เข้าใจในความหลากหลาย ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม | Techsauce

เข้าใจในความหลากหลาย ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

เพราะโลกของเรามีหลากสีสัน การยอมรับความแตกต่างของบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำ ทั้งนี้ยังมีเรื่องราวของความไม่เท่าเทียมต่างๆ ที่สังคมควรตระหนักและทำความเข้าใจถึงความหลากหลายอีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนชายขอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวสี ชาวชนบท ผู้ถูกเลือกปฏิบัติในสังคม ฯลฯ เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม เคารพในความหลากหลายและยอมรับในความแตกต่างของบุคคลทุกคน

เมื่อเร็วๆ นี้ Thoughtworks  บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร่วมกับ Coinbase  Lineman Wongnai  และ True Virtual World ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล Pride Month เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อความหลากหลายของผู้คน ในหัวข้อ “A meaningful  change beyond Pride” ผ่าน Live สด 

เพื่อเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้สังคมได้ตระหนักและเข้าใจถึงความหลากหลายและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะเดือนมิถุนายนที่ฉลองเทศกาล Pride Month เท่านั้น โดยมี ชัญนัน เศรษฐ์พิทักษ์  Scrum Master จาก True Virtual World รัชพล บางสาลี Quality Analyst จาก Thoughtworks อริยา ตัณฑสุทธิ์  UX-UI Designer จาก Lineman Wongnai  และ ธนาอร ปุญเกษม Senior Product Designer จาก Coinbase ดำเนินรายการโดย รัตนวลี กิดาการ  Experience Designer จาก Thoughtworks

ประเด็นแรกจากเวทีสนทนาเริ่มต้นที่ความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIA+  ซึ่งทางกลุ่ม LGBTQIA+  ต้องการให้ทุกคนปฏิบัติกับพวกเขาเฉกเช่นคนปกติทั่วไป เพราะสุดท้ายทุกๆ คน จะมีความเท่าเทียมกัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทต่างๆ จะตระหนักในเรื่องนี้  ก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัท จะมีการถามว่าจะให้เรียกสรรพนามว่า เขาหรือเธอ เพราะบางคนไม่สามารถดูจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ เช่น มี Transgender บางคนอยู่ในเพศสภาพผู้ชายแต่ใจเป็นผู้หญิงต้องการให้คนเรียกเป็นเขาหรือเธอ ก็ควรเคารพเขาในจุดนั้นและไม่ควรตัดสินใครจากเพศสภาพ  

สำหรับอุปสรรคในการทำงานของกลุ่ม LGBTQIA+ จากการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานในองค์กรสาย Tech พบว่าสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่เคยเจอปัญหาบูลลี่ หรือทำให้ไม่สบายใจ แต่กิจกรรมนอกเหนือการทำงาน เช่น สังคมภายนอกยังต้องพบเจอคนที่มี Mindset มองกลุ่ม LGBTQIA+ แบบไม่เหมาะสมนัก รวมถึงในกลุ่มเพื่อน ซึ่งพอประกาศตัวว่าเป็นคนกลุ่มนี้ เพื่อนๆ ก็จะเริ่มหายไป 

ที่สำคัญ คำนำหน้านามที่ใช้ในสถานที่ต่างๆ ไม่ควรมาแยกแยะ และไม่ควรมีสิ่งที่ต้องมากำหนดคำนำหน้า เพราะทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้คำนำหน้าตัวเอง อย่างเช่น กรณีไปโรงพยาบาล มีคนเรียกคำนำหน้าว่านาย ทั้งที่เพศสภาพเป็นหญิงสาว ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดีต่อหน้าสาธารณะ จะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตในสังคมของกลุ่ม LGBTQIA+ ยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง อาจจะไม่รบกวนปัญหาในชีวิตประจำวันแต่รบกวนสภาพจิตใจ

ในฝั่งของประเทศที่ก้าวหน้ามากอย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นดินแดนที่เรียกได้ว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ทว่าในแต่ละรัฐก็จะแตกต่างกันออกไป ด้วยผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ปรากฏว่าบริษัทสตาร์ทอัพในแถบตอนใต้ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม (Conservative) ในเรื่องนี้  โดยมองภาพของผู้หญิงว่าจะต้องไว้ผมยาวและใส่กระโปรง 

ทำให้ผู้จัดการตั้งคำถามกับพนักงานในกลุ่ม LGBTQIA+ ว่า “คุณเป็นผู้หญิงทำไมไม่ไว้ผมยาวและไม่ใส่กระโปรง” ซึ่งพนักงานคนนั้นได้ตอบกลับไปว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งตัดสินว่าผู้ชายต้องไว้ผมยาวหรือผมสั้น ผู้หญิงต้องไว้ผมยาวและต้องใส่กระโปรง” พร้อมกับพยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างว่าท้ายที่สุดแล้วเป็นทางเลือกของเขาคนนั้น และเป็นสิทธิ์ที่จะใส่ในสิ่งที่เราต้องการจะเป็น ในที่สุดผู้จัดการก็เข้าใจ หลังจากที่เปลี่ยนมาทำงานในบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีก็ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน บริษัทค่อนข้างจะตระหนักในเรื่องนี้ โดยจัดคอร์สฝึกอบรมเรื่องการเคารพและยอมรับคนที่มีความแตกต่างกันด้วย

ในบริษัทสาย Tech  คนทำงานจะค่อนข้างเปิดรับในเรื่องต่างๆ จึงไม่เจอปัญหากับคนหัวเก่าหรือถ้าเจอแต่น้อยมาก ซึ่งอาจจะเฉพาะในวงการสาย Tech เท่านั้น แต่ในวงการทำงานในไทยทั่วไป ในกลุ่ม LGBTQIA+ ยังมีปัญหาอยู่บ้างในการใช้คำจำแนก ให้แตกต่างหรือไม่ยอมรับความแตกต่างตรงนี้ ตัวอย่างเห็นได้ชัด คือ พยาบาล สิ่งที่เขาอึดอัดมาตลอดคือ ไม่สามารถแต่งกายเพื่อสะท้อนเพศสภาพได้ ซึ่งอาจจะต้องมาทบทวนกันใหม่ว่ามีผลต่อการดูแลคนไข้หรือมีผลต่อวัตถุประสงค์ของอาชีพจริงๆ หรือไม่ 

บางบริษัทที่ประกาศว่าสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ แต่ในใบสมัครยังมีระบุข้อความผู้ชายให้แต่งกายแบบนี้ หรือผู้หญิงให้แต่งกายแบบนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วแค่แต่งกายให้สุภาพก็น่าจะเพียงพอโดยไม่ต้องแบ่งแยกหญิงชาย เพราะการแบ่งแยกหญิงชายเป็นการแบ่งทางชีวภาพเท่านั้น จะเห็นได้ว่ายังมีมุมมองแบบนี้ในวงการการทำงานในไทยอีกมาก 

สำหรับการระบุการแต่งกายของพนักงาน น่าจะขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการให้พนักงานแต่งกายตามที่ต้องการ ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนมุมมองว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน พนักงานจะแต่งตัวแบบไหน แต่งหน้าแบบไหนก็ทำงานได้ เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าถ้าแต่งตัวแบบนี้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพน้อยลง 

ขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหาเรื่องการแต่งตัวในการทำงานเพื่อสะท้อนเพศสภาพเหมือนประเทศไทยแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะสังคมค่อนข้างมีเสรีภาพ (Liberal)  คือมีระบบกฎหมายที่ครอบคลุมชัดเจน ทั้งกฎหมายและนโยบายของบริษัท ถ้าต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนั้น ก็สามารถแจ้งฝ่าย HR  ได้ทันที ค่อนข้างให้คนเคารพในความแตกต่างค่อนข้างมาก ไม่เฉพาะเพศสภาพอย่างเดียว รวมถึงการบูลลี่ต่างๆ ด้วย  

ในโลกของการทำงาน กลุ่ม LGBTQIA+ มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของ LGBTQIA+  สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ คือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากเผชิญกับอุปสรรค (Resilience) ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการทำงานสาย Tech และสายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องนำสิ่งที่ดีให้แก่ผู้บริโภค ถ้าสามารถสร้างวัฒนธรรมของทีมงาน ที่ทุกคนยอมรับในเรื่องความแตกต่าง (Diversity) จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้ และสามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เพื่อแบ่งปันความคิดและมีโซลูชันใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค

อีกหนึ่งมุมมองที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของคนกลุ่มนี้คือ การก้าวผ่านจุดที่ยากที่สุดของชีวิต หลังจากที่ประกาศต่อสังคมและเจอ Feedback ที่ไม่ดี และในที่สุดก็ผ่านตรงนั้นมาได้ ทำให้สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ไม่ตรงกับมุมมองของเราได้ดีขึ้น ทำให้เข้าใจว่าทุกคนมีความหลากหลายด้านความคิด มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ในมุมที่แตกต่างกัน โดยนำจุดแข็งตรงนี้มาปรับใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิต ทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ ทำงานได้อย่างอึดและอดทน 

ทุกวันนี้ยังมีคำนำหน้า หรือเพศที่ระบุในบัตรประชาชนของไทย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคของกลุ่ม LGBTQIA+ เมื่อจะต้องใช้ชีวิตในต่างแดน โดยมีข้อเสนอให้ยึดคำนำหน้าจากพาสปอร์ตและบัตรประชาชน สำหรับพาสปอร์ตไทยควรจะเปิดกว้างให้เจ้าของยืนยันและเลือกคำนำหน้าตามที่เจ้าตัวต้องการ ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลา แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยพัฒนาในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก หวังว่าในเร็วๆ นี้ประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้สามารถเลือกคำนำหน้าในเอกสารสำคัญทางราชการได้  และอีกไม่นานคงได้เห็นประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เท่าเทียมกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...