Trend เทคโนโลยี Cloud ที่ต้องจับตามองปี 2020 | Techsauce

Trend เทคโนโลยี Cloud ที่ต้องจับตามองปี 2020

ปี 2019 เป็นปีที่หลายองค์กรพบว่าแนวทาง 'one-cloud-fits-all' หรือ Cloud  เดียวสำหรับทุกอย่างนั้นใช้ไม่ได้จริง เพราะองค์กรต่างๆ ล้วนต้องการความยืดหยุ่นในการประมวลผล (run) เวิร์คโหลดของตนบนแพลตฟอร์มใดก็ได้ โดยไม่ต้องเขียนทุกอย่างใหม่เมื่อเวลาผ่านไป 

เมื่อต้องใช้ Cloud หลายระบบ องค์กรจะมองหาวิธีจัดการกับข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายสภาพแวดล้อมและความซับซ้อนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ มัลติ Cloud แบบไฮบริดจะกลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรหลายแห่งเลือกใช้ เพราะเป็นวิธีย้ายเวิร์คโหลดไปยังระบบ Cloud ที่ทั้งยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และหลีกเลี่ยงการผูกขาดกับเวนเดอร์เจ้าใดเจ้าหนึ่งอีกด้วย 

แนวโน้มดังกล่าวจะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิมในปี 2020 เพราะธุรกิจในทุกภาคส่วนจะหันมาใช้กลยุทธ์มัลติ Cloud แบบไฮบริดเพื่อให้สามารถพัฒนาและนำแอพพลิเคชันออกใช้งานได้ในเวลาอันสั้น ช่วยให้ธุรกิจพลิกโฉมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้น และมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า

ในขณะเดียวกัน องค์กรก็จะหันมาใช้โซลูชันการเข้ารหัสและปกป้องข้อมูลที่ล้ำสมัยมากขึ้น เพื่อให้ระบบ Cloud ขององค์กรปลอดภัยอยู่เสมอแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้องค์กร ยังจะเปิดรับเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง Edge พร้อมกับเริ่มนำเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ มาใช้เพื่อให้สามารถจัดการดูแลอีโคซิสเต็มของระบบ Cloud ที่สลับซับซ้อนให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

5 แนวโน้มที่ IBM คาดว่าจะได้เห็นในปี 2020 เมื่อองค์กรเดินหน้าต่อในเส้นทางของระบบ Cloud

มีดังนี้

1. เมื่อมี 5G องค์กรจะหันมาใช้ Edge เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ไฮบริด Cloud มากขึ้น

เมื่อพิจารณาจากหลายๆ ด้านแล้วอาจกล่าวได้ว่า การประมวลผลข้อมูลใกล้กับจุดที่เกิดข้อมูลนั้นมากที่สุดหรือ Edge Computing คือยุคต่อไปของระบบ Cloud ซึ่งจะนำสู่ประโยชน์ อาทิ โรงงานสามารถบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่คาดว่าจะทำงานบกพร่องก่อนที่จะเกิดเหตุได้ ผู้ค้าปลีกจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลแนวโน้มการซื้อสินค้าของลูกค้าที่อัพเดทเร็วขึ้น และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือก็สามารถรองรับการเล่นเกมบนมือถือและเทคโนโลยี Augmented Reality ได้ 5G คือองค์ประกอบที่สำคัญมาก เมื่อมีองค์กรที่ต้องการใช้ Edge เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ไฮบริด Cloud  มากขึ้น ไฮบริด Cloud  จะยังคงทำหน้าที่เป็น Aggregation Point สำหรับข้อมูลและฟังก์ชัน back-end ที่เกี่ยวข้องที่สุด ในขณะที่ Edge สามารถรองรับระบบวิเคราะห์และฟังก์ชันที่เป็นหัวใจสำคัญแบบเรียลไทม์ ณ จุดที่ข้อมูลถูกสร้างขึ้นและมีการดำเนินการกับข้อมูลนั้น  

5G คือเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้ Edge เป็นจริงได้ เพราะมีความเร็วสูงกว่าและมีแบนด์วิธกว้างกว่า ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการลดความหน่วงของข้อมูลให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเครือข่ายเซลลูลาร์เริ่มเข้าสู่ยุค 5G อีโคซิสเต็มของระบบไฮบริด Cloud ก็จะหันมาใช้ประโยชน์จากการประมวลผลข้อมูลที่บริเวณขอบเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีการคาดการณ์ในรายงาน Mobile Economy ของ GSMA ว่านวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมานั้นจะช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจทั่วโลกสูงถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 15 ปีข้างหน้า

2. ระบบอัตโนมัติ (Automation) จะมีบทบาทสำคัญในเฟสต่อไปของมัลติ Cloud แบบไฮบริด

จำนวนบริษัทที่นำกลยุทธ์มัลติ Cloud แบบไฮบริดมาใช้นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะได้ประโยชน์จากการที่สามารถย้ายแอพพลิเคชันธุรกิจที่สำคัญระดับ Mission-critical มายังสภาพแวดล้อมแบบใดก็ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cloud  สาธารณะ Cloud ภายในองค์กร หรือ Cloud ส่วนตัว จึงทำให้ไฮบริด Cloud  กลายเป็นโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอยู่ในแผนการในอนาคตของผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านไอทีเกือบ 80% อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบที่แท้จริงของสภาพแวดล้อมแบบไฮบริด ทั้งในด้านความสามารถในการรับมือต่อการถูกโจมตี ความสามารถในการปรับขยาย และการรองรับแอพพลิเคชัน API และข้อมูลหลายประเภท กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมนี้มีความซับซ้อน 

เมื่อต้องใช้ Cloud หลายระบบ องค์กรจะต้องมองหาวิธีจัดการกับความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้จะกลายเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของกลยุทธ์ Cloud ขององค์กรเลยทีเดียว และในท้ายที่สุดจะทำให้เกิดเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ ขึ้นในปี 2020 เพื่อจัดการกับความซับซ้อนในส่วนนี้ โดยในช่วงแรกจะเป็นการนำเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน

นอกจากเครื่องมือจะมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว แดชบอร์ดที่แสดงภาพรวมการทำงานของระบบ Cloud  ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ดูแลระบบ และช่วยให้องค์กรสามารถปรับแต่งสภาพแวดล้อมของตนเพื่อจัดวางเวิร์คโหลดให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ควบคุมค่าใช้จ่าย และจัดการกับคีย์ระบบความปลอดภัยและการเข้ารหัสอย่างมีประสิทธิภาพ 

3. “ศูนย์บัญชาการ” (Command Center) ด้านความปลอดภัยจะผุดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ไฮบริด Cloud

ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีประมาณ 60% มองว่าความปลอดภัยเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการเลือกผู้ให้บริการระบบ Cloud  แต่การจัดการกับปัญหานี้ภายในสภาพแวดล้อมแบบมัลติ Cloud ยังคงมีความซับซ้อน เนื่องจากข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ในหลายสภาพแวดล้อม ในปีนี้ เราคาดว่าจะเห็นเครื่องมือที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น และสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุได้เร็วขึ้นผ่านทางแดชบอร์ดที่ช่วยรวมการจัดการทุกอย่างไว้ในที่เดียว และการมีศูนย์บัญชาการเพียงหนึ่งเดียว หรือที่แต่เดิมเรียกว่าศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัย (Security Operation Center หรือ SOC) นั้น จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่านี่คือพื้นที่ที่กำลังวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว

การถือกำเนิดของ DevSecOps ซึ่งผนวกรวมความปลอดภัยไว้ตั้งแต่เริ่มแรกในกระบวนการพัฒนา คืออีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าในปี 2020 เราจะได้เห็นอีโคซิสเต็มด้านความปลอดภัยที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น 

4. มีการเปิดรับระบบ Cloud เฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากภาคการเงินการธนาคาร

เมื่อองค์กรหันมาใช้ระบบ Cloud  ก็ย่อมมองหาโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจนั้นได้อย่างตรงจุด และคุณสมบัติที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่มีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ก็คือการช่วยลดภาระในด้านการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้โดย Thomson Reuters ซึ่งพบว่าองค์กรที่ให้บริการด้านการเงินต้องจัดการกับการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับถึง 220 เรื่องต่อวัน และมีถึง 71% ที่คาดว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป

ในปี 2019 ได้มีการเปิดตัวระบบ Cloud สาธารณะสำหรับบริการด้านการเงินขึ้น โดย Bank of America จะใช้ระบบดังกล่าวในการโฮสต์แอพพลิเคชันและเวิร์คโหลดหลักๆ เพื่อให้บริการลูกค้าธนาคารจำนวน 66 ล้านราย ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันที่สำคัญ และยังเป็นแม่แบบที่เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย

ประเด็นน่าสนใจ จากการศึกษาโดย IBM พบว่าในปัจจุบันมีองค์กรเพียง 40% ทั่วโลกที่มีทักษะและกลยุทธ์พร้อมสำหรับจัดการกับสภาพแวดล้อมแบบมัลติ Cloud  และนี่ก็คือเรื่องที่ระบบ Cloud เฉพาะด้านสำหรับแต่ละภาคธุรกิจสามารถช่วยองค์กรได้ เพราะจะทำให้องค์กรไม่ต้องวุ่นวายกับความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมระบบ Cloud  ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ตอบแบบสำรวจล่าสุดจำนวน 61% จึงระบุว่าข้อดีที่สำคัญที่สุดของการเปิดรับบริการ Cloud เฉพาะด้านสำหรับแต่ละภาคธุรกิจนั้นก็คือความง่ายในการจัดการและดูแลระบบนั่นเอง

5. เครื่องมือแบบโอเพ่นซอร์สจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และทำให้คูเบอร์นิทิสเป็นสิ่งที่ลูกค้าทั่วไปเข้าถึงได้

เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สกำลังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบ Cloud  ในปี 2019 องค์กรหลายแห่งได้หันมาใช้ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สเพื่อเพิ่มความทันสมัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร และทำให้การเปิดรับระบบมัลติ Cloud แบบไฮบริดเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และในปี 2020 นักพัฒนาจะหันมาเน้นเรื่องเครื่องมือที่สามารถรองรับการนำแอพพลิเคชันออกใช้งานแบบรวดเร็ว (Rapid Deployment) ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องมีเพื่อคงความเป็นผู้นำในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

สิ่งนี้จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ Continuous Delivery ในวงกว้าง โดยที่องค์กรต่างๆ จะหันมาใช้วิธีการสร้าง ทดสอบ และนำออกใช้อย่างรวดเร็วตามหลักการ DevOps นอกจากนี้โมเดล Continuous Delivery ก็กำลังเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาแอพพลิเคชันแบบ cloud-native ที่เพิ่มมากขึ้น โดยแอพพลิเคชันเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อนำไปใช้ผ่านทางคอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนติส ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้หันมาใช้คูเบอร์นิทิสและ OpenShift มากขึ้นในปี 2020 ก็จะเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีอย่าง Red Hat Operators เข้ามาใช้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในอีโคซิสเต็มของคูเบอร์นิทิสด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...