เอาเข้าจริงแล้วแทนที่เครื่องมือทางความคิดอันเลื่องชื่อนี้จะนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมเพื่อสังคม มันกลับทำหน้าที่ตรงกันข้าม โดยกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อปกป้องรักษาสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นตัวฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเสียเอง
ทุกวันนี้กระแสความนิยมที่มีต่อแนวคิด design thinking หรือการคิดเชิงออกแบบได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง แนวคิดนี้สร้างความตื่นตัวให้หลายองค์กร ทั้งบริษัท มหาวิทยาลัย ไปจนถึงภาครัฐต่างนำ design thinking ไปศึกษาและมุ่งใช้เป็นเครื่องมือออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีเห็นงามกับ design thinking เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น โดยเฉพาะในบทความ Design Thinking Is Fundamentally Conservative and Preserves the Status Quo ของ Natasha Iskander จาก Harvard Business Review ที่ตั้งคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้วแทนที่เครื่องมือทางความคิดอันเลื่องชื่อนี้จะนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมเพื่อสังคม มันกลับทำหน้าที่ตรงกันข้าม โดยกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อปกป้องรักษาสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นตัวฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเสียเอง
ย้อนหลังกลับไปในช่วงยุค 1970 ถึง 1980 มีแนวคิดเพื่อการแก้ปัญหาที่โด่งดังมาก เรียกว่า Rational-Experimental หรือการทดลองอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นการนำวิธีทางวิทยาศาสตร์มาลดทอนให้เรียบง่ายและทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น หลายๆ บริษัทรวมถึงภาครัฐต่างรับเอาแนวคิดนี้ไปใช้เปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติในองค์กร ซึ่งหากพิจารณาในส่วนของกระบวนการ แนวคิดแบบ design thinking มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ rational-experimental เป็นอย่างมาก จะแตกต่างกันไปเพียงชื่อที่ใช้เรียกขั้นตอนในกระบวนการต่างๆ และวิธีคิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ปัญหาสำคัญของแนวคิดทั้งสองแบบคือการที่มันให้อภิสิทธิ์กับนักออกแบบมากเกินไป เช่นในกระบวนการแบบ design thinking ถึงแม้ตัวมันเองจะบอกว่าการนิยามปัญหาต่างๆ นั้นได้ใช้ “ผู้ที่ได้รับผลกระทบ” เป็นศูนย์กลาง นักออกแบบมีหน้าที่ “เข้าอกเข้าใจ” ในปัญหาของพวกเขา ถึงกระนั้นก็ดีในการตีความปัญหาทั้งหมดก็อยู่ในกรอบประสบการณ์อันจำกัดของนักออกแบบ และตัวของนักออกแบบเองต่างหากคือศูนย์กลางที่แท้จริง เป็นผู้ผูกขาดการตัดสินว่าอะไรบ้างที่ใช่และไม่ใช่ส่วนสำคัญในการออกแบบ
วัฒนธรรมที่เกิดจากกระบวนการของ design thinking ทำให้คนทั่วไปถูกผลักออกจากการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบถูกยกให้กับผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ มากเสียยิ่งกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกแบบจริงๆ เสียอีก แต่ในทางการเมืองที่สัมพันธ์กับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ระบบที่ไม่เปิดกว้างของ design thinking ไม่ได้เสนอทางออกที่ดีที่สุด แต่หลายครั้งมันคือทางออกที่ถูกใจกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือเป็นเพียงการเสนอทางออกที่ขัดแย้งกับระบบระเบียบเดิมของสังคมให้น้อยที่สุด
ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการ design thinking จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เหมือนจะเป็นสิ่งใหม่ แต่อันที่จริงแล้วโดยภาพใหญ่กลับไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย แสดงให้เห็นถึงการเป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริง
เมื่อรัฐบาลของ บารัค โอบามา ได้ทำแคมเปญ Rebuild by Design เพื่อจัดการแข่งขันการออกแบบหาวิธีการแก้ปัญหาภัยพิบัติในอนาคต หลังจากที่สหรัฐฯ ถูกพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้พัดถล่มสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล โปรเจกต์ the Big U ที่ได้รับรางวัลได้เสนอสร้างกำแพงกั้นที่มีความยาวกว่า 10 ไมล์ เพื่อป้องกันพื้นที่ในเขตตอนล่างของแมนฮัตตันและพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์สูง
แต่จากการประมาณการโดยวัดจากผลกระทบของพายุและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลบ่งบอกว่ากำแพงจะสามารถทำหน้าที่ปกป้องเมืองได้ถึงปี 2050 เท่านั้น หลังจากนั้นมันจะเปลี่ยนจากป้อมปราการเป็นอ่างน้ำขนาดยักษ์ กักน้ำให้ท่วมขังภายในเมือง
นอกจากนั้น กำแพงยักษ์ยังจะส่งเสริมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างรวดเร็วในพื้นที่บริเวณนั้น ก่อผลกระทบสืบเนื่องมายังกลุ่มคนชนชั้นล่างไปจนถึงชนชั้นกลางทางเศรษฐกิจที่จะถูกกีดกันออกจากพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีมูลค่าสูงขึ้นอีกด้วย เห็นได้ว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลอย่างกำแพงยักษ์นั้นนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว ยังเป็นการออกแบบที่สร้างผลกระทบทางลบให้กับคนในพื้นที่
นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันถึงข้อจำกัดของกระบวนการ design thinking คือการที่ระบบคิดนี้ไม่อาจมอบทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดในเชิงนวัตกรรมได้ เพราะมันมองไม่เห็นปัญหาทั้งหมด และยังติดอยู่กับการรักษาทิศทางของระบบระเบียบเดิมจนฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ
เราอาจเห็นทางออกได้จากอีกโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากแคมเปญ Rebuild by Design อย่าง Living Breakwaters ที่มีข้อเสนอสร้าง “necklace” หรือแนวกั้นคลื่นรอบเกาะเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของน้ำทะเล ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันพื้นที่ แนวกั้นที่สร้างขึ้นยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลของสิ่งมีชีวิตบริเวณเกาะนั้นๆ ส่งผลบวกต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่และสิ่งมีชีวิตในทะเล ไปจนถึงประโยชน์ด้านการศึกษาและเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศ ข้อเสนอของโปรเจกต์นี้เป็นการเรียนรู้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และหาความเป็นไปได้ในการสร้างระบบนิเวศใหม่ในอนาคตแทนที่จะต่อต้านกับภัยธรรมชาติตรงๆ ซึ่งเป็นสงครามที่มนุษย์ไม่เคยชนะ
ในโปรเจกต์ Breakwaters ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่การเป็นผู้ส่ง feedback ให้กับนักออกแบบเท่านั้น นักออกแบบไม่ใช่ผู้มีอภิสิทธิ์สูงสุดในการตีความปัญหาและกำหนดวิธีการแก้ปัญหาอีกต่อไป โปรเจกต์นี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความท้าทายต่อกระบวนการที่ปิด และก้าวข้ามข้อจำกัดของ design thinking
นี่คือวิธีที่เรียกว่าการทำให้เกิด “การมีส่วนร่วมในการตีความ” ทำให้การออกแบบการแก้ปัญหามีความเปิดกว้างมากขึ้น การตัดสินใจไม่ถูกผูกขาดโดยผู้ที่เรียกตัวเองว่านักออกแบบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นวิธีที่เรียบง่ายไม่มีอุปสรรค มันอาจจะก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงและความตึงเครียดต่างๆ ตามมา แต่มันคือหนทางที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการเกิดนวัตกรรมที่แท้จริง เพราะปัจจัยที่สำคัญคือการเปิดให้ผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงเข้ามามีส่วนในการตีความปัญหาและเสนอวิธีแก้ไข เพราะลำพังแค่กระบวนการของ design thinking ไม่อาจทำให้นักออกแบบสามารถรับมือกับปัญหาอีกมากมายที่ไม่สามารถแม้แต่จะจินตนาการถึงมันได้
เรียบเรียงข้อมูลจากบทความ Design Thinking Is Fundamentally Conservative and Preserves the Status Quo โดย Natasha Iskander
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด