NIA ร่วมกับ SMI เปิดบริการ 'IOP' ปิดจุดอ่อน SME เข้าไม่ถึงนวัตกรรม | Techsauce

NIA ร่วมกับ SMI เปิดบริการ 'IOP' ปิดจุดอ่อน SME เข้าไม่ถึงนวัตกรรม

NIA ร่วมกับสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดตัวโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program : IOP 

โดยนำร่องสำหรับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถยกระดับธุรกิจด้วยนวัตกรรมได้มากขึ้น แบ่งเป็นการประเมินศักยภาพนวัตกรรมขององค์กรออนไลน์ การประเมินเพื่อระบุโอกาสในการพัฒนาศักยภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ และการคำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมองค์กร โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้แต่ละธุรกิจมีขีดความสามารถในมิติต่างๆ ที่ดีขึ้น อาทิ ด้านบุคลากร ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม ด้านกระบวนการนวัตกรรม 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้ง SME และสตาร์ทอัพในการนำนวัตกรรมมาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มธุรกิจดังกล่าวถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่ “เศรษฐกิจ 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของ GDP การจ้างงาน 

รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีต่อความน่าลงทุนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่ายังมี SME จำนวนไม่น้อยที่ยังขาดการเข้าถึงนวัตกรรม และยังไม่สามารถนำองค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงกระบวนการที่แตกต่างมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องหันมาให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้การทำธุรกิจเหล่านี้มีการเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง และมีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติมากขึ้น NIA จึงได้ริเริ่มโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program : IOP เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพ เกิดความรู้และเข้าใจในการบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร และทราบสถานะระดับความสามารถทางนวัตกรรมของตนเอง เพื่อให้สามารถกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำไปสู่การยกระดับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ โปรแกรม IOP มีการให้บริการเพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมกับองค์กรใน 3 ระดับคือ การประเมินศักยภาพนวัตกรรมขององค์กรด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ (Online Self Evaluation) การเข้าประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบุโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ (On-site Assessment) และการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมองค์กร (Development Program) 

“ที่ผ่านมาการวัดขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยพบว่า จุดอ่อนที่สำคัญคือการเข้าถึงนวัตกรรม จึงทำให้การแข่งขันของธุรกิจและอุตสาหกรรมยังปรับตัวได้ไม่เต็มที่ NIA จึงมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการตระหนักว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งในยุคปัจจุบันที่เรียกกันว่ายุคดิจิทัลนั้น ผู้คนมีแนวคิดและกรอบการดำเนินชีวิตที่มีความเป็นปัจเจก มักแสวงหาแนวทางใหม่อยู่เสมอ 

ดังนั้น “นวัตกรรม” จึงเป็นคำตอบสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้ทุกองค์กรเลิกมองว่านวัตกรรมเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องของคนเก่ง หรือเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากทุกคนสามารถพัฒนาและออกแบบเพื่อปรับใช้ตามแนวทางที่เหมาะสมได้อย่างเท่าเทียมกัน”

คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในโลกของการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่ไร้พรหมแดน ยุคแห่ง Disruption การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เข้มแข็ง สร้างความแตกต่างหรือความโดดเด่นต่อธุรกิจ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในองค์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก 

ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ทำหน้าที่ให้บริการด้านต่างๆ แก่สมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการ SME ให้มากขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพสมาชิกให้สามารถแข่งในตลาดโลกได้นั้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง NIA และ SMI ในโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรนี้ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสร้างความรู้ ความเข้าใจ และขีดความสามารถด้านนวัตกรรมผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพด้วยนวัตกรรม”

คุณปรีชา ส่งวัฒนา ประธานคณะกรรมการ SMI กล่าวว่า “สถาบัน SMI ได้ร่วมมือกับ NIA ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการประเมิน IOP ที่ NIA มีระบบอยู่แล้ว ซึ่งแต่ก่อนนี้ใช้กับผู้ประกอบการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะรายใหญ่ที่จะเข้าสู่ตลาด MAI แต่ครั้งนี้ได้ร่วมมือกันในการพัฒนา IOP สู่ระบบ Online และปรับเนื้อหาให้ตรงกับ SMEs มากขึ้น 

8 มิติที่สำคัญ

1.มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม เป็นการวางยุทธศาสตร์และแผนงานด้านนวัตกรรมในระยะยาวสำหรับองค์กร

 2.มิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ เป็นการวางเป้าหมายการเติบโตด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจ 

3.มิติด้านกระบวนการ เป็นการวางโครงสร้างกระบวนการด้านนวัตกรรมขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

4.มิติด้านผลิตผล เป็นการวางแนวทางการติดตามและประเมินผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมขององค์กร 

5. มิติด้านบุคลากร เป็นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน 

6.มิติด้านองค์ความรู้ เป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทั้งจากภายในและภายนอก 

7.มิติด้านวัฒนธรรม เป็นการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ และ 

8.มิติด้านทรัพยากร เป็นการออกแบบการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อกิจกรรมนวัตกรรม” 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...