วิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบหนักให้กับผู้คนบนโลก และค่อนข้างแน่ชัดว่า ไวรัสร้ายนี้จะยังอยู่กับโลกไปอีกนาน จากการกลายพันธุ์หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นนอกจากธุรกิจจำเป็นต้อง “เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19” การมองวิกฤตเป็น “โอกาส” ยังเป็นอีกมุมมองบวกที่สำคัญ โดยเฉพาะ “การปรับ” หรือ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การนำดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน การปรับโครงสร้างธุรกิจ การแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ การปรับรูปแบบการทำงาน รวมไปถึงการปรับวัฒนธรรมการทำงานรับมาตรฐานใหม่ของโลก
“ก่อนการระบาดของโควิด 1-2 ปี SCG กำลังทำเรื่องทรานส์ฟอร์เมชัน ทั้งการปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร จึงมีการปรับตัวในระดับหนึ่งอยู่แล้ว พอมาเจอโควิดที่เริ่มระบาดปลายปี 2562 ที่ปรับตัวมาอยู่แล้ว ยิ่งต้องปรับมากกว่าขึ้นเดิมเป็น 10 เท่า เพราะสถานการณ์การทำงานยากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มศักยภาพ ความสามารถใหม่ ๆ พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Hybrid Workplace Work ที่ผสมผสานรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่ต้องเข้าสำนักงานตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด” ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCG ให้มุมมองว่า โควิด-19 เป็น “ตัวเร่ง” สำคัญทำให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรเร็วขึ้นหลายเท่าตัว แม้จะมีความยากในการดำเนินการในช่วงแรก
ธรรมศักดิ์ มองว่า ที่ผ่านมาปกติรูปแบบการทำงานให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมนั้น คือการเจอหน้าและระดมความคิด แต่โควิด-19 ทำให้การทำงานเปลี่ยนแปลงไป เราไม่ได้เจอหน้ากัน ประชุมทีมผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการคิดนวัตกรรม แม้บางครั้งอาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้ หากเรามีทัศนคติที่ดี มองปัญหาเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง มีการบริหารจัดการที่ดี มีวินัย ตั้งเป้าหมายในการทำงานในแต่ละช่วงเวลา การทำงานแบบ Hybrid Workplace จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทรานส์ฟอร์ม SCG เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ช่วยส่งเสริมการคิดและพัฒนานวัตกรรม
“ทีมลีดเดอร์ หรือ หัวหน้างาน มีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบ และเป้าหมายการทำงานของทีม เป็นผู้ที่ต้องคอยดูจังหวะเวลาว่า เมื่อใดที่ทีมงานควรมาเจอกันเพื่อพบปะหารือพูดคุยให้ความคิดตกผลึก ก่อนแยกย้ายกันไปทำงานให้บรรลุเป้าหมายของทีม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในทีม เช่น กลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานโรงงานใช้จังหวะเวลาที่อยู่ระหว่างการทำงานตามมาตรการ Bubble and Seal ในการสร้างทีมและสร้างนวัตกรรมใหม่ ขณะเดียวกัน แต่ละกลุ่มย่อยก็ต้องไปพูดคุยหารือกับกลุ่มย่อยอื่น ๆ เพื่อให้มีความคิดและทัศนคติเปิดกว้าง การปรับเช่นนี้ เราเองจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน ที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมองค์กร”
ธรรมศักดิ์ยังเสริมต่อว่า “หากเรารู้จักใช้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ พัฒนาศักยภาพของตนเอง เช่น เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การเรียนรู้เพื่อให้พร้อมต่อการไปทำงานที่ต่างประเทศได้ ปรับตัวเองให้มีความสามารถไปในทิศทางเดียวกับที่องค์กรกำลังมุ่งไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองที่มีค่าและจะไม่มีคำว่าเสียใจ (No Regret Move)”
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCG ยังบอกด้วยว่า ผลลัพธ์ของการทรานส์ฟอร์มของ SCG ในด้านต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ เช่น การนำธุรกิจ Packaging เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่า SCG มีความแข็งแกร่ง ส่วนด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ SCG มีความพร้อมรับความท้าทายในอนาคต โดยในระยะ 3-5 ปีจากนี้ มุ่งเดินหน้าที่ใช้ดิจิทัลและข้อมูลให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนองค์กร พัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชัน ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
“SCG กระตุ้นเรื่ององค์กรนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยที่เราทุกคนจะสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อนำมาใช้ออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมา SCG ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจระบบอัตโนมัติ (Automation System) มากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ SCG กำลังมุ่งไป ถ้ามองภาพใหญ่ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคการผลิตต่าง ๆ หากเราไม่ทำอะไร แต่หากเราเพิ่มเรื่องการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงาน ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ เช่นเดียวกับประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มมากขึ้น หลายโรงงานของ SCG ใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะงานที่มีความซ้ำและความเสี่ยง โดยยังคงใช้คนเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ ถือเป็นการลงทุนด้านนวัตกรรมของเราอย่างหนึ่ง”
แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า SCG ไม่หยุดมองหา “โอกาสทางธุรกิจใหม่” โดย “ธรรมศักดิ์” ขยายความว่า SCG จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ประเมินแล้วว่าสามารถสร้างโอกาส และเป็นทิศทางที่สอดคล้องไปกับเทรนด์โลกที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance - ESG) โดยเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจรด้าน Circular Economy, Medical & Healthcare และยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ที่กำลังเติบโตสูง
ธุรกิจของ SCG ยังคงแข็งแกร่งและเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและในยุโรป เช่น ธุรกิจ Packaging อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนในบริษัท Deltalab, S.L. ในประเทศสเปน เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตอบสนองเมกะเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพ ขณะที่ ธุรกิจเคมิคอลส์ก็ได้ลงนามในสัญญา ร่วมกับ Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย รวมถึงลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถนำความได้เปรียบนี้ไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้
“สำหรับการปรับธุรกิจให้ตอบเทรนด์ของโลก เราต้องศึกษาและประเมินว่า จุดใดที่เราสามารถใช้ความเชี่ยวชาญเข้าไปพัฒนาและสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจได้ เช่น ด้าน EV ซึ่งครอบคลุมในหลายมิติมาก และมีผลกระทบกับเรื่องพลังงานสะอาดและราคาน้ำมันในอนาคต การศึกษา การทดสอบรูปแบบทางธุรกิจในเรื่องนี้เรายังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว จึงต้องมองให้ชัดว่าจุดไหนจะเหมาะกับการลงทุนและสร้างมูลค่าได้สูงสุดมากกว่า ซึ่งปัจจุบัน SCG อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีบริการจัดหายานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle) สำหรับลูกค้าธุรกิจและองค์กร”
จะเห็นได้ว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างการระบาดของโควิด 19 นอกจากการตั้งสติรับมือกับปัญหาแล้ว ยังต้อง “ปรับตัว” เพื่อความอยู่รอดด้วยนวัตกรรม ท่ามกลางวิกฤตนำมาซึ่งโอกาสสำหรับผู้ที่มองเห็น คว้าได้ทันท่วงที และนั่นคือ ทางรอดของผู้คนและภาคธุรกิจอย่าง SCG
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด