การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการกลั่นแกล้งของอาเซียน นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกในระดับภูมิภาคต่อประเด็นดังกล่าว โดยมีผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมทั่วทั้งอาเซียนกว่า 50 คนเข้าร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างกำหนดให้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เป็นส่วนหนึ่งของโร้ดแมพในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคดิจิทัล สำหรับประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพอาเซียนในปี 2562 ได้ตระหนักถึงการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย อันถือเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทยในอนาคต ยังผลต่อการเติบโตทางเศรฐกิจและสังคม
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์การป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ดังนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาและพูดคุยในระดับภูมิภาค สร้างสภาพแวดล้อมทางออนไลน์ที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ โดยผลจากการพูดคุยในวันนี้ จะได้รับการเสนอต่อที่ที่ประชุมแผนยุทธศาสตร์อาเซียน เพื่อให้ประเด็นดังกล่าวกำหนดอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละประเทศ
ดร.กษิติธร ภูภารดัย รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า กล่าวว่า ดีป้ามีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในเด็กและเยาวชนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของดีป้า ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเวิร์คช็อประดับภูมิภาค โดยความร่วมมือกับ Telenor Group และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เรามีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการนำผลลัพธ์จากการเวิร์คช็อปในครั้งนี้ เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในการป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ต่อไปในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นโครงการต่อเนื่องจากพันธมิตรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ต่อไป
Telenor Group ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจในการเป็นผู้นำเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางโลกออนไลน์แก่เด็กและเยาวชน โดยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรธุรกิจในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายสากล (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยข้อริเริ่มอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ได้รับการสนับสนุนโดยยูนิเซฟ พาเร้นท์โซน ตลอดจนบริษัทเครือข่ายในอาเซียน ได้แก่ ดิจิ ดีแทค และ Telenor Group, เมียนมาร์
คุณอลิซาเบท เบอริ่ง หัวหน้าสายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน Telenor Group กล่าวว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้นนำมาทั้งโอกาสมหาศาลและความเสี่ยง มาตรการเชิงรุกมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบางจากความเสี่ยงจากภัยที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารให้เต็มศักยภาพ เราเชื่ออย่างยิ่งว่า การสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อเด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหาและทำให้ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแข็งแกร่งขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากพันธมิตรองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ แล้ว เราเชื่อว่าสามารถมีบทบาทที่สำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศน์ที่ดี เป้าหมายของการเวิร์คช็อประดับอาเซียนในวันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการรวบรวมความคิดเห็นที่หลากหลายจากตัวแทนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนสนับสนุนครูอาจารย์และผู้ปกครองในการแนะแนวทางในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ”
ขณะเดียวกัน การเวิร์คช็อปในครั้งนี้ ยังมุ่งหวังให้เกิดแรงสนับสนุน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรในระดับภูมิภาค อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ให้บริการดิจิทัลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในกลุ่ม Telenor Group ต่างมีบทบาทในการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน การเข้าถึงฮอตไลน์ให้คำปรึกษา การเข้าถึงเครื่องมือควบคุม กระบวนการการรายงานผลกระทบ ตลอดจนนโยบายในการป้องกันสิทธิเด็ก
นอกจากนี้ Telenor Group ยังได้ดำเนินโครงการ Be Smart, Use Heart เพื่อส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย โดยตั้งเป้าในการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ปกครองกว่า 4 ล้านคนทั่วโลก ภายในสิ้นปี 2563 โดยเป้าหมายดังกล่าวเป็นการต่อยอดและขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด