เทคโนโลยี Crypto จำเป็นจริงหรือไม่? | Techsauce

เทคโนโลยี Crypto จำเป็นจริงหรือไม่?

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์เราอย่างมาก ทั้งในแง่ที่ให้ประโยชน์เชิงบวก แต่ก็นำพาซึ่งประโยชน์เชิงลบในบางกรณีด้วยเช่นกัน หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนามายาวนานที่สุดอันหนึ่งของมนุษย์ คงหนีไม่พ้นระบบการเงิน อีกทั้งหลายเทคโนโลยีที่สร้างมาจนถึงตอนนี้ ก็สามารถผนวกเข้ากับระบบการเงินได้ทุกยุคทุกสมัย

ปัจจุบันเรามีการใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งถูกนำประยุกต์เพื่อพัฒนาในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) เพื่อหวังจะตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราสามารถถือเงินดิจิทัลได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขที่อยู่ในฐานข้อมูล (Database) จนถูกตีความไปว่า Crypto คือ อนาคตของการเงินยุคใหม่ และการเงินยุคเก่าจะล่มสลายไปในที่สุด 

ในทางตรงข้าม ยังมีอีกหลายคนที่ยังเชื่อมั่นในระบบการเงินเดิมอยู่ และมองว่า Crypto นั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแม้แต่น้อย ซึ่งทั้งสองแนวคิดคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูกใครผิด แต่ในความคิดเห็นของผู้เขียน Crypto และระบบการเงินดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว สามารถดำเนินเสริมไปด้วยกันได้อย่างลงตัว ทั้งยังสามารถขยายขีดจำกัดของระบบการเงินที่มีอยู่ออกไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการพัฒนาให้กว้างขึ้นด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูเหตุผลกันว่าทำไม Crypto ถึงจะเข้ามามีส่วนในการช่วยพัฒนาระบบการเงินให้ไปได้ไกลขึ้นกันครับ

ลดการพึ่งพาตัวกลาง และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ระบบการจับจ่ายใช้สอยในตอนนี้ถูกเปลี่ยนถ่ายกันอย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ จากตอนแรกเรามักจะคุ้นชินกับการใช้จ่ายด้วยเงินสด แต่ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมของพวกเราคุ้นชินกับการจับจ่ายด้วยผ่านบัตร Visa, Mastercard หรือแม้แต่การโอนผ่าน Application ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ดำเนินการผ่านตัวกลาง โดยพวกเขาก็เก็บค่าดำเนินการจากเราแบบไม่รู้ตัวเลยซักนิด แต่มูลค่าที่เกิดขึ้นสร้างผลกำไรอย่างมหาศาล หากนำข้อมูลมากางดูดีดี ตลาดในอุตสาหกรรมนี้อยู่ในรูปแบบของผู้ขายน้อยราย (Oligopolies) ทำให้ผู้ใช้ไม่ได้มีตัวเลือกในการใช้บริการมากนัก หรือหากมี ก็ไม่ได้เป็นบริการที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ตลาดมีอยู่อย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้น 

การมาของ Cryptocurrencies จึงเป็นอีกหนึ่งท่าที่จะช่วยให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ บนโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิมได้ เพื่อเพิ่มตัวเลือกในการใช้งานให้กับผู้ใช้ ยิ่งการดำเนินการที่ลดการพึ่งพาผ่านตัวกลางในหลายๆ ส่วน ก็จะทำให้บริษัท หรือองค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อย่างมหาศาล ซึ่งตรงส่วนนี้เองทำให้ทีมพัฒนาสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่ลดได้ ไปโฟกัสที่ผลิตภัณฑ์ให้เอื้อต่อผู้ใช้งานได้มากขึ้นด้วย

ความเร็ว และการกระจายศูนย์

ยุคที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความเร็วในการใช้งานจึงต้องเป็นของที่ถูกพัฒนาควบคู่กันอยู่ตลอด แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่างมีขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานที่นานเกินไปไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทันท่วงที ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบ SWIFT ที่ธนาคารใช้อยู่ ใช้เวลาอย่างน้อยก็ 1 - 2 วัน แต่ในทางกลับกัน การโอนผ่านเครือข่าย Blockchain ใช้เวลาเพียงไม่กี่อึดใจ เงินก้อนนั้นก็ถึงปลายทางผู้รับได้แล้ว (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเครือข่ายที่ผู้ใช้เลือก) 

อีกทั้งการกระจายศูนย์ที่เป็นจุดเด่นของระบบการเงินบนโลก Blockchain ก็จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเงินของตัวเองได้อย่างอิสระ และไม่ถูกปิดกั้นจากตัวกลางใดตังกลางหนึ่ง ซึ่งตรงส่วนนี้ก็อาจจะสร้างมุมมองเชิงลบหลายอย่างได้เช่นกัน เพราะจำนวนเงินของผู้ใช้บางคนที่นำมาอยู่ในระบบ อาจจะมาจากการธุรกิจผิดกฎหมาย แล้วใช้ระบบนี้ช่วยในการฟอกเงิน อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดในมุมของเจ้าของเงิน คงไม่มีใครอยากโดนคนกลางมายึดเงินไปดื้อๆ โดยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซึ่งกระบวนการในการตามจับสินทรัพย์ผิดกฎหมายเหล่านี้ ในอนาคตอันใกล้ก็คงจะสามารถสร้างกระบวนการตามจับ ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ที่ลงตัวได้ในที่สุด

ความง่าย และความเชื่อมั่น

ตรงส่วนน่าจะเรียกว่าเป็นทั้งจุดเด่น และจุดด้อยของ Crypto เลยก็ว่าได้ ในเรื่องแรก คือ ความง่าย ว่ากันตามตรง หากใช้งานระบบการเงินของ Cryptocurrency ผ่านกระเป๋าดิจิทัล (Wallet) อย่าง Metamask ยังไม่ได้ใช้บริการที่ง่าย และไม่ได้สะดวกสำหรับบุคคลทั่วไปขนาดนั้น อีกทั้งยังต้องพึ่งพาความรับผิดชอบค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าคุณเชื่อใครไม่ได้เลยทั้งนั้น นอกจากตัวคุณเอง อย่างเรื่องของ seed phrases หรือรหัสลับที่เอาไว้ใช้อ้างอิงในการเข้าถึงกระเป๋าดิจิทัลของเรา ที่เมื่อเราทำหาย หรือมีคนอื่นจำได้ ก็เตรียม say good bye กับเงินในกระเป๋านั้นไปได้เลย 

แต่ปัจจุบันหลายองค์กรที่อุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะอย่างธนาคารก็เริ่มที่จะเห็นถึงประโยชน์ และช่องว่างด้านความเชื่อมั่น เข้ามาช่วยเป็นสื่อกลาง เพื่อรับผิดชอบตรงส่วนนี้ เพราะคงปฎิเสธได้ยากว่าความน่าเชื่อถือของธนาคารที่สั่งสมกันมานานเป็น 10 เป็น 100 ปี มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้อย่างมาก ถ้ามองในมุมจิตวิทยา อาจจะพูดได้ว่ามนุษย์ต้องการ คนช่วยรับผิดชอบในสิ่งที่เรายังไม่ถนัด หรือมือไม่ถึง อย่างน้อยๆ มีคนให้ด่า เวลาเกิดอะไรผิดพลาด และมีคนการันตีว่าเราจะปลอดภัย ซึ่งเป็นทั้งข้อดี และข้อเสียเหมือนกัน อย่างไรก็ตามข้อดีของการที่ผู้เล่นอย่างคนในอุตสาหกรรมธนาคารเข้ามาเล่นในเกมนี้แล้ว จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีการเงินบนโลก Blockchain สามารถกระจายตัวสู่ผู้ใช้ทั่วไปได้มากขึ้น นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

สุดท้ายคำถามที่ว่า Cryptocurrencies จะเข้ามาแทนที่ระบบการเงินในปัจจุบัน จนทำให้มันล่มสลายไปนั้น คงเป็นเรื่องที่เพ้อฝันไปไกล เพราะหากจะเกิดการล่มสลายที่ว่าคงไม่ได้ว่าจากตัว Cryptocurrencies ที่เข้าไปแทนที่ แต่จะเป็นการหมดความเชื่อมั่นกับระบบการเงินเก่าด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเองเสียมากกว่า ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากตัวของผู้มีอำนาจทางการเงินระดับโลกคงจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ระบบการเงินเดิมสามารถคงอยู่ต่อไปได้ ซึ่ง Cryptocurrencies อาจจะเป็นทางออกของการคงอยู่นั้น หรือหากถูกมองไปภัยคุกคาม ก็อาจจะถูกกำจัดหายไปเลยก็ได้เช่นกัน โดยผมหวังว่าจะไม่เป็นอย่างหลังนะครับ

บทความโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) 

PhD in Financial Mathematics

ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

Facebook แฟนเพจ ติดเล่า เรื่องลงทุน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...