GEN Z ดึงวัสดุรีไซเคิลปั้นแฟชั่นรักษ์โลก ในโครงการ RECO Young Designer Competition 2020 | Techsauce

GEN Z ดึงวัสดุรีไซเคิลปั้นแฟชั่นรักษ์โลก ในโครงการ RECO Young Designer Competition 2020

“เรื่อง sustainable มันเป็นเทรนด์ของรุ่นใหม่ในระดับหนึ่ง เราแคร์เรื่องโลกมากขึ้น เพราะด้วยสื่อที่บอกทุกวันว่า โลกมันร้อนขึ้นทุกวัน” คุณนโม สัจจะรัตนะโชติ เด็ก GEN Z วัย 18 ปี จาก King’s Ely School ประเทศอังกฤษ หนึ่งในผู้เข้ารอบ 11 ทีมสุดท้ายในโครงการ RECO Young Designer Competition 2020 โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส บอกเล่าแรงบันดาลใจแนวรีไซเคิลของตัวเอง

 “จริงๆ แล้วเริ่มมาจากหนังเรื่อง ‘2012’ เป็นหนังที่ดูแล้วทำให้เรารู้สึกว่าบางทีมนุษย์ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ จนธรรมชาติมันพัง รู้สึกว่าอยากตอบแทนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติให้อะไรกับโลกมาเยอะ เลยคิดเป็นคอนเซ็ปต์ว่า เราจะทำอย่างไรไม่เพิ่มขยะในการทำงานชิ้นนี้” คุณนโม กล่าว

คุณนวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่นับวันโครงการ RECO Young Designer Competition จะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมแข่งขันในการดีไซน์แฟชั่นที่นำเอาวัสดุรีไซเคิล อย่างเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล โดยเฉพาะผ้าที่ทอจากเส้นด้ายรีไซเคิลจากขวด PET มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานแบบ Sustainable Fashion กับเรา โดยในปีที่ 9 นี้เรามีโจทย์ภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘REVIVE: Start from the Street’ ซึ่งยังคงแนวคิดหลักมาจาก 3R คือ Reduce – ลดการใช้, Reuse – ใช้ซ้ำ และ Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ของที่คนอาจมองว่าเป็นขยะกลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งพลิกมุมมองให้คนตระหนักถึงคุณค่าของวัสดุมากยิ่งขึ้น ว่ายังเอามาต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ที่เกิดประโยชน์ และมีมูลค่าเพิ่มได้ในชีวิตจริง”

“การรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป” นวีนสุดาเล่าให้ฟังว่า “ในแต่ละปี อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้นำขวดพลาสติก PET ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิลในปริมาณมากถึง 3.3 แสนตันต่อปี เพื่อส่งต่อให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องแต่งกายทั้งในและต่างประเทศ เป็นสิ่งที่เราอยากสร้างความตระหนักในสังคมวงกว้างว่า ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไม่ได้เป็นขยะ ถ้าคุณมองเห็นคุณค่าของ ‘การรีไซเคิล’ หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ มันจะสามารถสร้างรายได้ และยังสามารถลดของเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย และนั่นก็เป็นแนวคิดและที่มาของ โครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก RECO Young Designer Competition” 

โดยผลงานโดดเด่นที่ผ่านเข้ารอบ 11 ทีมสุดท้าย อาทิ ผลงาน “Revive” ของคุณวรเมธ มอญถนอม ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และคุณธนกร ศรีทอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เล่าคอนเซ็ปต์ Revive ว่า “เหมือนการชุบชีวิต ทำให้นึกถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากฤดูที่หนาวที่เหมือนตายแล้วกลับกลายเป็นฤดูใบไม้ผลิที่กำลังเบ่งบานขึ้นมา สิ่งที่กำลังฟื้นฟูขึ้นมา เปรียบระหว่างเรื่องราวของความตายกับเรื่องราวของการเกิดใหม่ เราจึงเอาวัสดุมา revive เหมือนกัน ผมเลือกใช้เทคนิคที่นำวัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น วัสดุ PET ต่างๆ เอามาต่อยอดเป็นเป็นงานศิลปะ 1 ชิ้น โดยนำมาทำเป็นลายพิมพ์ขยะที่สื่อความหมายลึกซึ้ง โดยการใช้เทคนิคการนำไปรีดกาวให้เกิดความรอยย่นระยะให้มันเป็น texture ขึ้นมาอีก 1 ชั้น มันอาจมีความไม่สมบูรณ์แบบบ้างในตัวชุด เพื่อให้เกิดอรรถรส คำนึงถึงการใช้วัสดุที่ไม่ต้องทิ้ง ในส่วนของการปักจะเลือกใช้แผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ที่ไม่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลสัตว์ สำหรับผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากขวด PET นั้น ตัวผ้าติดสีได้อย่างที่ใจต้องการเลย ชุดที่เราทำสามารถปรับเปลี่ยนไปเอาไปใช้ในการทำงานได้จริง 100% และผมก็ยังทำงานที่คำนึงถึงความสามารถในการต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้”

ด้าน คุณสาริน เสาวภาคย์ประยูร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เปิดประเด็นว่า “คอนเซ็ปต์ดีไซน์มาจากละครโน (หนึ่งในศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่น) ซึ่งจะมีการละเล่นทั้งแบบที่เงียบสงบ ให้จิตใจผ่อนคลาย กับแบบตลกขบขัน หนูเลยนำมาจากพวกกิโมโนที่เขาใส่เล่นละคร แล้วนำความใหม่เข้ามาผสมผสานด้วยสิ่งที่ทำให้ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยเราเอาวัสดุที่ไม่ใช่งานแล้วจากรถมือสอง เช่น สายเข็มขัดนิรภัย ผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ รวมถึงวัสดุที่ผลิตจาก PET มาใช้งาน คือ ลองเอามาตัด ดึง ทำให้เป็นเส้นๆ ส่วนที่สองคือ ผ้าโพลีเอสเตอร์ที่รีไซเคิลจากขวด PET ซึ่งได้รับจากอินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเมื่อนำมาพิมพ์ลายก็ติดได้ง่าย แน่นอนว่าผลงานออกแบบนี้อาจไม่เหมือนชุดธรรมดาที่มีขายอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ มันทำขึ้นมาจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเส้นใยที่มาจากการรีไซเคิลไม่ได้แตกต่างกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ทั่วไปเลย อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติมาก” 

ตบท้ายด้วยผลงาน “Passionate” จากฝีมือของคุณสรวุฒิ โภคัง ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ “ผมใช้ฟิล์มกล้องถ่ายรูปที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นของที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร นำมาเล่นกับแสงเงาแล้วดัดแปลงเป็นเทคนิคภาพต่างๆ ออกแบบเป็นชุดที่สามารถสวมใส่ได้ เป็น ready to wear พอได้มาทำงานจริงในฐานะคนผลิต มันไม่ยากเลยที่จะเอาวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าให้คนใส่ได้ทั่วไป”

“เอาจริงนะ” คุณสรวุฒิ เล่าต่อ “ตอนที่เห็นผ้าที่บอกว่ามาจากการรีไซเคิล เราไม่รู้เลยว่าขวด PET มันสามารถนำมาทำเป็นผ้าผืนใหม่ได้ขนาดนี้ แต่พอเริ่มต้นทำงานจริง ได้รับความรู้ตอนเวิร์คช็อปและคำแนะนำจากอาจารย์ ก็พบว่าสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีคุณค่าได้ ดังนั้น Sustainable Fashion ต้องเริ่มจากตัวเราที่เป็นดีไซเนอร์เองด้วย ว่าจะสามารถแปลงวัสดุให้มีมูลค่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืนได้อย่างไร”

ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส หวังว่าการประกวดนี้จะสามารถจุดประกายความฝัน เปิดประสบการณ์ ปลูกฝังแนวคิด Sustainable Fashion รวมทั้งช่วยสนับสนุนพัฒนาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานรักษ์โลก และสามารถนำผลงานมา REVIVE ให้แฟชั่นรีไซเคิลได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...