บทบาท Content provider ของกันตนา ผ่านลายเซ็น ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก | Techsauce

บทบาท Content provider ของกันตนา ผ่านลายเซ็น ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก

Content provider ที่เน้นความแปลกใหม่และเนื้อหาที่หลากหลายคือแนวทางของ บมจ. กันตนา กรุ๊ป หรือ Kantana ในยุคที่ทายาทรุ่นสามอย่าง ‘คุณเต้’ หรือ ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก เลือกที่จะสร้างสรรค์สู่สายตาผู้ชม แม้ว่าตัวเขาจะเคยหันหลังให้กับกิจการของครอบครัวแล้วออกไปค้นหาตัวเอง กระทั่งพบว่าธุรกิจบันเทิงคือคำตอบ โดยเริ่มสร้างจุดเปลี่ยนด้วยการนำรายการจากต่างประเทศมาปรับรสชาติให้เผ็ดร้อนแบบไทยอย่าง The Face Thailand ก่อนจะมีอีกหลาย ๆ รายการตามมา เช่นเดียวกับที่ยังขัดเกลาฝีมือทีมงานควบคู่ไปกับการยกระดับผลงาน คืออีกหนึ่งภารกิจของผู้สืบทอดที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้ไม่หยุดอยู่กับที่

‘กันตนา’ กำเนิดขึ้นในปี 2494 โดยประดิษฐ์และสมสุข กัลย์จาฤก ร่วมกันจัดตั้งคณะละครวิทยุ ‘คณะกันตนา’ จนประสบความสาเร็จอย่างมาก จึงเริ่มขยายงานครอบคลุมธุรกิจสื่อบันเทิงทุกด้าน ที่ปัจจุบันแตกแขนงออกเป็น 8 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ 1) Contents 2) Services 3) Media Platforms  4) Education 5) Talent Management 6) Character Management 7) Event Management และ 8) Property Development lent Management ที่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำรุ่นสอง คือ จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการ บมจ. กันตนา กรุ๊ป 

กระทั่งหนึ่งในทายาทรุ่นสามอย่าง ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก รองผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. กันตนา กรุ๊ป  ริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับบทบาทการเป็น Content provider โดยปลุกปั้น  The Face Thailand สู่สายตาผู้ชม เมื่อปี 2558 ก่อนจะตามมาด้วยความบันเทิงแปลกใหม่ต่าง ๆ ที่กลายเป็นลายเซ็นของกันตนาในยุคใหม่ที่ตัวเขามีบทบาทโดยตรงที่จะขับเคลื่อน ส่วนจะเริ่มก้าวแรกอย่างไรแล้วเลือกที่จะไปในทิศทางไหนหาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ 

Content provider

ที่มาของการบริหารธุรกิจของครอบครัวเริ่มขึ้นอย่างไร

คุณเต้เริ่มเข้ามาแบบจริงจังหลังจากที่เรียนจบ A Robert Louis Stevenson School Alumni ที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งคุณพ่อ (จาฤก กัลย์จาฤก) เป็นผู้ที่ชวนให้เข้ามาทำ จึงเริ่มจากการศึกษาดูงานก่อน แม้ว่าตลอดเวลาที่เราเติบโตมาก็ได้เห็น ได้ซึมซับการบริหารกิจการของครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า รวมถึงรุ่นคุณพ่อและคุณแม่ของเราด้วย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 12 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการมาบริหารอย่างเป็นทางการและจริงจังมากขึ้น ทำให้ความรับผิดชอบต่าง ๆ ก็มากขึ้นตามไปด้วย 

แล้วทำไมในช่วงแรกถึงไม่ต้องการเข้ามาบริหารกิจการ

จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ได้ต้องการเข้ามาบริหาร เพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยถนัดเรื่องธุรกิจ คุณเต้มีความเป็นศิลปิน และมีโลกส่วนตัวสูง จึงรู้ตัวเองว่าพอโตขึ้นมาก็ไม่ชอบด้านคำนวณ แล้วมีความรู้สึกว่าการทำธุรกิจต้องแข่งขันกัน ก็เป็นเหตุผลที่ต่อต้านไปในตัว จึงเลือกหนีไปต่างประเทศ 

แต่เมื่อไปที่นั่นแล้วได้ใช้ชีวิตและค้นหาตัวเอง ซึ่งก็ยังไม่ได้คิดว่ามีสิ่งที่ต้องทำรอเราอยู่ จนเมื่อถึงระดับที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว ก็กลับมาลองทำงาน แล้วรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งเดียวที่เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กและสามารถเข้าใจได้ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่เรามี passion จนไม่ต้องพยายามบังคับให้ตัวเองทำ ถึงเวลาก็ทำเต็มที่ 

ความรับผิดชอบซึ่งได้รับมอบหมายในช่วงแรกคืออะไร

เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยของคุณพ่อ โดยมีหน้าที่ติดตาม เรียนรู้วิธีการคิด การนำเสนองาน การจดงาน รวมทั้งการหาเงินทุนด้วย ช่วงเวลานั้นก็ต้องปรับตัวมากเหมือนกัน ซึ่งมองว่าทุกคนก็ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์จริง ๆ จากการเป็น observer ในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มซึมซับสิ่งที่มีความจำเป็นในการนำมาใช้ เพื่อประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต

 Content provider

กลยุทธ์สำหรับ content ของกันตนาจะไปในแนวไหน

แน่นอนว่าสิ่งที่เราโฟกัสจริงจังก็คือเรื่องความหลากหลายของ content  ซึ่งมีค่อนข้างสูง จนสามารถเข้าถึงผู้ชมทุกเพศทุกวัย ด้วยเป้าหมายที่จะดำเนินงานและนำไปต่อยอดในอนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำยังไม่ได้มีอะไรใหม่หรือแตกต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ในวันนี้ที่สำคัญคือต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนสามารถเกิดประโยชน์ร่วมกันได้ 

โดยในอนาคตต้องดีกว่าวันนี้ในทุกส่วนของการทำงาน เพราะรู้แล้วว่าอุปสรรคหรือปัญหามีทางออกหรือแก้ได้อย่างไร และต้องไม่กลับมาอยู่จุดเดิม ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่สามารถไปไหนได้เลย 

"ต้องอดทนและพยายามสู้ ไม่อ่อนไหวกับสิ่งรอบตัวที่จะทำให้เราสับสนกับเส้นทางที่วางแผนไว้"

อีกทั้งด้านจิตใจก็สำคัญมาก เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะยังเป็นผู้นำที่ดีได้มากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่เรานั่งคุยกันอยู่ ในอนาคตอาจจะไม่ใช่คำตอบแบบนี้ก็ได้ ฉะนั้นจึงอยากทำตรงนี้และตอนนี้ให้ดีก่อน แล้วค่อยมองไปไกลถึงสิ่งที่เราสามารถวางแผนได้

เช่นเดียวกับสิ่งที่สร้างมาเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียมกัน หรือความรู้ความสามารถ และความเข้าใจในธุรกิจด้านอุตสาหกรรมความบันเทิง ถ้าคนอื่นเข้ามาทำก็อาจจะมีความมึนงงกว่าเดิม จึงยังต้องมีความอดทนและทำให้ไปไกลกว่านี้ ถ้าหยุดก็หมายความว่าสิ่งที่ทำมาจะไม่มีความหมายอะไรเลย จึงทำให้ปัจจัยภายนอกมีผลต่อเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ 

“สิ่งที่ต้องสู้ในแต่ละวันคือตัวเราเอง เพื่อที่จะผลิต content ในฐานะ content provider จริง ๆ เราต้องนำสิ่งที่มีอยู่ไป provide ให้แต่ละคน แต่ละอาชีพได้”

ตัวชี้วัดความสำเร็จของการเป็น Content provider มีอะไรบ้าง นอกจาก rating และกระแสต่าง ๆ 

ตัวชี้วัดความสำเร็จคือ การทำให้คนทุกเพศทุกวัยพูดถึง ถกเถียง และสนทนากันผ่านมุมมองส่วนตัวของแต่ละคน ทำให้เกิดการวิเคราะห์และคิดตาม โดยที่เราไม่ได้ไปชี้นำว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เป็นการนำเสนอในแบบที่เราเป็น 

แต่ content จะประสบความสำเร็จในขั้นแรกก็ต่อเมื่อเราทำจบแต่ละซีซั่น และทุกครั้งที่เริ่มทำรายการต้องคิดเหมือนไม่เคยทำมาก่อนแล้วเริ่มทำใหม่ ซึ่งข้อดีของการทำแบบนั้น คือ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์จริง ๆ แต่มีประสบการณ์มาแล้ว จึงสามารถนำข้อมูลพื้นฐานมาคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ในอนาคตถ้าทำงานในลักษณะแบบนี้อีกแล้วจะเจอปัญหาอะไรบ้าง 

Content provider

ปัจจุบันมี content ที่นำมาจากต่างประเทศมากขึ้น มองบทบาทที่มีต่ออุตสาหกรรมบันเทิงไทยอย่างไรบ้าง

จริง ๆ ถือว่ามีอิทธิพลสูงเหมือนกัน เพราะเกิดการเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนระหว่างมาตรฐานของตัวเราเองและของโลกที่เคยมีมาก่อน นอจากนี้ยังได้รู้ความเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย เป็นอิทธิพลที่ทำให้เราไม่สามารดูถูกคนดูได้ แล้วยังขึ้นกับว่าจะสามารถนำเสนอเพื่อสื่อสารถึงชาติกำเนิดหรือถิ่นเกิดของเราได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อสื่อสารได้แล้วยังต้องทำความเข้าใจคนอื่นด้วยว่าเขามองเราอย่างไร ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วต้องรู้สึกว่าไม่เสียใจที่ได้ทำออกไปและทำดีที่สุดแล้ว 

จาก content ที่เราผลิตจะสามารถต่อยอดไปอย่างไรได้อีกบ้าง

ในส่วนของกันตนา ก็ต้องทำให้ครบวงจร เมื่อเป็น Content provider แล้ว ก็ต้องการพัฒนาและมุ่งเน้นใน content ที่เราทำในแต่ละซีซั่น ว่าจะสามารถนำมาต่อยอดในแง่ไหนได้อีก 

โดยเฉพาะในส่วนคนที่มาทำงานกับเราหรืออาชีพที่เกิดขึ้นจาก platform ของเรา ยกตัวอย่าง จากผู้เข้าแข่งขันกลายมาเป็น mentor และเป็น master ซึ่งระบบนั้นเราคิดว่า content มีความหมายในหลายมิติและอยากจะนำมาพัฒนาให้แข็งแรงในทุกมิติ 

เนื่องจากเราเป็น  Content provider จึงต้องการพัฒนาบุคลากรให้ดีไปพร้อม ๆ กันกับการทำ content ซึ่งถึงขั้นต่อไปคือการส่งความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น นั่นหมายความว่าจะต้องบ่มเพาะหรือ incubate รุ่นต่อไปล่วงหน้าแล้วว่าผู้ที่จะนำสิ่งที่เราถ่ายทอดต่อให้ไปสานต่อ 

แต่ต้องแน่ใจว่าเขารู้จักรับผิดชอบ และรู้ว่านี่คือสิ่งที่ดีและถูกต้อง เพราะแต่ละอย่างมีแค่เส้นบาง ๆ มากั้น ที่ผ่านมาเราก็ใช้เวลาในการบำบัดอยู่พอสมควร ช่วงที่เราฟื้นฟูเพื่อส่งต่อ ก็ต้องแน่ใจว่าแข็งแรงมากพอที่จะส่งต่อได้แล้วก่อนที่จะออกไปเผชิญกับโลก ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงพิจารณาเป็นพิเศษเพื่อให้แน่ใจว่าคนเหล่านั้นคือคนเราเลือกแล้วว่าจะอยู่ทำงานร่วมกันต่อไปอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า 

ถ้าเราเห็นว่าเป็นคนที่ใช่ ถูกใจ ถูกเวลา ถูกทุกอย่าง ถ้าใช่ก็ทบทวนกันบ่อย ๆ เพราะคนของเรามีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไร แต่ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นใช่หรือไม่ใช่ 

“ในฐานะผู้นำ เรื่องบางเรื่องเราก็ต้องนิ่ง เรื่องไหนตัดทิ้งได้บ้างเราก็ตัด ซึ่งหากถึงเวลาก็ต้องทำ” 

ปัจจัยใดที่จะมาช่วยค้นหาคนที่ถูกที่ใช่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน

เชื่อว่าด้วยการคิดอย่างรอบคอบและวางแผนระยะยาวก่อนที่จะผลิตงานแต่ละชิ้นออกไป จะช่วยให้อายุของผลผลิตที่ออกอากาศอยู่ได้ยาวนาน หรือที่คนดูจะไม่เบื่อไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่มองว่าต้องแก้แบบจริงจัง โดยเราสามารถนำข้อมูลสถิติมารวมรวมเพื่อให้สามารถคาดการณ์ผลล่วงหน้าได้ ไม่อย่างนั้นเราจะลืมว่าราเป็นใครและมาทำอะไรที่นี่ ในวันหนึ่งถ้าคนและเทคโนโลยีมารวมกันโดยที่เราไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อีกหน่อยก็ยิ่งแย่ 

โลกออนไลน์มีผลกับ content ต่าง ๆ ที่อยู่ในสื่อกระแสหลักอย่างไร 

เรามองว่าความหลากหลายและความแตกต่างเป็นสิ่งที่ดี แต่การครอบงำจิตใจคนในโลกออนไลน์ให้เห็นด้วยกับเราทั้งหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยที่ผ่านมารายการ The Face Thailand และรายการ Drag Race Thailand เป็น content ที่มีการสื่อสารกับกลุ่มคนดูเพื่อ engagement สร้างความเข้าใจ และต้องการให้เป็นการสื่อสารแบบสองทางมากขึ้น หวังว่าสิ่งที่ทำมาจะเป็นสะพานเชื่อมกันระหว่างทุก ๆ platform เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ การก้าวเดินและวิวัฒนาการข้างหน้าต่อไป ไม่ได้ทำเพื่อทำลายกัน แต่สามารถนำสิ่งที่เราทำมาพูดคุยกันได้ เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต 

Content provider

ลักษณะของคนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทีมคุณเต้ควรเป็นอย่างไร 

ต้องเข้าใจในผลงานของเรา สำคัญคือต้องรักกันและไม่ทิ้งกัน ก็ถือเป็นด่านทดสอบขั้นแรก ต้องมี royalty ต่อกัน มีความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งในหลากหลายมิติ เพราะก็รู้อยู่ว่าคุณเต้ไม่ได้เป็นผู้ตามมาก ซึ่งมีความชัดเจนและเป็นคนลุย ๆ พอสมควรมาตั้งแต่แรก แต่ทั้งนี้การที่จะอยู่ด้วยกันได้ เขาก็ต้องชอบงานลักษณะนี้ด้วย ถ้ามีความชอบและติดตามผลงานก็ยืนยันได้ว่ามีความเข้าใจมาระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าตอนเผชิญหน้ากันจริง ๆ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ได้ยินหรือรู้มา

การที่จะคัดคนเข้ามาร่วมทีม จะมีการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้นั่งคุยกันนั้นจะเกิดเคมีบางอย่างที่สื่อถึงกันได้ แต่สิ่งสำคัญคืออยู่ที่ว่าเราคุยกันรู้เรื่องหรือไม่ เมื่อกำหนดทิศทางของบทสนทนาว่าจะมีหัวข้อแบบนี้ แล้วยังนั่งคุยกันได้ในระยะเวลาพอสมควร ก็ถือว่าผ่าน แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้จริง ๆ 

จากนั้นก็จะมาดูที่ผลงาน เพราะต้องเร็วแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็คงไม่ธรรมดาถ้ามาถึงจุดนี้ได้ ต่อไปก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าใช่คนนี้หรือไม่ ท้ายที่สุดก็คงต้องได้ลองทำงานร่วมกัน ซึ่งจริง ๆ ถ้ามาถึงตรงนี้ก็คงต้องใช่แล้ว 

“ตอนนี้การที่จะรู้ว่าทำงานด้วยกันได้หรือไม่ จะไม่นานเหมือนเมื่อก่อน เพราะถ้าคุยกันรู้เรื่อง เคมีเข้ากัน ทำงานด้วยกันได้ ก็ลองทำดู นั่นแหละถึงจะได้เรียนรู้ว่าเติมเต็มกันจริง ๆ” 

ในส่วนของกันตนามีการจัดเก็บฐานข้อมูล และได้นำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์หรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตหรือไม่

เรื่องเทคโนโลยีที่บอกกันว่าจะมีอิทธิพลมากขึ้นนั้น ในความคิดเราคือมีมานานแล้ว และไม่ได้เพิ่งจะเข้ามา จึงไม่ได้ตื่นเต้นมาก แต่เมื่อไรที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีมีอิทธิพลมีผลกับชีวิตแล้ว ก็ควรเปิดรับเพื่อให้ได้ความรู้และเข้าใจ ให้เกิดความแม่นยำ ในการทำงาน อันนี้ถือว่าอยู่กับเทคโนโลยีได้จริง ๆ 

ตอนนี้องค์กรของเรากำลังปรับทัศนคติของคนอยู่ เพื่อให้รู้ว่าเทคโนโลยีอะไรดีหรือไม่ดี และต้องใช้อย่างไร แต่ว่าผลจากการใช้แล้วมีข้อดีและข้อเสีย หรือเกิดผลกระทบอะไรอาจจะยังไม่รู้สึกมาก จึงต้องทำควบคู่กันไปหรือทำไปบอกไปและก้าวให้ทัน 

สามารถสรุปสไตล์การเป็นผู้นำของคุณเต้ได้อย่างไร 

สู้ไม่ถอย เพราะเมื่อตัดสินใจที่จะกลับมาทำงานแล้ว และทำอะไรก็ทำแบบเต็มที่ เพราะมีแค่สองอย่างคือทำและไม่ทำ แต่ถ้าตัดสินใจทำก็ต้องทำให้ดี ทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยกลัวอะไร

อะไรคือความท้าทายสูงสุดของการเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของกันตนา

ระบบความคิดแบบเดิมที่กลายเป็นธรรมชาติของบุคคลที่อยู่รอบตัวเรา จึงทำให้มีความยากในการทำงาน ซึ่งเมื่อล้างสมองคนไม่ได้ และยังเปลี่ยนแปลงระบบไม่ได้ ก็คงได้แต่หวังและภาวนาว่าสิ่งที่เราทำจะมีผลและสะท้อนกลับไป เพื่อให้มานั่งทบทวนกันใหม่ 

ที่สำคัญคือเราต้องดูแลคนทุกรุ่นในองค์กรและต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ รวมออกมาแล้วต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง แต่ตอนนี้ยังเหมือนยืนอยู่กับที่ สำหรับคนที่วิ่งต่อไม่ไหวจริง ๆ ก็หยุดก่อนได้ ปล่อยให้เราทำไปก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะย่ำอยู่กับที่ มีอะไรก็จบอยู่ที่โต๊ะในห้องประชุม แยกย้ายกันไปทำงานและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ไม่อย่างนั้นก็ต้องมาแก้ที่เดิม 

“องค์กรไม่ควรย่ำอยู่กับที่ หรือถูกหน่วงด้วยเรื่องที่ไม่จำเป็น มองไปข้างหน้าดีกว่า ลืมเรื่องที่ผ่านมาให้หมด ต่างคนต่างวัยจะคุยกันก็ยากแล้ว จะให้นั่งคุยกันอยู่ตลอดก็เป็นไปไม่ได้ เพราะต่างก็โตขึ้นทุกวัน ไม่ได้มานั่งคุยกันกับคนต่างวัยได้ทั้งวันทั้งคืน” 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

“อยากได้อะไร ก็แค่พูดตรงๆ” เคล็ดลับความสำเร็จจาก Sam Altman

Sam Altman CEO ของ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT แนะนำ วิธีช่วยให้คุณได้ในสิ่งต้องการ และทำได้ง่ายๆ...

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมความสำเร็จของ Bruno Mars มาจากความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ทักษะทางดนตรี?

หลายคนคงรู้จัก Bruno Mars นักร้องชื่อดังที่มีเพลงฮิตติดหูมากมาย แต่ความสำเร็จในวันนี้ นอกจากความสามารถทางดนตรีแล้ว เจ้าตัวเผยว่า ‘ความซื่อสัตย์’ ต่อสิ่งที่ทำ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญท...