คุณชลิดา กีรสว่างพร อดีตพนักงานบริษัทที่ผันตัวมาเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง ภายใต้แนวคิด “farm to table” ในฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ในกรุงเทพฯ เมื่อสองปีที่ผ่านมา ด้วยแรงบันดาลใจจากปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ร้านนายน์สลัดของคุณชลิดาจึงใช้วัตถุดิบผักสดที่มาจากการปลูกเอง เพื่อให้ลูกค้าที่มาอุดหนุนได้สัมผัสทั้งประสบการณ์มื้ออาหารที่สดใหม่จากฟาร์มอย่างแท้จริง และยังได้เพลิดเพลินไปกับวิวสวนผักที่สวยงามในขณะเดียวกันอีกด้วย
สำหรับคุณชลิดาแล้ว การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เธอจึงตัดสินใจใช้ Facebook และ Instagram เป็นช่องทางหลักในการทำการตลาดให้กับทางร้าน โดยโพสต์เนื้อหาประเภทรูปภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงเมนูอาหาร บรรยากาศ และการจัดงานที่ร้านนายน์สลัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมถึงการใช้โฆษณาเพื่อโปรโมทร้านอาหารเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ของทางร้าน
นอกเหนือจากการทำการตลาดแล้ว คุณชลิดาและร้านนายน์สลัดยังได้ใช้ Facebook เพื่อรับสมัครพนักงานใหม่ ด้วยการโพสต์ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่โดยใช้เครื่องมือ Job และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งหากเดือนไหนมีการโพสต์ตำแหน่งงานใหม่ ทางร้านก็สามารถจ้างพนักงานใหม่เข้ามาได้สำเร็จในเดือนต่อไปทันที ที่ผ่านมา ทางร้านมีผู้สมัครผ่านทางเครื่องมือ Job ของ Facebook แล้วทั้งหมด 25 คน ส่งผลให้ร้านนายน์สลัดสามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างทันท่วงที โดยในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งร้านนายน์สลัด เมื่อปี 2017 คุณชลิดาได้ขยายธุรกิจของเธอและมีสาขาร้านอาหารอยู่ทั้งหมด 3 สาขาในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
คุณชลิดาถือเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจหญิงยุคใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากพลังของชุมชนและการสร้างบทสนทนาเพื่อกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ โดยในระดับโลก มีสัดส่วนของธุรกิจขนาดเล็กบน Facebook ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของและบริหารอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ Facebook ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (OECD) ได้จัดทำรายงานเรื่อง อนาคตแห่งธุรกิจ (Future of Business Report) โดยได้ทำการสำรวจธุรกิจขนาดเล็กจำนวนกว่า 90 ล้านรายทั่วโลกบน Facebook ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ยังถือว่าเป็นหนึ่งในรายงานการสำรวจเกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็กระดับโลกที่มีจำนวนมากที่สุดและกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าราว 4 ใน 10 (หรือร้อยละ 39) ของกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของหรือผู้จัดการธุรกิจขนาดเล็กบน Facebook นั้นเป็นผู้หญิง
นอกจากเราจะยกย่องความสำเร็จของผู้ประกอบการหญิงเช่นเดียวกับคุณชลิดาแล้ว ในขณะเดียวกัน เรายังตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับอุปสรรคที่ผู้หญิงยังคงเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และหาทางออกสู่โลกที่ให้โอกาสผู้คนอย่างเท่าเทียมกันในทุกเพศสภาพมากขึ้น
โอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมโดยปราศจากอคติทางเพศไม่ได้เป็นปัญหาของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน การศึกษาที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดย แมคคินซีย์ โกลบอล อินสติติวท์ (McKinsey Global Institute) ได้ประเมินว่าหากผู้หญิงที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้รับโอกาสการทำงานอย่างเท่าเทียม จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วยมูลค่าที่เท่ากับขนาดเศรษฐกิจที่รวมกันระหว่างประเทศเยอรมนีและออสเตรียในแต่ละปี
รายงานอนาคตแห่งธุรกิจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงในประเทศไทยยังคงประสบปัญหาด้านการจัดหาเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนกว่าร้อยละ 40 กล่าวว่าพวกเธอได้เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจโดยใช้เงินเก็บของพวกเธอเอง และมีเพียงจำนวน 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าพวกเธอใช้เงินที่กู้ยืมมาจากธนาคารหรือสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งเรารู้ดีว่ารายงานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับอุปสรรคที่เหล่าผู้ประกอบการหญิงในระดับภูมิภาคต้องเผชิญเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ช่วยให้เรามีความหวังมากขึ้น ความยืดหยุ่นที่มาจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ช่วยเพิ่มระดับความเท่าเทียมในสนามการแข่งขันเชิงธุรกิจ และ Facebook ยังมีความเชื่อมั่นในการสร้างแพลทฟอร์มที่ช่วยสร้างชุมชนและช่วยให้ผู้คนบนโลกใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในประเทศไทย เจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงจำนวนราวร้อยละ 90 เชื่อว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์ในการผลักดันธุรกิจของพวกเธอให้เติบโต นอกจากนี้ พวกเธอยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทเชิงบวกของชุมชนและการให้คำปรึกษา โดยเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงจำนวนราว 2 ใน 3 คน กล่าวว่าพวกเธอมีบุคคลที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง และจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเหล่านั้นระบุว่าบุคคลที่เป็นแบบอย่างของพวกเธอเป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน
ในหลายครั้ง การเชื่อมต่อและการถ่ายทอดประสบการณ์สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างการทำให้ผู้คนมีความฝัน และการช่วยให้ผู้คนทำฝันให้เป็นจริง ดังนั้น Facebook จึงยังคงเดินหน้าทำงานในโครงการ #shemeansbusiness ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ออกแบบขึ้นเพื่อช่วยผลักดันให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจของพวกเธอ โดยโครงการดังกล่าวได้มอบทั้งความช่วยเหลือทางด้านการเงิน คำแนะนำ การฝึกอบรม และชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ประกอบด้วยเหล่าที่ปรึกษาและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน โดยในปีนี้ เราได้ทำการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะเชิงดิจิทัลให้กับผู้หญิงจำนวนกว่า 73,000 คน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
“การได้เห็นชุมชนที่เติบโตไปด้วยธุรกิจขนาดย่อมต่างๆ ที่งอกเงยขึ้นบนแพลทฟอร์มของเราภายใต้การนำของผู้หญิง และการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความสำเร็จของพวกเธอนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เมื่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงสามารถเข้าถึงเงินทุน เทคโนโลยี และทักษะที่จำเป็นในการประสบความสำเร็จ ทำให้พวกเธอสามารถแบ่งปันความรู้และสร้างอนาคตทางธุรกิจร่วมกันได้อีกด้วย Facebook ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหญิงประสบความสำเร็จในโลกแห่งธุรกิจต่อไป” คุณชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Facebook Thailand กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด