วัคซีน COVID-19 ความหวัง ทางเลือก และทางรอด ของคนไทย | Techsauce

วัคซีน COVID-19 ความหวัง ทางเลือก และทางรอด ของคนไทย

หลังจากผ่านพ้นปฏิทินปี 2021 มา 5 เดือนเต็ม ในที่สุดประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ขั้นต่อไปของการ “ฉีดวัคซีน” ไวรัสโควิด-19 หรืออีกนัยหนึ่ง คือการเปิดให้ประชากรไทยลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม”เพื่อเตรียมตัวรับวัคซีนอย่างทั่วถึง

แต่ประเด็นที่ใครหลายคนอยากรู้ก่อนจรดนิ้วลงทะเบียน คงหนีไม่พ้นเรื่องสองยี่ห้อวัคซีน “ม้าเต็ง” อย่าง ‘แอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca)’ และ ‘ซิโนแวค (Sinovac)’ ที่ถูกถามถึงกันไม่เว้นวัน ว่า ‘ประสิทธิภาพ’ รวมถึง ‘ผลข้างเคียง’ ที่เกิดขึ้น จะคุ้มค่าพอให้เราเลิกแขนเสื้อขึ้นฉีดหรือไม่

แต่ก่อนจะพูดเจาะลึกถึงสองม้าเต็ง เราอยากจะขยายความถึงม้าเบอร์อื่นๆ ให้ชัดเจนขึ้นเสียก่อน เพื่อง่ายต่อการเทียบข้อแตกต่าง และชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าของวัคซีนแต่ละชนิดอย่างชัดเจนที่สุด 

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด 

นายแพทย์สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษาผู้จัดการความเสี่ยง โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลกับเราว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่ 

- mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า วัคซีนชนิดนี้จะใช้สารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ออกมา โดยมี BioNTech/Pfizer และ Moderna เป็นสองยี่ห้อที่ใช้เทคโนโลยีนี้ 

- Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ โดยมีวัคซีนจาก Johnson & Johnson, Sputnik V รวมถึง ‘Oxford – AstraZeneca’ ที่ผลิตจากเทคนิคนี้ 

- Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2)  โดยการนำเอาโปรตีนบางส่วนของโควิด-19 เช่น โปรตีนส่วนหนาม มาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี ซึ่ง Novavax เป็นหนึ่งยี่ห้อที่ใช้เทคนิคนี้ในการผลิต 

- Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ซึ่งเจ้าที่ใช้เทคนิคนี้คือ Sinopharm และ ‘Sinovac’   

เมื่อรับรู้ถึงที่มาที่ไปของเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนในแต่ละชนิด ความคาดหวังต่อมาคงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านความเสี่ยง หรือ ‘ผลข้างเคียง’ ที่ดูจะมีหลายอาการจนน่าสับสัน ซึ่งจริงๆ แล้วผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ผู้มีผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักมีอาการร่วมกัน อย่าง จุดปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดฉีดวัคซีน, อาการคลื่นไส้ - มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงรู้สึกอ่อนเพลียและไม่สบายตัว ซึ่งเป็นผลข้างเคียง “ชนิดไม่รุนแรง” ที่พบแทบในวัคซีนทุกชนิด  

“ประเด็นที่คนไทยกำลังกังวลคือ ข่าวผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยเฉพาะภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา” โดย “สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่าวัคซีนชนิดนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกันกับภาวะดังกล่าว หลังมีรายงานว่ามีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก” 

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลกรายงานตรงกันว่า หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ภาวะดังกล่าวมีสัดส่วนเกิดขึ้นต่ำมาก เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว หลายฝ่ายจึงให้ข้อสรุปว่า การเดินหน้าฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 จะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้วัคซีนไปเลย”  

 ส่วนอีกหนึ่งที่กำลังเข้าสู่ประเทศไทยหลักล้านโดส อย่าง ซิโนแวค แม้ล่าสุดจะถูกเอ่ยถึงอาการข้างเคียงคล้ายอัมพฤกษ์ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจนในหัวข้อดังกล่าว 

 ด้วยรายงานต่างๆ นานา ของทั้ง แอสตร้าเซนเนกา และ ซิโนแวค อาจจะยากเสียหน่อยที่จะยกวัคซีนทั้งสองให้เป็นม้าตัวความหวังของประเทศไทย แต่อย่างน้อยที่สุดแล้วทั้งคู่ต่างก็เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลกแล้ว มีการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ และยังผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย อย่างถูกต้อง 

 โดย รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ให้ข้อมูลวัคซีนทั้งสองชนิดว่า “ในประเทศไทย จะใช้ แอสตร้าเซนเนกา ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป บริเวณต้นแขนรวม 2 โดส ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และหลีกเลี่ยงการฉีดให้กับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก ส่วน ซิโนแวค จะฉีดให้กับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี บริเวณต้นแขนรวม 2 โดสเช่นกัน แต่ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง จะต้องฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์เท่านั้น” 

“ประเทศไทยเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 ไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า, ผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคกลุ่มเสี่ยง, ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งหลังจากมีการนำเข้าวัคซีนมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มดำเนินการวางแผนงานฉีดวัคซีนให้คนทั่วไป กับโรงพยาบาล 1,500 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลพระรามเก้า ผ่านแพลตฟอร์ม หมอพร้อม” 

แพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน LINE Official Account ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป อีกทั้งยังเปิดให้ประชาชนได้ศึกษาวิธีใช้งาน รวมถึงรายละเอียดที่ต้องแจ้ง ผ่านทางเว็บไซต์ https://หมอพร้อม.com อีกด้วย 

แม้จะสรุปไม่ได้ว่าการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด เป็นทางรอดของคนไทย 100% หรือไม่ แต่เราก็เชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลของวัคซีนโควิด-19 ที่มากพอ จะช่วยสร้างความหวังให้คนไทยได้ ตัดสินใจเลือก “ทางเลือก” ในการก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยตัวเอง 

 












ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...