กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และพันธมิตรองค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และเครือข่ายบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารอีกมากมาย เปิดโครงการ “SPACE-F ปี 6: โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตฟู้ดเทคสตาร์ทอัพระดับสากลแห่งแรกของประเทศไทย” เพื่อสานต่อความสำเร็จจากปีที่ 5 โดยมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนานวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมอาหารทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 20 ราย แบ่งเป็น Incubator Program 10 ราย และ Accelerator Program 10 ราย ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ โอกาสการเข้าถึงเครือข่ายและแหล่งเงินทุนเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด อีกด้วย
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “NIA ในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมมุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมภายใต้แนวคิด Groom – Grant – Growth – Global ซึ่งพร้อมจะสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งมิติเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ ยังมุ่งผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศคือ “นวัตกรรมอาหาร” ผ่านโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับสากล พร้อมช่วยผลักดันกลุ่มฟู้ดเทคสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับทุกบริบทที่เปลี่ยนแปลง”
“SPACE-F ปีที่ 6 พร้อมเดินหน้าสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ ด้วยการบ่มเพาะและเร่งการเติบโต ผ่านเครือข่ายความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และพันธมิตรอย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรทางธุรกิจ ต่อยอดแผนธุรกิจ และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด พร้อมรับมือกับความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมาโครงการ SPACE-F สามารถผลักดันให้ได้รับการระดมทุนกว่า 5,000 ล้านบาท และช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพกว่า 80 ราย จาก 18 ประเทศทั่วโลก สามารถขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนที่มีตลาดผู้บริโภคกว่า 650 ล้านคน และมีมูลค่าสูงกว่า 60,000 ล้านบาท ทำให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง และนำนวัตกรรมเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการ SPACE-F ยังมุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น "ครัวของโลก" ด้วยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การลงทุนในนวัตกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง และมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล NIA หวังว่า SPACE-F ปีที่ 6 จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของสตาร์ทอัพทุกคนในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม
ตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยมหิดล รศ. ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวเสริม “สำหรับโครงการ SPACE-F Batch 6 นี้ เรามั่นใจว่าเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการสามารถเติบโตและขยายธุรกิจไปสู่เวทีโลกได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ สตาร์ทอัพจะสามารถใช้ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกของเราได้อย่างเต็มที่ สามารถเข้าถึงคำแนะนำจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่จบการศึกษาจากสถาบันชั้นนำทั่วโลก และยังอาจได้แรงบันดาลใจและกำลังสำคัญในการทำงานจากนักศึกษาของเราอีกด้วย”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F สามารถเข้าชมได้ที่ https://www.space-f.co
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด