เปลือยวัฒนธรรม Bully ของไทยผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ปัญหาที่เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง | Techsauce

เปลือยวัฒนธรรม Bully ของไทยผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ปัญหาที่เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง

“ก็แค่เด็กมันเล่นกัน อย่าไปจริงจังกับมันเลย” หลายคนคงเคยเผชิญกับประโยคเช่นนี้ในตอนเด็กต้องประสบกับสถานการณ์และพฤติกรรม “การกลั่นแกล้งรังแก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว

แต่วัฒนธรรมนี้อาจไม่ได้เป็นผลดีสักเท่าไหร่นักเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการ “ขยาย” ทั้งขนาดและความชุกของปัญหา จากเดิมที่การกลั่นแกล้งรังแกอยู่ในวงจำกัดของสังคม ทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying ของไทยทวีความรุนแรงขึ้นจนติดอันดับท็อปไฟว์ของโลก

dtac blog ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งของสังคมไทยที่มีความเกี่ยวข้องและยึดโยงกับค่านิยมและการยอมรับของสังคมไทยมาอย่างช้านาน และดีแทคได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ในการวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ในปี 2562 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying) อย่างยั่งยืน

บูลลี่ = กลั่นแกล้ง+รังแก

บูลลี่ คือรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจ ข่มขู่ หรือละเมิดคนอื่น โดยที่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง เวลาคอมเมนต์ในโลกกออนไลน์ รุมด่า รุมทำร้ายคนอื่น กิจกรรมบูลลี่เกิดขึ้นได้ เพราะว่า เรากระทำสิ่งเหล่านี้ โดยที่คนอื่นไม่รู้ว่าเราเป็นใคร  หรือวันหนึ่งพอรู้ว่าเราเป็นใคร เราก็เพียงออกมาขอโทษ ซึ่งมันทำให้เราไม่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในการกลั่นแกล้งหรือข่มขู่ เช่น การอ้างยศถาบรรดาศักดิ์ ความใหญ่โตในหน้าที่การงาน ซึ่งหากเรามองภาพบูลลี่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจแล้ว เราจะเห็นพฤติกรรมการบูลลี่เต็มไปหมดในสังคมไทย อีกนัยหนึ่ง สังคมไทยได้กลืนเอาพฤติกรรมการบูลลี่เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรม

ทั้งนี้ การบูลลี่ มีส่วนผสมทางพฤติกรรม 2 ประการ หนึ่งคือ การกลั่นแกล้ง ในบริบทไทย เวลาที่ใครพูดถึงการแกล้ง มักจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ยิ่งสนิท ยิ่งแกล้งกันได้มากขึ้น ขณะที่อีกส่วนผสมคือ การรังแก การใช้อำนาจที่เราไปใช้ต่อผู้อื่น และเราไม่ต้องรับผิดชอบ พอเราถูกจับได้ก็ออกมาขอโทษ และสังคมไทยก็เป็นสังคมแห่งการให้อภัย เพราะถ้าไม่ให้อภัยก็จะถูกคนต่อว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการบูลลี่ในสังคมไทย เราจะไม่ค่อยรู้สึกและนั่นทำให้ถูกกลืนไปจนเป็นวัฒนธรรมของความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมาสู่โลกของการแกล้ง และวัฒนธรรมการให้อภัยที่เวลาคนโกรธก็จะต้องให้อภัยและก็จะต้องจบกันไป

ดังนั้น การบูลลี่เลยไม่ถูกตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ผิดและควรมีบทลงโทษ สมควรทำให้หยุดและหมดไปจากสังคม และถ้าเราปล่อยให้เกิดการบูลลี่ไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าสังคมไทยยอมรับให้มีการใช้อำนาจเพื่อการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ หรือว่าละเมิดไปเรื่อยๆ ในรูปแบบของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แล้วก็เกิดการให้อภัย จนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งในระยะยาว สังคมอาจอยู่กันแบบนี้ไม่ได้ มันต้องมีข้อตกลงอะไรบางอย่างที่ไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิด

โลกออนไลน์: เรื่องของอำนาจและพื้นที่

คนเปิดเผยเรื่องบนอินเทอร์เน็ตเพราะเก็บกด โลกออนไลน์ทำให้การบูลลี่ในกลุ่มเล็กไป “ขยาย” จนเป็นการบูลลี่กลุ่มใหญ่หรือบูลลี่ใครบางคนในที่สาธารณะได้ แต่ในอีกด้านนึง คนที่ถูกบูลลี่ที่ไม่เคยส่งเสียงแล้วมีคนได้ยิน ในโลกออนไลน์ก็เปิดให้เค้าได้มีเสียงในสังคม มากกว่านั้น โลกออนไลน์ยังได้เปิดพื้นที่ให้คนที่ถูกบูลลี่เอาคืน จะเห็นได้ว่าโลกออนไลน์ได้ให้ “พื้นที่และอำนาจ” แก่ทั้งคนบูลลี่และคนที่ถูกบูลลี่ต่อสู้กันบนโลกออนไลน์

จากสิ่งที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า โลกออนไลน์เป็นมากกว่าพื้นที่แต่ยังได้ให้อำนาจแก่ปัจเจกบุคคล ซึ่งหากใช้ในทางบวกก็จะสร้างผลกระทบทางบวกยิ่ง ในตรงกันข้าม หากใช้เพื่อความรุนแรง สิ่งนั้นก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น โลกออนไลน์ที่ไม่มีกติกาหรือสังคมละเลยในการสร้างสิ่งเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นพื้นที่ปะทะความรุนแรง

วัฒนธรรมการไม่ยอมรับความแตกต่าง

จากงานวิจัยและการศึกษาหลายชิ้นพบว่า สถานศึกษาเป็นแหล่งพบเพาะวัฒนธรรมการบูลลี่ และเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับอนุบาล เด็กรู้สึกสนุกในการล้อเลียนความแตกต่าง ใครที่แตกต่างใครที่ไม่เหมือนเรา ก็จะถูกล้อ เป็นตัวตลก เป็นเรื่องที่มันแปลกประหลาดไป ขณะเดียวกัน ก็ปัจจัยด้านความสนุกเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อเกิดการบูลลี่ ได้ทำร้าย สนุกสนานกับการล้อเลียนของผู้อื่น เกิดสิ่งที่เรียกว่าความสนุกกับการที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งนี่คือ “วัฒนธรรมการไม่ยอมรับความแตกต่าง” ดังนั้น เมื่อโตขึ้นมา เวลาพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เราพูดถึงการยอมรับความแตกต่างหลากหลายจึงเกิดขึ้นได้ยาก

วัฒนธรรมการไม่ยอมรับความแตกต่างจะทวีความอันตรายมากยิ่งขึ้นเหมือน “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง” (Tip of the iceberg) ที่ดูอาจไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่นัก แต่แท้จริงแล้ว “การบูลลี่” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมด้วยซ้ำไป เมื่อเด็กที่อยู่ในวงจรของการบูลลี่โตเป็นผู้ใหญ่ ความสนุกจากการไม่ต้องรับผิดชอบในวัยเด็กจะกลายเป็นการใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่นโดยไม่ต้องรับผิดชอบ เหมือนในหลายกรณีที่เกิดขึ้นตามหน้าสื่อในปัจจุบัน

ตัดวงจรแห่งการบูลลี่

จากการศึกษายังพบว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งครู มีส่วนที่ทำให้พฤติกรรมการบูลลี่กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย ซึ่งเกิดจากความ “เพิกเฉย” ต่อพฤติกรรมการบูลลี่ว่าเป็น “ปัญหา” ผู้ใหญ่หลายคนล้อเลียนความแตกต่างของเด็กโดยคิดว่าเป็นเพียงการหยอกเล่น แต่ขณะเดียวกัน เด็กไม่สามารถโต้เพียงได้ เพราะด้วยโครงสร้างอำนาจนิยมของไทย ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ได้กลายเป็นแบบอย่างหรือ Role model แห่งการไม่ยอมรับความแตกต่าง เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรมดังกล่าว “ยอมรับได้” และ “พึงปรารถนา”  ซึ่งน่ากลัวมาก

สิ่งเหล่านี้เป็นการหล่อหลอมเด็กในการใช้อำนาจข่มขู่ในทางที่ผิด โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบ และพฤติกรรมเหล่านี้จะกลายเป็น “วงจร” จนกระทั่งเด็กรู้สึกว่าสังคมให้ค่ากับความแตกต่างกับความเหมือนเป็นเรื่องสำคัญ ผศ.ดร.ธานี ทิ้งทาย

โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยคือ ถ้าเราแก้โครงสร้างอำนาจของสังคมไทยไม่ได้ แต่การสร้างให้เด็กตระหนักและการยอมรับถึงคุณค่าในความแตกต่างของสังคม ดูจะมีความหวังมากกว่าการแก้ปัญหาโครงสร้างทางอำนาจ

บทความโดย dtac

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...