพัฒนาสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวในหุ้นจีนเพื่อให้ได้รับอานิสงส์ตามธีมการฟื้นตัวภาคการบริโภคของจีน คือ ให้เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Consumer Staples และ Consumer Discretionary ของจีนโดยจะเห็นว่าบรรดานักวิเคราะห์ในตลาด (Consensus) คาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นของกลุ่ม Consumer Staples และ Consumer Discretionary ในดัชนี MSCI China ในปี 2564 จะขยายตัว 28.5% และ 27.2% ตามลำดับ ขณะที่ ในดัชนี CSI 300 จะขยายตัว 26.5% และ 33.2% ตามลำดับ ในส่วน กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นในหุ้นจีน ให้เน้นหุ้นกลุ่ม Consumer Cyclicals เช่น กลุ่มท่องเที่ยว การจัดเลี้ยง กลุ่มบันเทิง และกลุ่มสินค้าบริโภค (Consumer goods) ซึ่งมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นกลุ่ม Consumer โดยรวม เนื่องจาก ปัจจุบัน บริษัทในกลุ่ม Consumer Cyclicals ส่วนใหญ่ ยังกลับมาดำเนินการได้ต่ำกว่าแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยจึงทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ประกอบกับ กลุ่มฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตามความคืบหน้าในแจกจ่ายวัคซีนและการทยอยเปิดเศรษฐกิจของหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ในช่วงที่เหลือของปีนี้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรี ผนึกพันธมิตรสายเทค จัดงาน Krungsri Tech Day 2024 นวัตกรรมเพื่อธุรกิจและการใช้ชีวิตภายใต้แนวคิด Technology for People

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงินของไทย ประกาศจัดงาน Krungsri Tech Day 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ชูแนวคิด “Technology...

Responsive image

ไทย-สวีเดน ผนึกกำลังเร่งเครื่อง Startup สู่เวทีโลก ด้วย The Scaleup Impact! Thailand-Sweden Global Startup Acceleration Program

ประเทศไทยและสวีเดนได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลกผ่านโครงการ 'The Scaleup Impact! Thailand-Sweden Global Startup Acceleration Program' ณ...

Responsive image

STelligence ผลักดันองค์กรไทยสู่ยุค AI ด้วย 5 โซลูชันใหม่

STelligence บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation ของไทย เปิดตัว 5 โซลูชัน AI ใหม่ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของธุรกิจไทยและช่วยให้องค์กรไทยสามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างมีประ...