Financial Crisis วิกฤตการเงินปี 40 ฝันร้ายของนักธุรกิจไทยหลาย ๆ คนในตอนนั้น โดยเฉพาะกับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ (Property)ที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก ส่งผลให้ล้มกันไปตาม ๆ กัน จากซากปรักหักพังที่เป็นสัญญะให้เห็นถึงบทเรียนในช่วงเวลานั้น เมื่อทรัพย์สินต้องกลายเป็นหนี้สิน ผู้ประกอบการที่จะสามารถอยู่รอดได้ต้องมีการปรับตัว และสู้ยิบตาเท่านั้นถึงจะฝ่าฝันมาได้
หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มคุณาลัย (Kunalai) อสังหาริมทรัย์เจ้าถิ่นย่านบางบัวทอง ที่ได้ทุบหนี้ก้อนโตจำนวน 5 พันล้านบาท จนสามารถกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง ผ่านฝีมือของ ‘ประวีรัตน์ เทวอักษร’ ผู้บริหารหญิงแกร่ง บุตรสาวของดร.ปกรณ์ ศังขวณิช หนึ่งในนักธุรกิจผู้บุกเบิกการสร้างเมืองย่านนั้นในยุคแรก พร้อมกันนี้ปัจจุบันเธอนำแบรนด์เก่าแก่ของครอบครัวกลับมาปลุกปั้นใหม่อีกครั้งภายใต้ชื่อ ‘วิลล่า คุณาลัย’ จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทมหาชนที่พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน
เดิมทีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจของครอบครัวที่ได้ทำหมู่บ้านจัดสรรในย่านบางบัวทองมาตั้งนานแล้วและเมื่อปี 2539-2540 ก็ประสบปัญหาอย่างหนักจากวิกฤตค่าเงิน (Financial Crisis) หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในช่วงเวลานั้น ส่งผลทำให้ครอบครัวของเรากลายเป็นหนี้ถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นดิฉันเรียนจบปริญญาโท และกลับจากอเมริกาพอดี ก็เลยต้องกลับมาช่วยครอบครัว
โดยการมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อก็บอกว่าเราจะต่อสู้ด้วยกันสัก 10 ปี โดยตลอดเวลาดิฉันได้เรียนรู้งานในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น งานขาย งานการตลาด งานประสานงาน การกู้เงิน ตลอดจนการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งทำให้ซึมซับ รู้สึกรักและผูกพันกับอาชีพนี้ เวลาเห็นภาพที่ลูกบ้านขึ้นบ้านใหม่ มีรอยยิ้ม แล้วมันทำให้มีความสุข และในปี 2550 หนี้จำนวน 5,000 ล้านบาทก็ลดลงจนไม่มีภาระที่น่าหนักใจ
หลังจากนั้นด้วยความรักที่อยากจะอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อ จึงได้ตัดสินใจเริ่มต้นสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยใช้ชื่อเดิม ซึ่งเป็นแบรนด์เก่าของครอบครัวมาเปิดเป็นบริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด ขึ้นมา เพราะดิฉันมองว่า ‘คุณาลัย’ มันเป็นตำนาน มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น และเราก็เอามาทำใหม่ ปรับแก้ให้ดีขึ้น ด้วยวิธีของเราเอง เพื่อที่จะไม่กลับไปเป็นแบบเดิมอีก
ดังนั้นจึงได้ดำเนินการเปิดบริษัทตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา โดยได้ซื้อที่ดินในย่านบางบัวทอง แถววัดลาดปลาดุก โดยมีสินค้ารูปแบบบ้านชนิดแรกที่เอาเข้ามาทำ คือ บ้านแฝด ซึ่งเป็นการใช้ Innovation ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ โดยให้เขาจ่ายเงินน้อยลง แต่ได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทำ วิลล่า คุณาลัยมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
ในเวลาตรงนั้นถ้าสรุปคร่าว ๆ คือ ประเทศไทยได้มีการลอยตัวค่าเงินขึ้น แล้วส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรง ซึ่งค่าเงินเดิมเคยอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ค่อย ๆไต่ระดับขึ้นตามการลอยตัว หลังจากนั้นก็มี กองทุนรวมเพื่อความเสี่ยง(Hedge Fund) เข้ามาซื้อค่าเงิน ซึ่งตอนนั้นเป็นกระบวนการใหญ่โตมาก ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์จาก 25 บาท ปรับตัวขึ้นไปเป็น 50 บาท
คราวนี้ถ้าให้โฟกัสเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตอนนั้นสถาบันการเงินที่ได้ให้วงเงินกู้ในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ก็หยุดเงินกู้ให้เรา เพราะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งล้ม พอล้มแล้วก็ สัญญาณไม่ดี ก็จะหยุดเงินกู้ แล้วในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการ เราก็มีการทำโครงการบ้านหลายโครงการ บ้างก็มีการถมดิน ตอกเสาเข็มไว้แล้ว แต่พอสถาบันการเงินหยุดให้เงินกู้ บ้านก็ไม่สามารถสร้างเสร็จ และไม่สามารถที่จะโอนให้ลูกค้าได้ และเราก็ไม่มีเงินที่จะไปคืนหนี้ วงจรมันก็เป็นแบบนี้
โดยช่วงแรก ๆ เรามีความหวังว่ามันจะต้องมีกระบวนการบางอย่างที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็เลยเอาเงินสดของครอบครัวที่มีอยู่หลักร้อยล้าน มา Support ดอกเบี้ยไปก่อน แต่ในที่สุดมันก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้ ในประเทศไทยไม่มีใครเคยเจอวิกฤตค่าเงินมาก่อน ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เวลาตอนนั้นเราต้องแบกรับดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี ดอกเบี้ยก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินที่มีอยู่ก็หมดลง ทุกอย่างที่เรามีจากที่เป็นทรัพย์สินก็กลายเป็นหนี้สินทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นส่งผลให้เราก็เป็นหนี้ทั้งหมดราว 5,000 ล้านบาท
ตอนนั้นเนื่องจากหนี้มันก้อนใหญ่มาก เรามีความจำเป็นที่จะต้องปลดพนักงานออก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 300 คน Layoff ออกไป 270 คน เหลือไว้ประมาณ 30 กว่าคน ซึ่งที่ยังคงเหลืออยู่หลาย ๆ คนก็ไม่มีเงินเดือน แต่พวกเขาเต็มใจอยู่ เพื่อที่จะต่อสู้ไปด้วยกัน อย่างน้อยด้วยความอบอุ่นของบริษัทเขาก็รู้สึกว่ามาทำงาน ก็มีข้าวกิน และเชื่อมั่นว่ามันจะต้องดีขึ้น
แล้วเราก็ใช้วิธีการ ‘ปรับปรุงโครงสร้างหนี้’ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมี Mission ที่แตกต่างกันไป แต่ของเรา ด้วยความที่หนี้มันเยอะ เลยคิดว่า ต้องทุบหนี้อย่างเดียว ดังนั้นไม่ว่ากระบวนการใดที่สามารถทำให้หนี้ลดลงได้ เราทำทุกวิธี ทั้งการขายทรัพย์เพื่อชำระหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน และอีกหลาย ๆ วิธีการที่สามารถทำได้
สิ่งที่ทำให้ครอบครัวของเราประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ก้อนนี้ คือ Mission ของคุณพ่อที่วางไว้ว่า จะไม่ยอมเสียชื่อเสียง จะรักษาไว้ให้ลูก ดังนั้นเราจึงเข้าเจรจากับเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อเป็นการมอบตัวก่อนเลยว่าเราจะไม่หนี เรามีสินทรัพย์เป็นแบบนี้ รูปแบบหนี้สินเป็นแบบนี้ก็ไปเจรจากับเขา และแยกแยะ สะสางเรื่อย ๆ ต่อสู้แก้ไขไปทีละจุด ตอนนั้นก็มีหลายธนาคารให้การช่วยเหลือ เพราะเขารู้ว่าเราตั้งใจที่จะทำ
ในเวลาตรงนั้นทุกคนต่างก็ทราบดีว่า มันไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากกำลังสมองที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้
วิธีการ คือ โครงการที่กำลังทำแล้วมันมีศักยภาพพอขายได้ เราก็จะเข้าไปคุยราคาค่าชำระหนี้ เช่น เรามีที่ดิน 100 แปลง หนี้สิน 100 ล้านบาท เราก็จะบอกกับธนาคารว่า จะปลอดโฉนดในราคาแปลงละ 1 ล้านบาท หลังจากนั้นเราก็ไปเจรจากับธนาคารอีกที่หนึ่ง และเอาที่ดินอีกแปลงไปค้ำประกันขอเอาเงินออกมาบางส่วนเพื่อที่นำไปสร้างบ้านให้เสร็จ
พอสร้างบ้านเสร็จก็สามารถโอนได้ แล้วนำเงินไปชำระหนี้ เราก็ทำกันแบบนี้ ก่อสร้างโครงการ แล้วเอาเป็นตัวเดินการเงิน ก็จะทำให้เกิด Cash Flow เราก็จะได้เงินเดือน พนักงานมีงานทำ เจ้าหนี้ได้เงินคืน ผู้รับเหมาก็สามารถลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งประสบการณ์จากการทำงานตรงนี้ทำให้ดิฉันได้ความรู้ และสามารถทำงานต่ออย่างแข็งแกร่ง
แต่ในเชิงประเทศไทยหลังจาก Financial Crisisเกิดขึ้น มันก็มีข้อดีก็คือว่า ประเทศเราได้มีกระบวนการที่จะวางนโยบาย แล้วก็กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม การปล่อยกู้ ทำให้ปัจจุบันสถาบันการเงินเราก็มีความแข็งแรงไม่เหมือนเมื่อก่อน
ลักษณะของการจะเกิดสภาวะฟองสบู่ จริง ๆ แล้วมันมีปัจจัยที่สำคัญอยู่ว่า ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นไปด้วยกัน มันมีโอกาสแน่ๆ เช่น ราคาที่ดินที่ไม่มีการควบคุม ในเวลาตรงนั้นการซื้อที่ดิน มันเหมือนการเก็งกำไร ซึ่งที่ดินเป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลโดยตรงต่อราคาบ้าน แต่ในปัจจุบันรัฐบาลมีราคาประเมิน มีการปรับเปลี่ยนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีการทำงานอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นในแง่ของราคาที่ดินยังคงมีการควบคุมได้อยู่
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่อง การปล่อยกู้ภาคครัวเรือน มาตรกรควบคุมสินเชื่อ LTV การนำระบบ AI มาช่วยในการปล่อยกู้ การตรวจสอบเครดิตบูโร ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยควบคุมทั้งสิ้น เวลามีสัญญาณที่ไม่ดีเกิดขึ้น หน่วยงานผู้รับผิดชอบก็จะสามารถจัดการได้ดีขึ้น เช่น การลอยตัวค่าเงิน ตั้งแต่วันนั้น ประเทศไทยก็มีการลอยตัวถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นค่าเงินก็เป็นไปตาม Demand Supply ที่เกิดขึ้น แต่ในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีมากพอ เลยทำให้ถูกนำเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
ปัจจุบัน 20 ปีถัดมา ประเทศไทยมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น สิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญถูกดูแลโดยคนที่มีความรู้ และมีความสามารถ มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเพื่อช่วยควบคุมที่ ดังนั้นวิกฤติฟองสบู่แบบปี 2540 มันจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมยาก
แต่นอกจากเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก ในอดีตบ้านที่เขาใช้ชีวิตกันอย่างหรูหรา ก็จะหรูหราตามแบบฉบับที่วางไว้กันจริง ๆ แต่ในปัจจุบันผู้คนสามารถเลือกได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่จะมีความโดดเด่นในแบบฉบับของตนเองได้ โดยจะเห็นได้จากการใช้จ่ายของเด็กในปัจจุบันที่จะมีการ Spending น้อย เพราะเขามีทางเลือก
จากประสบการณ์การอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์มานาน เราเคยผ่านวิกฤตต่าง ๆ มามากมาย ก่อนที่จะทำเราได้มีการศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนแล้ว และเรามองเสมอว่า เราคือใคร เราเก่งอะไร และลูกค้าเราเป็นใคร จึงทำให้เราตัดสินใจปักหลักตรงย่านบางบัวทอง เพราะถือเป็นแหล่งที่เรารู้จักลูกค้าดีที่สุด โดยเรามีคอนเซปต์หลักของ ‘วิลล่า คุณาลัย’ ก็คือ สุขใจอยู่บ้านชานเมือง
จากการที่มองว่าในปัจจุบัน คนมักจะมีไลฟ์สไตล์ที่จะแตกต่างกันไปค่อนข้างมาก ดังนั้นการทำบ้านชานเมืองก็เป็นเหมือนการนำเสนออีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งเรานำเสนออย่างจริงจังกับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการตรงนี้ ในทางกลับกันถ้าลูกค้าเป็นวัยรุ่นเขาต้องการอยู่ในเมือง หลังเรียนจบ ก็ทำงาน หาแฟน เขาก็จะไม่อยากที่จะอยู่ชานเมือง แต่เขาจะต้องอยู่คอนโด นอนดึกตื่นเช้า กินน้อย ทำทุกอย่าง ไลฟ์สไตล์แบบนี้ก็ไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะเลือกอีกแบบ
เมื่อไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป สามารถเลือกได้หลากหลาย เราแค่นำเสนอว่าทางเลือกนี้ มันดีแบบนี้ วันนี้อาจจะไม่ต้องการ แต่วันใดวันหนึ่งนึกถึงบ้านชานเมือง ก็จะนึกถึง วิลล่า คุณาลัย
มีลูกค้าเคยบอกว่า วิถีชีวิตเดิมของเขาอยู่ตึกแถวย่านเยาวราช แต่พอเกษียณ สิ่งที่เขานึกขึ้นมาได้ก็คือ เขายังไม่เคยมองท้องฟ้ากว้าง ๆ แล้วมาเห็นของเรา เขาบอกว่า เพิ่งรู้ว่าฟ้ากว้างจริง ๆ มันเป็นอย่างไร มันคือ การพักผ่อนอย่างแท้จริง
สำหรับวิลล่า คุณาลัย พอเราวางไว้ว่าจะเติบโตในพื้นที่ชานเมือง สิ่งที่เราให้ลูกค้าได้มากกว่าความเป็นเมืองก็คือ space ที่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้าน หรือนอกบ้าน มีถนนที่กว้างกว่า และความแอดอัดน้อยกว่าในเมือง ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้ว่าคุ้มค่าต่อสิ่งที่ได้มา ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของเราที่สร้างบ้านอิงจากความต้องการพื้นฐานของคนไทย
จากการที่เราได้ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย และปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเติบโต โดยได้ปรับโครงสร้างบริษัทให้กลายเป็นบริษัทมหาชน และเตรียมพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในปี 2562 หลังจากนี้เราตั้งเป้าหมายว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตปีละ 15-20% และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัท จึงต้องมีการวางกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ และสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ โครงสร้างทางการเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ต่อเนื่องในเรื่องของความมั่นคง โดยที่ไม่มีสะดุด
ในปัจจุบันดิฉันได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากทุกวันนี้เราได้ใช้ชีวิตในที่ทำงานค่อนข้างมาก ถ้านับตั้งเเต่เวลาตื่น เราใช้ชีวิตกับเพื่อนร่วมงานมากกว่าครอบครัวเสียอีก เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมในที่ทำให้ให้ดี เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งประกอบไปด้วย สถานที่ และเพื่อนร่วมงาน
ดังนั้นหลักการตรงนี้นำมาสู่การตัดสินใจในการเลือกคนเข้าร่วมงาน โดยเวลาเลือกพนักงาน จะเลือกจาก DNA ของพวกเขาก่อน ถ้า DNA มันใกล้เคียงกัน เราจะอยู่ร่วมกันได้ ซึ่ง DNA ของวิลล่า คุณาลัยจะมีทั้งหมด 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ เรียนรู้ : การเรียนรู้มันเป็นศักยภาพที่สำคัญ เพราะว่าปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สู้งาน : งานทุกงานมีปัญหาและอุปสรรคเสมอ ดังนั้นต้องสามารถทำงานหนักได้
มีจริยธรรม : สิ่งนี้มีความสำคัญ เพราะเราค้าขาย ในบางครั้งมันก่ำกึ่งระหว่างผลประโยชน์มากๆ และจริยธรรมมากๆ เราเลือกฝั่งไหน อีโก้ต่ำ : ต้องสามารถดุด่าว่ากล่าวกันได้ เพราะเราเองก็ไม่ได้เก่งที่สุด ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรับผิดชอบสูง : สิ่งที่มอบหมายไปแล้ว เขาต้องสู้สุด เพราะเราเชื่อในศักยภาพของคน ถ้าเรามีการ Coaching ที่ดี เรื่องพวกนี้สามารถต่อยอดได้
ซึ่งเมื่อคนในองค์กรของเรามีตรงนี้ มันก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้ง่าย ปัจจุบันในบริษัทจะมีพนักงานเกือบทุก Generation ดังนั้นในการบริหารคนให้ไม่มีปัญหาของช่องว่างทางความคิด จะต้องบ่มเพาะให้พวกเขาแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันให้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันไม่สามารถทำได้ 100% แต่มันจะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะเราเริ่มต้นมาตั้งแต่เลือกคนเข้าทำงาน
สำหรับองค์กรเองมันจะมีหลักการอยู่ 3 ข้อ ที่ถ้าเกิดว่าองค์กรไหนเจออาจจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในอนาคต ได้แก่ ความเฉื่อย การยึดติดกับความสำเร็จแบบเก่า และการเอาความสำเร็จไปยึดติดไว้กับตัวบุคคล ดังนั้นพอมีหลักการเหล่านี้อยู่ แล้วเรามาเจอเรื่องของ Gap Generation เราต้องทุบให้มันแตกให้ได้
ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร บางครั้งถ้าเป็นเรื่องงาน จะปล่อยให้เขาเจอกันเสมอ ดังนั้นตรงนี้มันจะทำให้ไม่มีช่องว่าทางความคิดเกิดขึ้น แต่มันจะกลายเป็น How To ทำอย่างไรถึงจะเเก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ พยายามทำให้พนักงานรู้จักมองหาจุดแข็งซึ่งกันและกัน
ในบริษัทเราจะมีกิจกรรมให้พนักงานทำร่วมกันเสมอ และจะมี Town hall ที่เป็นเวทีให้เขาออกมาพูดเรื่องอะไรก็ได้ เพื่อที่จะทำให้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันทำให้เขารู้จักกันมากกว่าการทำงาน พอเป็นเรื่อของการทำงานแบบนี้ก็เข้าใจได้ ทักษะคนเราไม่หมือนกัน หน้าที่ของผู้บริหาร คือ ดึงศักยภาพของเขามา
จริง ๆ ดิฉันเป็นคนที่เชื่อในความสุข ในการทำอะไรก็แล้วแต่ ทำแล้วจะต้องมีความสุข เพราะถ้าเราไม่มีความสุขก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับมุมมอง บางครั้งคำว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้อง Set ขึ้นมาเอง เราก็อาจจะตั้งให้สั้น และมีความเป็นไปได้ ก็จะทำให้เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จได้บ่อย
พร้อมกันนี้ยังมีเรื่องของความเชื่อมั่นในองค์ความรู้ ดิฉันเชื่อว่าทุกอย่างมันมีหลักการของมัน ปัญหาเกิดขึ้นถ้าแก้ไขตามใจ คิดตามใจ หรือ แก้ตามที่วิธีที่เคยทำสำเร็จมา บางทีมันไม้ใช่ เมื่อเกิดปัญหาให้เอาหลักมาจับ จะได้สามารถไขอย่างมีแนวทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นองค์ความรู้ถือเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ
ความสุข เป็นสิ่งที่จะพาเราไปสู่อีกด้านของจิตใจ ซึ่งจะมีผลต่อการกระทำของเราโดยตรง ถ้าเราจับหลักของความสุขได้ ความกดดันมันหายไป ไม่ว่าทำอะไรมันก็จะออกมาดี
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด