ผลกระทบของ COVID-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก | Techsauce

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และครอบคลุมผู้คนมากกว่าวิกฤตการณ์ใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้น  แต่กลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทุนทางสังคมน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า ซึ่งเป็นข้อค้นพบจากการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมา(https://tdri.or.th/2020/06/impact-of-covid19-on-vulnerable-groups/) นอกจากนี้ความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มนี้ก็น้อยกว่าหากปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก 

ในบทความนี้จะเน้นไปที่ผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางที่เป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมทั้งแสดงความคิดเห็นว่าเราควรมีนโยบายสำหรับกลุ่มเปราะบางนี้อย่างไรบ้าง

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่มีเด็กเล็กในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เกิดจากหลายช่องทาง เช่น มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ หรือโรงเรียนปิดตามมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ  บางครัวเรือนที่มีเด็กเล็กและขาดผู้ดูแล จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลเด็ก  และเมื่อเด็กไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อาหารกลางวันและนมจากศูนย์ฯ ทำให้ครอบครัวมีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันไวรัสให้แก่เด็กด้วย

ทางด้านรายได้ ก็พบว่ารายได้ของครอบครัวลดลง เนื่องจากสถานประกอบการปิดหรือหยุดดำเนินการ ห้างร้าน ตลาดนัดปิดตามมาตรการของรัฐ  ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แผงลอย แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มีจำนวนลูกค้าลดลง  เกษตรกรรายได้ลดลงเพราะผู้ซื้อน้อยลง (ห้างร้านปิด ผู้บริโภคลดลง)  บางครอบครัวที่เด็กยังเล็กมาก และไม่สามารถหาผู้ดูแลที่สามารถไว้ใจได้ คนในครอบครัวจำเป็นต้องออกจากงาน ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้ไปอีกหนึ่งช่องทาง 

ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก โดยผลการสำรวจออนไลน์ที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563  (จำนวนตัวอย่าง 27,986 มีผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกจังหวัดในประเทศไทย)  พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กถูกกระทบจาก COVID-19 มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็กในเกือบทุกด้าน (ตัวเลขเทียบระหว่างสัดส่วนในครอบครัวมีเด็กกับสัดส่วนในครอบครัวไม่มีเด็ก)

•    รายได้ลดมากกว่า (81% ในกลุ่มครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก เทียบกับ 70% ในกลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีเด็กเล็ก) เพราะมีสัดส่วนที่เป็นคนทำงานไม่ประจำ หรือธุรกิจนอกระบบมากกว่า

•    รายจ่ายเพิ่มกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด และคิดเป็นสัดส่วนครัวเรือนมากกว่า (13% เทียบกับ 10%)

•    หนี้ในระบบเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า (18% เทียบกับ 13%) และหนี้นอกระบบก็เพิ่มในสัดส่วนมากกว่า (13% เทียบกับ 9%)

•    สายป่านสั้นกว่า คือสามารถอยู่ในภาวะปิดเมืองแบบที่ผ่านมาได้ในระยะเวลาสั้นกว่า เช่น ตอบว่าอยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือนมีสัดส่วนสูงกว่า (21% เทียบกับ 18.5%)

•    ถูกกระทบในช่องทางต่างๆ จากโควิดในสัดส่วนที่สูงกว่า (77% เทียบกับ 68%) และเมื่อแยกตามมาตรการปิดเมือง เช่่น เคอร์ฟิว ปิดร้านค้า จำกัดร้านอาหาร ห้ามเดินทาง ก็ถูกกระทบมากกว่า

•    ความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยกว่า (27-31% ตอบว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนครอบครัวที่ไม่มีเด็กมี 24-26% ตอบว่าแก้ปัญหาไม่ได้)

ผลกระทบด้านสังคม

ด้านการเลี้ยงดู เด็กขาดผู้ดูแลทำให้บางครอบครัวต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งบางครั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก เช่น งานเก็บขยะ งานตัดต้นไม้ งานก่อสร้าง เป็นต้น  หรือบางครอบครัวต้องทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพัง

ด้านโภชนาการ  เด็กที่อยู่ศูนย์เด็กเล็กจะได้รับอาหารและนมตามเวลา  แต่เมื่อเด็กต้องอยู่บ้าน บางครั้งต้องทานอาหารเหมือนของผู้ใหญ่หรือต้องกินข้าวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือไข่  หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนมาซื้อนมกล่องแทนนมผงซึ่งมีราคาแพง  ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน กินข้าวได้น้อยลงเพราะเมนูเดิมซ้ำ ๆ

ด้านพัฒนาการ แม้ว่าการที่ศูนย์เด็กเล็กปิดจะทำให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แต่เด็กก็ขาดกิจกรรมหรือของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และการที่ผู้ปกครองเกรงว่าเด็กจะติดโควิดจึงไม่ค่อยให้ออกไปข้างนอก เด็กจึงต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ ดูโทรทัศน์หรือเล่นมือถือมากขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเอง ขาดระเบียบวินัย

ด้านสุขภาพและการเดินทาง การที่เด็กต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ ประกอบกับอากาศที่ร้อน  เด็กบางคนก็เป็นผดผื่นส่งผลให้อารมณ์หงุดหงิด ไม่เชื่อฟัง  แต่ในส่วนของการต้องพาเด็กไปรับวัคซีนตามนัดพบว่าส่วนใหญ่ยังสามารถพาเด็กไปรับวัคซีนได้ตามกำหนด แต่หากต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะก็จะอาจต้องรอรถนานขึ้น นอกจากนี้จากสถิติการให้บริการตรวจคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการของกรมอนามัย  พบว่าเด็กได้รับการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 (ร้อยละ 63.7 เทียบกับร้อยละ 91.2) หากเด็กมีพัฒนาการล่าช้าก็จะเสียโอกาสในการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

โอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐ

ความช่วยเหลือหรือสวัสดิการที่ครัวเรือนเด็กเล็กได้รับ มีทั้งสวัสดิการที่มีอยู่ก่อน COVID-19 แต่ถูกกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และความช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดครอบครัวยากจนอายุไม่เกิน 6 ปี แม้ว่าจะมีโครงการนี้อยู่แล้วก่อน COVID-19  แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็พบว่ายังมีเด็กยากจนตกหล่นไม่ได้รับเงินอุดหนุนอยู่จำนวนหนึ่ง ปัญหาการตกหล่นนี้เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ความสับสนในขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ความซับซ้อนของกระบวนการรับรองสถานะความยากจน ครอบครัวยากจนบางครอบครัวไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่มีเงินในการเปิดบัญชี บางครอบครัวอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเดินทางไม่สะดวก เป็นต้น เมื่อเกิดโควิดแล้วเกิดปัญหาความยากลำบากในการจดทะเบียนเนื่องจากมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่สำคัญครอบครัวที่ก่อนหน้านี้ไม่จัดว่ามีฐานะยากจนเนื่องจากมีเกณฑ์รายได้สูงกว่าที่โครงการฯ กำหนดไว้ แต่ตอนนี้รายได้ลดลงและกลายเป็นครัวเรือนยากจนใหม่ หากนับกลุ่มนี้ด้วยอัตราการตกหล่น ‘เด็กยากจน’ จะยิ่งสูงมากขึ้น  คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวจะมีเงินเพียงพอในการจัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กได้ 

เงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม จากการสนทนา กลุ่มครอบครัวเด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินจากประกันสังคม โดยไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงยังไม่ได้รับเงิน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เลย  เพราะไม่มีสิทธิ์ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เนื่องจากมีประกันสังคมอยู่แล้ว

เงินเยียวยาตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ครอบครัวส่วนใหญ่ที่ไม่มีประกันสังคมได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่บางครอบครัวต้องเสียเงินจ้างให้คนช่วยลงทะเบียนให้ บางพื้นที่ต้องเสียค่าจ้างสูงถึง 2,000 บาท  นอกจากนี้การสำรวจออนไลน์ที่กล่าวถึงข้างต้น พบว่าครัวเรือนที่มีเด็กเล็กยื่นขอเงินเยียวยา 5,000 บาทน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก (63% เทียบกับ 49%)  แต่มีสัดส่วนผู้ที่ยื่นแล้วไม่ได้เงินมากกว่า (25.8% เทียบกับ 20.2%)  สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้เงิน พบว่าเป็นเพราะได้รับแจ้งว่าไม่มีสิทธิ์ 21.7%  ยื่นแล้วไม่ได้รับการติดต่อ 18.7%  ไม่ทราบรายละเอียดเลยไม่ได้ยื่น 9.1%  (อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะช่วงการสัมภาษณ์โครงการเราไม่ทิ้งกันยังอยู่ระหว่างดำเนินการ) ในขณะที่ครอบครัวเด็กเล็กมีความต้องการใช้เงินส่วนนี้มากกว่า คือมีความเห็นว่าการได้เงินเป็นสิ่งที่ช่วยมากหรือมากที่สุด (47% เทียบกับ 40%)

สินเชื่อฉุกเฉิน ที่ให้กู้ 10,000 บาท ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อดังกล่าว

ถุงยังชีพ  ถุงยังชีพจะได้รับเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้าน และผู้นำชุมชนไปประสานกับทางเขต ส่วนใหญ่คนที่อยู่บ้านเช่าจะไม่ได้รับถุงยังชีพจากเขตแต่ได้รับถุงยังชีพจากมูลนิธิหรือบริษัทเอกชนมากกว่า ที่สำคัญสิ่งของที่อยู่ในถุงยังชีพไม่มีของใช้หรือสิ่งของจำเป็นสำหรับเด็กเล็กเลย

สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอของระบบสวัสดิการในปัจจุบัน  รวมถึงการมี ‘คนจนกลุ่มใหม่’ อันแสดงถึงปัญหาการตกหล่นของผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือมีความรุนแรงขึ้นกว่าในภาวะปกติ  ทางออกในเรื่องนี้คือการมีระบบสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าที่จะสามารถเป็นตาข่ายรองรับไม่ให้ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก  นอกจากนี้ การออกมาตรการใด ๆ ที่จะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวที่เปราะบาง เช่น การปิดศูนย์ดูแลเด็กเล็ก รัฐควรมีการวางแผนรับมือหรือช่วยเหลือชดเชยให้กับครัวเรือนเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง

แหล่งข้อมูล: มาจากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม (face to face interview) จำนวน 100 ตัวอย่าง และการจัดสนทนากลุ่ม (focus group) 4 ครั้งในชุมชนแออัด 4 พื้นที่ ได้แก่ คลองเตย เสือใหญ่ อ่อนนุช และหนองแขม   โดยได้รับความร่วมมือในการเก็บข้อมูลและจัดการสนทนากลุ่มจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม และข้อมูลการสำรวจผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งเป็นการสำรวจออนไลน์ในช่วงระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  และการสนับสนุนจาก UNICEF ประเทศไทย

บทความโดย คุณจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ และ ดร.สมชัย จิตสุชน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...