SCG จับมือ มหิดล เปิดศูนย์วิจัย 'SCG-MUSC Innovation Research Center' ค้นคว้าพลาสติกรีไซเคิลง่ายเพื่อความยั่งยืน | Techsauce

SCG จับมือ มหิดล เปิดศูนย์วิจัย 'SCG-MUSC Innovation Research Center' ค้นคว้าพลาสติกรีไซเคิลง่ายเพื่อความยั่งยืน

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งศูนย์วิจัย “SCG – MUSC Innovation Research Center” เพื่อวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ” จากสารเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้พลาสติกรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เร่งตอบโจทย์ตลาดโลกที่ต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืน

คุณธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ SCG เปิดเผยว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added Product & Service) โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากว่า 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของรายได้จากการขายของธุรกิจเคมิคอลส์ ส่งผลให้ยอดขายสินค้า HVA มีมากถึงร้อยละ 53 มีสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีที่ผ่านมา โดยมีทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นให้วัสดุมีความแข็งแรงทนทาน (Durability) สามารถรีไซเคิลได้ง่าย (Recyclability) และมีประสิทธิภาพสูง (High Performance) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายยิ่งขึ้น

“สำหรับความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดตั้งศูนย์วิจัย “SCG – MUSC Innovation Research Center” ครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันพัฒนา “นวัตกรรมพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ” จากสารเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้พลาสติกรีไซเคิลง่ายขึ้น สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เช่น สารที่ทำให้ชั้นฟิล์มทุกชั้นเป็นวัสดุชนิดเดียวกัน (Mono-Material Packaging) เป็นต้น ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพและเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น”

ด้าน รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของวงการวิจัยระดับชาติแบบ Public-Private Partnership แล้ว ยังเป็นการร่วมกันสร้างผู้เชี่ยวชาญและนวัตกรรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับประเทศ ผ่านโปรแกรมการศึกษาที่มาจากการทำงานร่วมกัน ถือเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่ประสานความเข้มแข็งขององค์กรพันธมิตรเข้าด้วยกัน ซึ่งนักศึกษาจะมีโอกาสในการร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในโครงการดังกล่าวกับนักวิจัยของศูนย์ฯ ด้วย

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ซึ่งดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยในปีนี้ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัย “SCG – MUSC Innovation Research Center” ขึ้น ณ ตึกเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงานวิจัย โดยใช้องค์ความรู้พื้นฐานด้านเคมีและเครื่องมือวิเคราะห์โครงสร้างเคมีขั้นสูงจากภาคการศึกษา ผสมผสานกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากเอสซีจี ในการขยายผล  (scale up) และการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน”

ความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วนและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในประเทศให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งยังช่วยส่งเสริมงานวิจัยเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ธุรกิจและโลกเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...

Responsive image

รู้จัก MoneyThunder แก้หนี้นอกระบบด้วย AI แอปสินเชื่อออนไลน์จาก ABACUS Digital

สำรวจปัญหาหนี้นอกระบบในไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 21 ล้านคน พร้อมทำความรู้จัก MoneyThunder แอปสินเชื่อ AI ที่ช่วยคนไทยเข้าถึงเงินทุนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน...