ของขวัญหรือหายนะ? AI จะก้าวไปทางไหน ภัยคุกคามมนุษย์จากอาวุธนิวเคลียร์สู่ปัญญาประดิษฐ์

เมื่อความก้าวหน้าและเทคโนโลยีถูกมอบให้แก่มวลมนุษย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

หากพูดถึงผู้กำกับชื่อดังในตำนาน ที่ชอบหยิบยกประเด็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในภาพยนตร์ คงหนีไม่พ้น คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ผู้กำกับเจ้าของหนังเรื่องดังอย่าง Inception (2010), Interstellar (2014), Tenet (2020)  และเรื่องล่าสุด ‘Oppenheimer’ ที่กวาดรายได้ไปทั่วโลกเหมือนเรื่องที่ผ่านมา 

‘Oppenheimer’ ภาพยนตร์ระทึกขวัญแนวประวัติศาสตร์ ที่อิงจากเหตุการณ์จริงช่วงปี 1950s  เล่าเรื่องราวชีวิตของ จูเลียส รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้สร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณู (Father of the atomic bomb)

ผู้คนต่างเรียกนักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้นี้ว่า โพรมีธีอุสแห่งอเมริกา (American Prometheus)  

ของขวัญที่มอบแด่มวลมนุษย์

โพรมีธีอุส (Prometheus) คือเทพไททันในตำนานกรีก ผู้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของมหาเทพซูส (Zeus) โดยการขโมย ไฟ จากเขาโอลิมปัสมามอบให้แก่มวลมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าทางอารยธรรมและใช้ประโยชน์จากแสงสว่างในการดำรงชีวิตนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เช่นเดียวกับ ออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) ผู้พัฒนาสร้าง ระเบิดปรมาณู ลูกแรกของโลกได้สำเร็จ และมอบให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อใช้ยุติสงครามโลก โดยการทิ้งระเบิดถล่มลงเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่ 2  และอานุภาพทำลายล้างจากแรงระเบิดก็สร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก 

อาจกล่าวได้ว่า ไฟ และ ระเบิดปรมาณู เปรียบเสมือนของขวัญที่มอบอารยธรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแก่มวลมนุษยชาติ โดยที่ไม่รู้ว่าในกล่องของขวัญอาจซ่อนหายนะไว้

…จนกระทั่งปัจจุบัน ของขวัญอีกชิ้นก็ได้ถือกำเนิดขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน

‘AI’ ของขวัญแห่งยุคดิจิทัล

หลังโลกเรามีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า AI วิถีชีวิตเราก็เปลี่ยนไป เหมือนกับมนุษย์ในตำนานกรีกหลังได้ไฟจากเทพโพรมีธีอุส เหมือนกับผู้คนในยุคสงครามหลังระเบิดถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ  เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่าจะสร้างประโยชน์หรือโทษให้มากกว่ากัน….

“นักฟิสิกส์และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เหมือนกันมาก ที่ต่างเรียกร้องให้ควบคุมการพัฒนาของเทคโนโลยี” กล่าวโดยโนแลน ผู้กำกับหนัง Oppenheimer

หากดู Oppenheimer กันมาแล้ว จะเห็นได้ว่านักฟิสิกส์ผู้เป็น ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ ตกอยู่ในวังวนของความรู้สึกผิดบาป และได้เรียกร้องให้ควบคุมการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ หลังจากระเบิดที่ตัวเองสร้างคร่าชีวิตผู้คนนับแสน 

เช่นเดียวกัน ดร.เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Dr Geoffrey Hinton) ‘เจ้าพ่อแห่งปัญญาประดิษฐ์’ ได้ออกมาเตือนความเสี่ยงของ AI หลังยื่นจดหมายลาออกจากบริษัท Google เมื่อต้นปี โดยฮินตันได้ชี้ให้เห็นถึงความน่ากลัวของการพัฒนา AI ที่ก้าวกระโดด “ลองย้อนกลับไปดูเมื่อ 5 ปีก่อนสิ และมาดูตอนนี้ว่าเป็นยังไง ลองสังเกตความแตกต่าง แล้วนึกไปถึงวันข้างหน้า มันน่ากลัวนะ”

ภัยคุกคามมนุษย์ จากอาวุธนิวเคลียร์สู่ปัญญาประดิษฐ์

หากมองจากกรณีของออปเพนไฮเมอร์ ถึงแม้ระเบิดจะช่วยยุติสงคราม มอบชัยชนะให้ฝ่ายสัมพันธมิตร แต่จริง ๆ แล้วมันคือหายนะที่ทำลายล้างโลก ผู้คนจำนวนมหาศาลเสียชีวิตจากการระเบิด ส่วนผู้ที่รอดก็เสียชีวิตลงในเวลาต่อมาจากอาการบาดเจ็บและสารกัมมันตรังสี สร้างความทรงจำแสนเจ็บปวดให้กับชาวญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ ความก้าวหน้าของอาวุธนิวเคลียร์แพร่กระจายไปทั่วโลกเกินควบคุม และยังจุดชนวนให้เกิดสงครามเย็นในเวลาต่อมา 

นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ต่างเปรียบเทียบว่า AI เหมือนกับอาวุธนิวเคลียร์ ที่อันตรายร้ายแรงพอกัน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนชื่อดัง กล่าวว่า “AI ทำได้ทุกอย่าง และการที่มันทำได้ทุกอย่างทำให้ผมค่อนข้างกังวลใจ” อีกทั้งบัฟเฟตต์ยังเน้นย้ำถึงคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ว่า ระเบิดเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลก ยกเว้นวิธีคิดและการกระทำของคน และนักลงทุนผู้นี้เองก็เชื่อว่า AI จะเป็นเช่นนั้น 

หากความคิดและการกระทำของคนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง AI ก็อาจเป็นหายนะต่อมวลมนุษยชาติ อย่างเช่นใช้ Deepfake ปลอมแปลงภาพและวิดีโอ ใช้อัลกอริทึม AI เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเพื่อก่ออาชญากรรม หรือแม้กระทั่งผลิตอาวุธโจมตีทางไซเบอร์ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป

 ในทางกลับกัน หากผู้คนตระหนักในการคิดและใช้ AI อย่างรอบคอบ เอาประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้มาใช้ในทางที่ถูกต้อง AI ก็จะเป็นเหมือนของขวัญที่มอบความเจริญก้าวหน้าและความสะดวกสบายให้กับเราได้ เฉกเช่นไฟจากสวงสวรรค์ที่เทพโพรมีธีอุสลงมามอบให้แก่มวลมนุษย์

AI อาจเป็นภัยอันตราย แต่ก็เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ดี ผู้มีอำนาจบริหาร AI ต้องรับผิดชอบควบคุมการใช้งานของมัน - คริสโตเฟอร์ โนแลน 

อ้างอิง: businessinsider, englishpluspodcast, britannica, theguardian, silpa-mag, bbc, mgronline 

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์การจ้างงานจาก CEO Duolingo ไม่รับพนักงานที่ไม่มี 5 คุณสมบัติสำคัญนี้!

เผยกลยุทธ์การจ้างงานของ CEO Duolingo ที่เลือกคนที่ตรงตาม 5 คุณสมบัติสำคัญ พร้อมความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่สนุกสนาน...

Responsive image

5 เคล็ดลับรีแบรนด์จาก Steve Jobs ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Apple

เจาะลึกกลยุทธ์รีแบรนด์จาก Steve Jobs ที่ทำให้ Apple กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก พร้อมวิธีที่ธุรกิจยุคใหม่สามารถนำไปใช้ได้...

Responsive image

ทำไม Andy Jassy อยู่ Amazon ได้เกือบ 30 ปีโดยไม่รู้สึกเบื่อ?

ตอนที่ Andy Jassy เริ่มทำงานที่ Amazon ในปี 1997 เขาไม่เคยคิดเลยว่าจะอยู่ได้นานขนาดนี้ แถมเคยบอกกับเพื่อนด้วยซ้ำว่า คงไม่ทำงานที่ไหนยาว ๆ เหมือนพ่อที่อยู่บริษัทเดิมมา 45 ปีแน่นอน แ...