บทวิเคราะห์ : 10 คำทำนาย FinTech ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2019

10 คำทำนาย FinTech ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2019 พร้อมบทวิเคราะห์

ปี 2018 เป็นปีที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมากจากธนาคารในประเทศไทย ที่มีผลกระทบเยอะสุดและได้ใจผู้ใช้มากสุดคือ การยกเว้นค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ด้วยเหตุผลว่าธนาคารต้องปรับตัวและกลัวถูกแย่งลูกค้า ปี 2019 ก็น่าจะเป็นปีที่เราน่าจะได้เห็นนวัตกรรมจากทั้งธนาคารและ FinTech ที่น่าสนใจและเปลี่ยนวิธีที่คนไทยจัดการเรื่องการเงินไม่แพ้ปี 2018

จากประสบการณ์ที่ผมได้อยู่ในวงการ FinTech  ศึกษา FinTech ในต่างประเทศ และติดตามวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของธนาคารในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ผมคิดว่า 10 สิ่งนี้น่าจะได้เห็นในบ้านเราในปีนี้

Digital Lending มาแน่นอนและจะใหญ่มาก

ธนาคารที่ประกาศแล้วว่าปีนี้จะทำการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ คือ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรี ซีไอเอ็มบี กรุงไทย ผมคิดว่าทุกที่น่าจะทำหมด เป็นที่รู้กันว่า คนไทยเป็นจำนวนมากๆๆๆอยากกู้ และจำนวนมากสิ้นหวังมีที่ไหนก็สมัครหมดและถูกปฏิเสธหมด

การให้สมัครสินเชื่อออนไลน์นั้นจะยิ่งทำให้การกู้เงินง่ายขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นรับรองว่าดีมานด์จำนวนคนสมัครนั้นมหาศาลแน่นอนเมื่อมีธนาคารไหนเปิดตัวให้สมัครได้

ที่ผมคิดว่าน่าจะปังที่สุดคือโปรเจคที่กสิกรไทยทำร่วมกับ Line ให้คนสามารถสมัครสินเชื่อบนแอป Line ได้ ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นการขอสินเชื่อที่สะดวกที่สุดแล้ว การเปิดตัวแล้วมีผู้สมัครเกิน 10 ล้านคนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

จุดที่แข่งกันคือที่ไหนจะอนุมัติได้เก่งกว่ากัน ที่ผ่านมาธนาคารแทบไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับคนเงินเดือนน้อยกว่า 30,000 บาทเลย คนพวกนี้จึงไปอยู่กับนอนแบงก์หมด และคนพวกนี้แหละที่จะเป็นคนส่วนใหญ่ที่สมัครสินเชื่อออนไลน์

ผมเชื่อว่าหลายธนาคารน่าจะกำลังพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์สินเชื่อแบบใหม่ที่กล้าอนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มที่ปกติจะถูกปฏิเสธ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกอันหนึ่งคือใครจะทำ product และ marketing ของ digital lending ให้ตรงกับกลุ่มคนที่เงินเดือนมากกว่า 30,000 บาทซึ่งมีบัตรเครดิตอยู่แล้วและธนาคารชอบ ได้ดีกว่ากัน

ธนาคารและ FinTech เข้ามาแข่งกับ Non-Bank

ตลาดสินเชื่อบุคคลของไทยมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท และเจ้าตลาดคือ Aeon ซึ่งคิดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลอยู่ที่มากสุด 28% ต่อปี กลุ่มลูกค้าหลักของ Aeon คือคนเงินเดือนน้อยกว่า 30,000 บาทที่ธนาคารปฏิเสธเพราะเสี่ยงเกินไป

ผมเชื่อว่าธนาคารจะต้องลงมาเล่นตลาดนี้ หลายธนาคารสร้างทีม Data Scientist และหาวิธีใช้ดาต้าที่ธนาคารมีให้เกิดประโยชน์

และพอเป็นการปล่อยกู้ออนไลน์แล้ว ต้นทุนในการจัดการใบสมัครสำหรับธนาคารจะต่ำลงมาก ปัจจุบันธนาคารต้องจ่ายเงินให้แมสไปเก็บและเซ็นเอกสารจากลูกค้าและมีต้นทุนคนที่ใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อ เมื่อทุกอย่างเป็นดิจิตอล ต้นทุนส่วนนี้จะหายไป ทำให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้มากขึ้น

ไม่ใช่แค่ธนาคารเท่านั้นที่เห็นโอกาส ถ้า FinTech สามารถทำกระบวนการยืนยันตัวตนตนออนไลน์ได้ในต้นทุนที่ไม่แพง (FinTech ต้องจ่ายเงินให้กับระบบ National ID เพื่อใช้ยืนยันตัวตนลูกค้าออนไลน์ ระบบ National ID นั้นพัฒนาโดยธนาคาร ซึ่งค่าธรรมเนียมการใช้งานนั้นยังไม่ได้ถูกกำหนดมา ค่าธรรมเนียมสำหรับบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารน่าจะสูงกว่าค่าธรรมเนียมที่ธนาคารต้องจ่าย เพราะธนาคารได้ลงทุนลงแรงในการพัฒนาระบบ และส่วนใหญ่เวลายืนยันตัวตน ก็จะใช้แอปธนาคารเป็นตัวยืนยัน) ถ้าค่าธรรมเนียมถูกกำหนดมาสูงมาก ฟินเทคก็อาจแข่งขันกับธนาคารได้ยาก

Point of Sale Lending การปล่อยกู้ ณ จุดขาย น่าจะมาในปีนี้

มองไปที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งสถานการณ์ FinTech ที่นั่นน่าจะใกล้เคียงกับไทยสุด นำหน้าไทยอยู่สักสองสามปี ปีที่แล้ว FinTech Startup ที่มาแรงและระดมทุนได้มากสุดคือ Kredivo และ Akulaku ซึ่งทั้งสอง Startup นั้นทำด้านการปล่อยกู้ ณ จุดขาย ช่วยให้คนซื้อของสามารถซื้อก่อน จ่ายทีหลังได้โดยไม่ต้องมีบัตรเครดิต โมเดลของ Kredivo นั้นคือเป็นช่องทางการจ่ายเงินช่องทางนึงสำหรับการซื้อของออนไลน์บนเว็บและแอปต่างๆ ส่วน Akulaku นั้นเป็นเว็บขายของที่ทุกอย่างบนเว็บนั้นผ่อนได้

ในประเทศไทยยังไม่มีใครทำจริงจัง แต่ผมว่าปีนี้เราน่าจะเห็นทั้ง Startup และธนาคารมาทำด้านนี้กัน และผลตอบรับก็น่าจะดีมาก

Payroll Loans น่าจะมาในปีนี้

จุดยากสุดของการปล่อยกู้คือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ที่ผ่านมาธนาคารจะปล่อยกู้ให้พนักงานประจำที่มีเงินเดือนเข้าบัญชีชัดเจนเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยง อาชีพอื่นจะสมัครยากมาก

ถ้าธนาคารอยากขยายการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่เมื่อก่อนธนาคารไม่กล้าปล่อย การปล่อยกู้โดยตัดบัญชีเงินเดือนที่จ่ายผ่านธนาคารนั้นเป็นโมเดลที่น่าสนใจมาก ความเสี่ยงต่ำมาก ขอแค่เช็คให้ดีว่าผู้สมัครยังทำงานอยู่ที่นั่นจริงและไม่ปล่อยกู้เกินกว่าเงินเดือน และทำได้เร็ว ไม่ต้องพัฒนาโมเดลการปล่อยกู้ใหม่

อันนี้เป็นจุดแข็งที่เฉพาะธนาคารเท่านั้นที่ทำได้ ธนาคารทำได้ค่อนข้างเร็วเพราะจ่ายเงินเดือนอยู่แล้ว ฟินเทคทำได้ลำบากมาก

ความท้าทายคือการจูงใจให้นายจ้างยอมทำด้วย เพราะนายจ้างจำนวนมากไม่อยากให้พนักงานเป็นหนี้เพิ่มและไม่อยากยุ่งเรื่องเงินเดือน

P2P Lending น่าจะเริ่มในปีนี้ และน่าจะเจาะลูกค้ากลุ่มกลางและบน

Peer-to-peer Lending หรือ ระบบกู้ยืมเงินแบบบุคคลต่อบุคคล เป็นรูปแบบฟินเทคที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยเฉพาะที่อเมริกาและจีน เพราะฟินเทคเห็นโอกาสจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก ซึ่งคือกำไรของธนาคารนั่นเอง

มี FinTech หลายรายที่ได้พยายามคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยถึงการทำ P2P Lending แต่ก็ยังไม่มีที่ไหนได้รับอนุญาต

ผ่านมา 5 ปี ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำเรื่องนี้ได้จริง แบงก์ชาติได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Peer To Peer Lending Platform เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และเพิ่งได้ทำการรับฟังเห็นของผู้ประกอบการไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ CEO ของ SCB Abacus ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง น่าจะหมายความว่า SCB Abacus กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่และน่าจะมั่นใจในตารางเวลาที่แบงก์ชาติจะให้ทำ

เพราะธนาคารคือองค์กรที่มีการพูดคุยกับแบงก์ชาติใกล้ชิดมาก และจากในหน้าสมาชิกของสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย มีสตาร์ทอัพที่เป็นสมาชิกและลงทะเบียนไว้ว่าทำเรื่อง P2P Lending เกือบ 10 ราย ไม่นับรวมบริษัทลีสซิ่งและนอนแบงก์ที่น่าจะซุ่มพัฒนาระบบ P2P Lending เช่นกัน และสตาร์ทอัพ P2P Lending จากจีน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่มีแพลตฟอร์มและโมเดลการอนุมัติอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าปีนี้ประเทศไทยจะมี P2P Lending กับเขาเสียที และน่าจะมีบริษัทที่ยื่นขอไลเซส์มากกว่า 50 เจ้า

ด้วยหลักเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดว่าให้ P2P Lending คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ต่อปี ทำให้ P2P Lending เป็นประโยชน์กับผู้กู้เป็นอย่างมาก เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงสุดอยู่ที่ 18% ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลสูงสุด 28% ช่วยให้คนกู้จ่ายดอกเบี้ยถูกลงพอสมควร

เพดานดอกเบี้ย 15% ยังทำให้กลุ่มลูกค้าของ P2P Lending แคบลงมาก น่าจะทำให้ต้องปล่อยกู้เฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ หมายความว่า P2P Lending น่าจะมุ่งเจาะกลุ่มเงินเดือน 30,000 ขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารอยู่ แข่งด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ไม่น่าจะลงไปเล่นกับลูกค้าของนอนแบงก์

QR Payment หมดกระแส ไม่สามารถไปแมสได้

สองปีที่แล้ว เราเห็นเกือบทุกธนาคารลงมาโปรโมท แข่งกันเป็น QR สำหรับร้านค้า และให้โปรโมชั่นเพื่อดึงดูดคนให้หันมาจ่ายด้วย QR เพราะอยากได้ดาต้าการซื้อของของผู้ใช้แอปธนาคาร และหวังว่ามันจะใหญ่เหมือนที่จีน

ปีนี้เราไม่เห็นธนาคารโปรโมท QR ในชีวิตประจำวันเราก็ไม่ค่อยเห็นใครจ่ายเงินด้วย QR ช่วงโปรโมชั่นเมื่อสองปีก่อน คนก็ทดลองใช้เพราะได้ส่วนลด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ เมื่อหมดโปรโมชั่น คนบางส่วนก็ยังใช้อยู่ในบางกรณี และน่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็กลับไปใช้เงินสดเหมือนเดิม ไม่น่าจะโตก้าวกระโดดกลายเป็นออปชั่นแรกในการจ่ายเงินอย่างที่เกิดในจีนที่หวังไว้ตอนแรก ยอดใช้น่าจะไปได้สุดประมาณบัตรเดบิต

เพราะะสำหรับผู้ใช้แล้วการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วเปิดแอปและสแกนนั้นไม่ได้สะดวกกว่าการหยิบเงินสดแล้วรอตังทอนแต่อย่างใด

มีผู้เล่นใหม่ในตลาด Ewallet แต่ตลาดจะโตเท่าที่โปรโมชั่นมี

เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท Central JD FinTech แถลงข่าว Dolfin Wallet ซึ่งจะเป็นอีวอลเลตตัวล่าสุดที่จะออกมาแข่งกับบรรดาแอปอีวอลเลตในตลาด

พอไปดู ewallet ของ JD ที่จีนแล้ว ผมคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะทำได้ทุกอย่างทั้งออมเงินได้ดอกเบี้ย ลงทุน และกู้เงิน เช่นเดียวกับ Alipay และ WeChat Pay ที่ประสบความสำเร็จมากที่จีน จนหลายบริษัทในไทยคาดหวังว่าจะทำได้อย่างนั้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม ewallet ที่เปิดตัวในช่วงนี้นั้นยากมากที่จะทำให้ คนเปลี่ยนพฤติกรรมโอนเงินเข้าอีวอลเลตและใช้ ewallet จ่ายเงิน เพราะแอปธนาคารพัฒนามาจนทำได้เกือบทุกอย่าง ทั้งจ่าย QR จ่ายบิลต่างๆ และโอนเงินหากันได้ฟรี และคนส่วนใหญ่ก็มีแอปธนาคารอยู่แล้วในเครื่องอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือกฎหมายไม่อนุญาตให้อีวอลเลตในไทยให้ดอกเบี้ยลูกค้าเหมือนฝากเงินธนาคารได้ เหมือนที่ ewallet ในจีนทำได้ ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่อีวอลเลตในไทยจะโตเหมือนในจีน

True Wallet ประสบความสำเร็จเป็นอีวอลเลตที่ใหญ่ที่สุด เพราะเขามี Ecosystem ที่ตอบโจทย์ในตัวเอง ทั้งเครือข่ายทรูและเซเว่นอีเลเว่น มีร้านค้าที่ผู้ใช้เข้าทุกวัน และยังทำมาก่อนยุคที่แอปธนาคารปรับตัวทัน True Wallet ทำได้ดีมากในการเจาะกลุ่มตลาดเด็กเล่นเกมเป็นเจ้าแรก และครองตลาดมายาวนาน

ปีนี้ ewallet เจ้าใหญ่ เช่น Blue Pay, Dolfin Wallet, Rabbit Line Pay น่าจะออกโปรโมชั่นมาพยายามให้คนดาวโหลดและจ่ายผ่านอีวอลเลต โดยเฉพาะกับร้านค้าที่เป็นเครือเดียวกัน พวกเขาน่าจะได้ผู้ใช้ไปเยอะอยู่

แต่ถ้าไม่มีโปรโมชั่นส่วนลด คนส่วนใหญ่ก็น่าจะไม่ใช้ กลับไปจ่ายด้วยเงินสดหรือแอปธนาคาร อาจจะยกเว้น Rabbit Line Pay ที่เมื่อผูกบัตรบีทีเอสเข้ากับ Rabbit Line Pay แล้วสะดวกมาก ไม่ต้องต่อแถวเติมเงินอีกต่อไป

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่อาจจะเห็นในปีนี้คือ ewallet ปล่อยกู้ บริษัท Central JD Fintech แถลงชัดเจนว่าพวกเขาจะทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลด้วย โดยใช้อีวอลเลตเป็นตัวนำในการให้ได้ดาต้าลูกค้า เพื่อประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ต่อไป ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นโมเดลธุรกิจที่แข่งขันและหารายได้ได้ดีกว่าการเป็นแค่ ewallet และpayment

น่าจะมีผู้บริหารสถาบันการเงินลาออกมาทำบริษัท FinTech

FinTech Startup ที่ประสบความสำเร็จมากที่อเมริกาหลายแห่งมีผู้ก่อตั้งที่มีประสบการณ์ในแวดวงการเงินการธนาคารมาก่อน เช่น Lending Club, Prosper ซึ่งช่วยได้มากเพราะฟินเทคส่วนใหญ่ต้องเจอความท้าทายด้านกฎหมายและการกำกับดูแลและการต้องคุยกับธนาคารและสถาบันการเงิน ส่วนในประเทศไทยก็มีเช่น Finnomena แต่นับว่าน้อยมาก

ผมคิดว่าในปีนี้เราน่าจะได้เห็นผู้บริหารธนาคารลงมาเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารสตาร์ทอัพ ยิ่งปีนี้จะเป็นปีที่ Digital Lending เกิด ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสมหาศาล

โมเดลน่าจะมีทั้ง ออกมาเป็นผู้ก่อตั้งเองสร้างทีมเองระดมทุนเอง หรือตั้งสตาร์ทอัพมาพาร์ตเนอร์กับธนาคารใช้ไลเซนส์ธนาคารและเงินทุนจากธนาคารในการทำธุรกิจ หรือเป็น Country Manager หรือผู้ร่วมก่อตั้งของฟินเทคต่างประเทศที่ขยายเข้ามาในไทย

การมีคนเก่งที่มีประสบการณ์ตรงมาทำ FinTech น่าจะช่วยสร้าง Startup FinTech ไทยที่น่าสนใจได้ไม่น้อย

การแข่งขันและนวัตกรรมในตลาดโอนเงินแลกเงินต่างประเทศ

ปีที่แล้วมีเหตุการณ์ 3 อย่างที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้ปีนี้เป็นปีที่มีการแข่งขันในตลาดแลกเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ หนึ่งคือธนาคารกสิกรไทยลงทุนในสตาร์ทอัพโอนเงินระหว่างประเทศ Instarem สองคือธนาคารกรุงไทยและธนาคารทีเอ็มบีออกบัตร Travel Card ให้ผู้ใช้แลกเงินได้บนแอปด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่การันตีว่าถูกมาก และสามคือ TransferWise สตาร์ทอัพด้านการโอนเงินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาตั้งออฟฟิศที่ประเทศสิงคโปร์

ปีที่แล้วเราเห็นธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ผมคิดว่าปีนี้เราน่าจะได้เห็นธนาคารหรือฟินเทคจากต่างประเทศแข่งกันออกบริการโอนเงินไปต่างประเทศในบางประเทศด้วยอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมที่โฆษณาว่าถูกที่สุด และเราน่าจะได้เห็นธนาคารอื่นๆ ออกโปรดักต์แลกเงินบนแอป คล้ายๆกับที่กรุงไทยและทีเอ็มบีทำ เพราะผลตอบรับดีมาก

Security Token Offering จะเริ่มมาในช่วงครึ่งปีหลัง

ปีที่แล้วประเทศไทยมีการออก ICO โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก โดยเหรียญ J-Fin Coin นั้นประสบความสำเร็จระดมทุนได้ตามเป้า อย่างไรก็ตามด้วยเทรนด์ของโลกที่ ICO เจอปัญหามากมาย เพราะความง่ายมากในการระดมทุน จากการเก็บสถิติของ Bonnie Crofford (Global Digital Marketing Strategist) 92% ของโปรเจค ICO ทั่วโลกล้มเหลว

สิ่งที่มาแทน ICO คือ Security Token Offering (STO) STO คือการสร้างเหรียญคริปโตจากหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งคือหุ้น ทำให้ผู้ถือเหรียญได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนซื้อหุ้นบริษัท และยังสามารถซื้อขายได้ง่ายเหมือนเหรียญคริปโต

ทางกลต. เพิ่งออกใบอนุญาตให้กับบริษัทที่ทำด้านตลาดซื้อขายเหรียญคริปโต และด้วยท่าทีของกลต.ที่ดูเปิดกว้างสำหรับเทคโนโลยีและพร้อมจะปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ทันกับยุคสมัยเพื่อตอบโจทย์บริษัทและฟินเทค และคุ้มครองนักลงทุน ผมคิดว่าทางกลต.น่าจะออกกฎระเบียบสำหรับ STO และใบอนุญาต ICO Portal สำหรับบริษัทที่จะเป็นคนช่วยดูแลบริษัทลูกค้าที่สนใจออก STO ภายในสิ้นปีนี้

เมื่อกฎหมายพร้อม บริษัทในตลาดหุ้นไทยหลายบริษัทน่าจะสนใจ เพราะตอนที่ J-Fin Coin ระดมทุนสำเร็จ ก็มีบริษัทหลายบริษัทที่ออกข่าวว่าสนใจทำ ICO เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องยกเลิกแผนไป เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...