Steve Blank บิดาแห่ง Lean Startup แนะ กุญแจสู่ความสำเร็จของผู้สร้างนวัตกรรมคือ 'ต้องฟังเสียงลูกค้า' | Techsauce

Steve Blank บิดาแห่ง Lean Startup แนะ กุญแจสู่ความสำเร็จของผู้สร้างนวัตกรรมคือ 'ต้องฟังเสียงลูกค้า'

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Techsauce ได้มีโอกาสร่วมงานเปิดตัว “สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น หรือ “Digital Startup Institute” ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยในครั้งนี้เราได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่มาร่วมงาน อย่าง Steve Blank (สตีฟ แบลงค์) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวงการผู้ประกอบการยุคใหม่ เขามีประสบการณ์การทำธุรกิจที่หลากหลาย อีกทั้งเป็นนักการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ให้เป็น 1 ใน 30 บุคคลทรงอิทธิพลในแวดวงเทคโนโลยีในปี 2556 และในปี 2555 นิตยสาร Harvard Business Review ยังยกให้เขาเป็นหนึ่งใน “ผู้เชี่ยวชาญแห่งนวัตกรรม”

อีกทั้งผู้ร่วมพูดคุยในครั้งนี้ยังมี ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบช (Dr. Edward Rubesch) ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บทสนทนาในครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องสิ่งที่ทั้งสองท่านพบจากการเปลี่ยนแปลงในวงการ Startup ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำแนะนำต่อ Startup และองค์กรใหญ่ อีกทั้งบทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อไป


อุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จของ Startup ที่มักพบอยู่ตลอดคืออะไร?

สตีฟ แบลงค์ จากประสบการณ์ผมพบว่าความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Startup คือการไม่ออกไปหาลูกค้า แน่นอนว่าเหล่า Founder ต่างมีความหลงใหลที่แรงกล้า พวกเขามองการณ์ไกล และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่พวกเขามักจะทำพลาดคือ พวกเขามักจะเชื่อว่าเพียงแค่มีวิชั่นกว้างไกลและเงินทุนก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างอะไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ปรากฎว่ามันมักจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะพวกเขาแก้ปัญหาให้ลูกค้าอยู่แต่ในความคิดตัวเอง โดยไม่เคยออกไปเจอลูกค้าจริง ๆ ด้วยซ้ำ

ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Startup คือการไม่ออกไปเจอลูกค้า ไม่ทดสอบสมมติฐาน และคาดเดาไปเองว่าสิ่งที่กำลังสร้าง อีกทั้งปัญหาที่กำลังแก้อยู่นั้นตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดแล้ว

เอ็ดเวิร์ด รูเบช: ผมพบว่า Startup ส่วนใหญ่ล้วนได้แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจมาจากซิลิคอน วัลเลย์ แต่บางครั้งมันกลับกลายเป็นว่าพวกเขาเลียนแบบโมเดลธุรกิจที่อื่นแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ที่นี่มีโอกาสและปัญหาที่รอการแก้เยอะมากนะครับ Startup ควรจะโฟกัสไปที่ปัญหานั้น มากกว่าการพยายามทำเวอร์ชั่นภาษาไทยจากโมเดลธุรกิจของซานฟรานซิสโก

Startup จะทำการแข่งกับองค์กรขนาดใหญ่ได้อย่างไร?

(ซ้าย) Dr. Edward Rubesch (ขวา) Steve Blank

สตีฟ แบลงค์: หากสิ่งที่คุณกำลังทำคือการทำตามบริษัทใหญ่ ผลลัพธ์ที่ได้มันมักไม่ได้ผล สิ่งที่ Startup มีคือ พวกเขาสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและดีกว่าองค์กรใหญ่ Startup ต้องดูว่าตัวเองมีจุดแข็งด้านไหนบ้าง รู้อะไรที่องค์กรใหญ่ไม่รู้บ้าง ผมขอแนะนำไว้ 3 ข้อคือ

  1. คุณกำลังเข้าไปทำธุรกิจในตลาดที่มีผลิตภัณฑ์และบริการนั้นอยู่แล้ว แต่คุณอาจจะทำได้ในราคาที่ถูกกว่า ดีกว่า และเร็วกว่า
  2. คุณอาจจะเข้าใจหรือมองเห็นโอกาสตลาดนั้น ๆ มากกว่าบริษัทใหญ่ ที่บางทีพวกเขาอาจไม่ทันสังเกตเห็น มันมีทั้งเรื่องพลวัตที่ต่างกันด้านวัฒนธรรม ความต้องการ ซึ่งการที่จะคุณรู้ได้ต้องออกไปหาลูกค้า แล้วจะพบกับโอกาสที่ไม่เคยเจอมาก่อน
  3. คุณเข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทุกวงการทุกอุตสาหกรรมต่างโดน disrupt และคุณอาจเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ได้

เอ็ดเวิร์ด รูเบช:

ไม่ว่าจะเป็น Startup ผู้ประกอบการ หรือองค์กรใหญ่ ต่างก็มีทั้งสิ่งที่ตนเองเก่งและไม่เก่งต่างกันไป หากคุณเป็นผู้ประกอบการและมองไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองมี แน่นอนว่าบริษัทใหญ่ต้องชนะอยู่แล้ว แต่ถ้าหากคุณหาจุดแข็งของตัวเองเจอ ในจุดที่บริษัทใหญ่ไม่สามารถทำได้ดีเท่า ยังไงคุณก็สามารถเอาชนะได้เสมอ

อีกทั้งบางครั้งบริษัทใหญ่จะถูกบังคับให้เดินไปในทิศทางที่ต้องเดิน เพราะพวกเขาครองตลาดอยู่แล้ว อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นอยู่แล้ว หรือมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นอยู่แล้ว มันจึงเหมือนเป็นข้อผูดมัดที่ทำให้ต้องเดินหน้าไปทางนั้น ผู้ประกอบการมีข้อได้เปรียบตรงที่พวกเขามีอิสระที่จะเดินไปทางไหนก็ได้และสามารถลองทำอะไรก็ได้

นิยามของคำว่า ‘นวัตกรรม’ คืออะไร?

สตีฟ แบลงค์: องค์กรใหญ่มีข้อได้เปรียบตรงที่พวกเขาสามารถนำสิ่งที่เคยทำมาทำซ้ำและ scale อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมมีโอกาสเกิดทั้งในบริษัทขนาดใหญ่และใน Startup อยู่แล้ว อาจจะอยู่ในรูปนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี คุณอาจจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์กำลังทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรืออาจจะเป็นผลลัพธ์จากผลสำรวจตลาด เมื่อพบว่ากฎข้อบังคับเปลี่ยน หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทั้งหมดนี้มีโอกาสที่จะเป็นนวัตกรรมได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรใหญ่จะมีทั้งหมดที่กล่าวมา แต่สิ่งที่บริษัทขาดไม่ได้คือ ‘ผู้ประกอบการ’ จะต้องมีคนที่มีความคิดเป็นผู้ประกอบการ คนที่รู้ว่าจะนำไอเดียที่มีให้ผ่านกระบวนการทั้งหมดภายในบริษัท ที่บางครั้งอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร ดังนั้นแม้ว่าคุณจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีล้ำหน้า คุณก็ต้องการคนที่มีความเป็นผู้ประกอบการภายในบริษัทด้วยเช่นกัน

แม้ในบริษัทคุณจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีล้ำหน้า แต่ต้องไม่ลืมว่าในบริษัทจะต้องมีคนที่มีมุมมองความคิดแบบผู้ประกอบการเช่นกัน คนที่รู้ว่าจะนำไอเดียที่มีอยู่มาทำให้มันเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไร

มองในมุมบริษัทใหญ่กันบ้าง พวกเขามีข้อได้เปรียบ Startup ตรงที่พวกเขาสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ Startup ทำไม่ได้ พวกเขาจะซื้อนวัตกรรม หรือทำการพาร์ทเนอร์กับบริษัทอื่น ควบกิจการร่วมกัน เป็น Distributor ซื้อทรัพย์สินทางปัญญา หรือแม้แต่ซื้อทั้งบริษัทก็ได้ถ้าต้องการ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ Startup เล็ก ๆ ทำไม่ได้ องค์กรใหญ่จะมีความสามารถในการจัดการและทำการกวาดล้างดีมาก อีกทั้งยังสามารถใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายของตัวเองในการเติบโตอย่างรวดเร็ว

มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ Corporate Venture Capital (CVC)?

สตีฟ แบลงค์: Corporate Venture Capital (CVC) นั้นถูกออกแบบมาเพื่อลงทุนในสิ่งที่อยู่นอกบริษัท แต่บ่อยครั้งคนที่ต้องการเงินทุนกลับเป็นพนักงานในบริษัทเสียเอง (หัวเราะ) แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เงินก้อนนั้นมา คือพวกเขาอาจจะถึงขั้นต้องลาออกจากบริษัทเพื่อไปหาทุน แล้วเริ่มทำ Startup ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้มันค่อนข้างจะ Irony

อีกประการคือ CVC จะมีทั้งทำการลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะกับบริษัท หรือลงทุนในฐานะ VC ทั่วไปเพื่อหวังผลกำไรแล้วนำเม็ดเงินนั้นเข้าบริษัท ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจและกาลเวลา ตอนนี้ CVC ในสหรัฐเอง ก็มุ่งเน้นไปทั้งสองฝั่ง ทั้งลงทุนในด้าน AI, Machine Learning อีกทั้งทำหน้าที่เป็น Accelerators ในการขยายกองทุน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ สุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใครและตั้งเป้าเดินหน้าไปทิศทางไหน

องค์กรใหญ่จะรอดพ้นจาก Digital Disruption อีกทั้งดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อไปได้อย่างไร?

สตีฟ แบลงค์: จริงๆ แล้ว Disruption นั้นไม่ใช่อะไรใหม่  อีเมลและโทรศัพท์ก็ได้เข้ามา disrupt โทรเลข disruption เกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้คือมันเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมในเวลาเดียวกันอย่างรวดเร็ว

ในปี 1920 ได้เกิดคอนเซ็ปต์เรื่องการทำลายเชิงสร้างสรรค์ (Creative destruction) คือการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่เพื่อทดแทนสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ข่าวร้ายก็คือ แต่ก่อนวงจรธุรกิจขององค์กรใหญ่ในสหรัฐจะอยู่ราว 50 ปี แต่ปัจุบันลดเหลือ 15 ปี

Disruption มันมาเร็วกว่าเดิม ดังนั้นบริษัทจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของพนักงานเพื่อที่จะดำเนินทั้งธุรกิจปัจจุบัน อีกทั้งสร้างสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจใหม่สามารถดำเนินไปในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย มันก็เป็นเรื่องยากเหมือนกับในช่วง 100 ปีก่อน

อ่านเพิ่มเติม: Scott D. Anthony ที่ปรึกษากลยุทธ์ชั้นนำ แนะองค์กรจะอยู่รอดต้อง 'ปรับเปลี่ยน' ไม่ใช่แค่ปรับปรุง

เอ็ดเวิร์ด รูเบช: ผมอยากจะเสริมอีกสักนิด ซึ่งมันอาจจะฟังดูค่อนข้าง controversial หน่อยนะครับ ผมพบว่าหลายบริษัทในประเทศไทยอยู่รอดได้จากการปกป้องตัวเอง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการป้องกันตัวเองสูงมาก บริษัทใหญ่มักจะป้องกันตัวเองจากโอกาสที่จะได้เติบโตนอกประเทศ ซึ่งมันเป็นเรื่องโชคร้ายนะ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์จะมีสองทางคือ พวกเขาจะป้องกันตัวเองตลอดไปในขณะที่ประเทศอื่นบนโลกเดินไปไหนต่อไหนแล้ว หรือบริษัทไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อถึงเวลาที่ต้องแข่งขันกับประเทศอื่นจริง ๆ ซึ่งการอยู่กับที่และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงมันอาจจะดูเป็นการช่วยเหลือบริษัท แต่จริง ๆ ต้องมองหาโอกาสภายนอกนะครับ

สตีฟ แบลงค์: มันจะมีคำที่เรียกการป้องกันตนเองว่า ‘Rent-Seekers’ ยกตัวอย่างบริษัทในอเมริกา พวกเขาจะสร้างธุรกิจใหม่ตามที่กฎหมายและอุตสาหกรรมจะเอื้อ ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นว่าการทำแบบนี้ทำให้ไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ หากคุณป้องกันตัวเองในพื้นที่หรือในด้านนั้น ๆ คุณก็จะไม่มีนวัตกรรมในด้านนั้น ในขณะที่ประเทศอื่นบนโลกกำลังสร้างนวัตกรรมกันแล้ว ประเทศไทยกำลังเสียเปรียบนะครับ เพราะการป้องกันผลประโยชน์ไว้กับคนกลุ่มเล็ก ๆ ผลลัพธ์มันมักจะออกมาไม่ค่อยดีเท่าไร

เอ็ดเวิร์ด รูเบช: ผมมีความเชื่ออย่างยิ่งว่าความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จะกลายเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทำธุรกิจ แต่ตราบใดที่เราอยู่ในคอมฟอร์ตโซน ไม่ออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ โอกาสและเวลาที่จะเติบโตมันก็จะยิ่งยืดไปอีก

การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งที่ท้าทาย มหาวิทยาลัยจะร่วมมือกับองค์กรในการขับเคลื่อนนวัตกรรมได้อย่างไร?

Steve Blank, Dr. Edward Rubesch

สตีฟ แบลงค์:  หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีสำนักงานที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี (Tech Transfer) ของตัวเอง การอนุญาตให้ทางมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยร่วมกับบริษัทใหญ่ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นข้อตกลงสิทธิ์ทางการค้ากับบริษัท บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ได้กำไรจากการค้นคว้า บางครั้งนักวิจัยเองก็กลายส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น หรือนักวิทยาศาสตร์อาจมีโอกาสได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา 

ในประเทศไทยเองก็มีโปรแกรมนี้นะครับ ซึ่งเอ็ดเวิร์ดกำลังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทยอยู่ ที่ว่าจะทำอย่างไรให้อาจารย์มีไอเดียในการก่อตั้งบริษัทและจะนำงานวิจัยที่ได้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร งานวิจัยในมหาวิทยาลัยมีมากมาย โดยโปรแกรมนี้จะช่วยในการไกด์ว่าจะนำงานวิจัยที่มีอยู่ออกไปสู่ตลาด ไปจนถึงการจัดตั้งบริษัทได้อย่างไร

ที่สหรัฐมีโปรแกรม I-Corps เป็นเครือข่ายนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยและองค์กรทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาและสนับสนุนระบบนิเวศนวัตกรรม หลายมหาวิทยาลัยต่างก็งานด้านการสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานได้ดี หรือการทำ Accelerators, Incubators และ Technology transfer ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ก็ล้วนสร้างระบบนิเวศของตนเองขึ้นมา

เอ็ดเวิร์ด รูเบช: การออกใบอนุญาตและการดำเนินการในเชิงพาณิชย์นั้นต่างกัน มีหลายกรณีที่สุดท้ายแล้วไอเดียนั้นไม่ได้ลงเอยต่อยอดไปเป็น Startup แต่มักจะโดนบริษัทใหญ่ซื้อไอเดียไปเสียก่อน ดังนั้นในแง่ของจำนวนเคสที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่แน่นอน มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปทั้งในประเทศไทยและเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ John D. Scandling จากสแตนฟอร์ด มักจะบอกว่าสแตนฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จในการจดทะเบียนสิทธิบัตรมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่า สิ่งที่จะเป็นกำหนดว่าเทคโนโลยีนั้น ๆ มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็คือ 'ความเต็มใจของนักวิจัยที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด' ไม่ใช่ขนาดของตลาดหรือว่าลูกค้า

เพราะมันไม่ใช่แค่การไปซื้อนวัตกรรม โยนเข้าตลาดแล้วจบ นักวิจัยจะต้องเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป ดังนั้นความท้าทายคือเราจะทำอย่างไรให้นักวิจัยทำงานร่วมกับบริษัทอย่างยาวนาน ซึ่ง I-Corps เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ช่วยทำให้นักวิจัยรับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้มีแค่หน้าที่ทำการค้นคว้าแล้วโยนให้นักการตลาด แต่การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน

มหาวิทยาลัยจะสร้างความเป็นผู้ประกอบการในตัวนักศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อไปได้อย่างไร?

เอ็ดเวิร์ด รูเบช: ข้อได้เปรียบที่ชัดเจนของมหาวิทยาลัยคือ ‘เวลา’ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องที่ว่าจะต้องรีบหางานไหม หรือไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างเหมือนที่บริษัทและหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยสามารถทำได้คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดไอเดียใหม่ ๆ

สตีฟ แบลงค์: เมื่อพูดถึงเรื่องการเป็นผู้ประกอบการและการสร้างนวัตกรรม มันไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องรู้ไปเพื่อตั้งบริษัทนะครับ มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ใหม่ ๆ ที่ต่างจากทักษะที่เราใช้ในศตวรรษที่ 20 มากมายที่ทุกคนจะต้องรู้ อย่างการเป็นผู้ประกอบการ การทำงานยุคดิจิทัล การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ล้วนเป็นวิชาที่มหาวิทยาลัยสามารถสอน เพื่อสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการและการสร้างนวัตกรรมแก่ผู้เรียนได้ แต่ไม่จำเป็นว่าเมื่อเรียนจบจะต้องใช้ทักษะเหล่านั้นไปทำ Startup ของตัวเอง หรือไปทำงานกับบริษัท Startup เสมอไป

วิชาผู้ประกอบการและการสร้างนวัตกรรมคือศิลปศาสตร์ของศตวรรษที่ 21

ดังนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถทำได้คือดูว่ามีวิชาอะไรบ้างที่จำเป็นต่ออนาคต เหมือนกับด้านศิลปศาสตร์นั่นแหละครับ อย่างพื้นฐานการสร้างความคิดสร้างสรรค์ การรับมือกับข่าวปลอม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ไปจนถึงการสร้างบริษัทหรือ Startup 

มหาวิทยาลัยต้องทำการปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างคนให้มีมุมมองความคิดแบบผู้ประกอบการในการช่วยขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

“อยากได้อะไร ก็แค่พูดตรงๆ” เคล็ดลับความสำเร็จจาก Sam Altman

Sam Altman CEO ของ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT แนะนำ วิธีช่วยให้คุณได้ในสิ่งต้องการ และทำได้ง่ายๆ...

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมความสำเร็จของ Bruno Mars มาจากความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ทักษะทางดนตรี?

หลายคนคงรู้จัก Bruno Mars นักร้องชื่อดังที่มีเพลงฮิตติดหูมากมาย แต่ความสำเร็จในวันนี้ นอกจากความสามารถทางดนตรีแล้ว เจ้าตัวเผยว่า ‘ความซื่อสัตย์’ ต่อสิ่งที่ทำ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญท...