ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเติบโต 20% ในช่วงปี 2563-2565 รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่ให้บริการโคโลเคชั่น หรือการให้เช่าพื้นที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ มีการเติบโตอย่างมากในแง่ผู้ให้บริการที่มีการลงทุนมากขึ้นและลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าโคโลเคชั่นยังคงผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายหลักของลูกค้าที่มองหาดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย สำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการความสะดวกในการเดินทางและเข้าถึงง่าย รวมทั้งระบบนิเวศที่สนับสนุนการให้บริการที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายกลับไปยังออฟฟิศของลูกค้าและระบบสาธารณูปโภคที่มีความเสถียร
เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์เป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นการเลือกตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกดาต้าเซ็นเตอร์ของลูกค้าองค์กร และผู้ให้บริการคลาวด์ทั้งหลาย โดยกรุงเทพฯ เป็นตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่สุด ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การเป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ สามารถเชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่ที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ใกล้ใจกลาง CBD เป็นที่ต้องการ เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงบริการสนับสนุนต่าง ๆ ที่เพียบพร้อมและความสามารถในตอบสนองระดับการให้บริการ (Service Level) จะช่วยลดต้นทุนขององค์กรได้อย่างเหมาะสม
การเข้าถึงระบบคมนาคม และสาธารณูปโภคหลัก ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกจากถนนหลักหลายเส้นทาง อยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่เข้า-ออกเมืองได้สะดวกรวดเร็ว ช่วยให้ลูกค้าที่ต้องเข้ามาดำเนินการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการเดินทางอีกต่อไป อีกทั้งยังมีระบบนิเวศที่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายที่หลากหลายของผู้ให้บริการโทรคมนาคม, ISP, และผู้ให้บริการเครือข่ายมากมาย
ด้วยเหตุผลข้างต้น ST Telemedia Global Data Centres (Thailand) มีกลยุทธ์ในการเลือกทำเลที่ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อแนวสามเหลี่ยม ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังกรุงเทพฯ เหนือ และไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อปฏิวัติและสร้าง Data Centre Platform สำหรับประเทศไทย
อีกทั้งเป็นที่แรกในไทยที่ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลอย่าง ST Telemedia Global Data Centres (Thailand) ได้มีการออกแบบโครงสร้างอาคารดาต้าเซ็นเตอร์เป็นอาคารสูง (Vertical Purpose Build) ในพื้นที่ Campus ส่วนตัว ซึ่งมีการศึกษาวิเคราะห์ และนำข้อมูลมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ เพื่อให้สามารถปกป้องอาคารจากน้ำท่วม โดยมีการยกระดับอาคารสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ลูกค้าตั้งแต่ชั้น 3 ขึ้นไป โดยยกระดับความสูงจาก Mean Sea Level ถึง 12.2 เมตร ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและข้อมูลอย่างแน่นอน รวมถึงไม่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุ ไฟป่า และน้ำท่วม เป็นต้น
ปัจจุบัน ข้อมูลถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคนิวนอร์มอล ดังนั้น ข้อมูลจึงควรถูกจัดเก็บในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีจึงไม่ควรประนีประนอมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยเนื่องจากหากถูกละเมิดทางข้อมูลอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อองค์กร เราจึงควรพิจารณาเลือกดาต้าเซ็นเตอร์ที่ได้รับมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับสากล อาทิ TIA-942 Certification, Uptime Institute Tier III Certification ซึ่งจะให้การรับรองครอบคลุมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคมและองค์ประกอบสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น ทำเลที่ตั้ง การออกแบบสถาปัตยกรรม โครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้า โครงสร้างระบบ ระบบป้องกันอัคคีภัย และความปลอดภัยทางกายภาพ และการันตีความสามารถในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในระหว่างการบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์
นอกจากนี้ ความปลอดภัยทางกายภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง อาทิ ระบบป้องกันภัยหลายชั้น (Multi-Layer Security) การควบคุมการเข้าออก กล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการประเมินความเสี่ยง Threat and Vulnerability Risk Assessment (TVRA) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่มีความปลอดภัยสูงสุด และมาตรฐาน ISO27001 (Information Security) และมาตรฐาน PCI-DSS (Payment Card Industry Data Security Standard) ซึ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการเก็บข้อมูล เพื่อปกป้องข้อมูลที่มีค่าของลูกค้าจากการรั่วไหลทุกรูปแบบ
ไม่มีทางลัดสู่ความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้นการเลือกดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญเฉพาะด้านและมีประสบการณ์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อจัดการบำรุงรักษาอัตโนมัติ บุคลากรที่มีทักษะและมีการอบรมเฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ และกระบวนการการทำงานที่เป็นระบบตามมาตรฐานสากล สามารถส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านพนักงานและการบำรุงรักษาด้านไอทีขององค์กรในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
การพิจารณาเลือกอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น หลอดไฟ LED ประหยัดไฟ ระบบหอระบายน้ำเย็นที่ไม่ใช้สารเคมี (Non-Chemical Cooling Plant) การนำน้ำที่ระบายจากหอระบายน้ำมาใช้ในห้องน้ำหรือรดน้ำต้นไม้ การเลือกใช้ทรัพยากรและแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ได้อีกด้วย
สุดท้าย การลงทุนสร้าง Substation เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าเรามีความสามารถในการขยายกำลังไฟเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าในระยะยาว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด