Digital Lending Platform ช่วยลดการเติบโตของเงินกู้นอกระบบและปลดล็อกความเหลื่อมล้ำของผู้เล่นในตลาดให้สินเชื่อ ซึ่งถูกขับเคลื่อนจากการมาบรรจบกันของ e-KYC และ NDID ในจังหวะเวลาที่ลงตัว จนพลิกโฉมการแข่งขันในธุรกิจการเงินให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากมุมมองของ ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
งานหลักที่ดูตอนนี้คือเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ครอบคลุมทั้งบ้ตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคค และสินเชื่อผ่อนชำระสินค้า ที่มีฐานลูกค้ากว่า 8 ล้านราย อีกบทบาทหนึ่งคือดูในเรื่องของ Digital Banking และ Innovation ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่เพิ่งเริ่มเข้าไปช่วยดูด้านทิศทางของธุรกิจให้บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด (Krungsri Finnovate Co., Ltd.) ที่ทำด้านการลงทุนและบริหารจัดการ Startup นอกจากนี้ก็คือเป็นประธานชมรมบัตรเครดิตของสมาคมธนาคารไทยด้วย
หลายสถาบันการเงินพยายามที่จะทำให้การปล่อยสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลัดกันเรื่องสินเชื่อออนไลน์กันมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่อาจเป็นจริงได้ แต่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าฝันที่เราตั้งหน้าตั้งตารอว่าจะไม่ต้องใช้กระดาษอีกแล้วจะเป็นจริงหรือ purely online น่าจะเกิดขึ้นจากการผลักดันในเรื่อง e-KYC หรือระบบการแสดงและยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม e-KYC เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ทว่าไม่สามารถทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพได้ เพราะมี requirement มากเกินไป ขณะที่ e-KYC ที่มาในเวอร์ชั่นใหม่และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้ระบบ e-KYC สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมี National Digital ID หรือ NDID (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) เพื่อให้ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัดเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลให้สามารถเชื่อมต่อและดึงข้อมูลจากหลาย ๆ ส่วนมายืนยันตัวตนของบุคคลได้ เช่นเดียวกับที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถอนุมัติสินเชื่อโดยการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลหรือ Information Based Lending
หลังจากปีนี้ Lending Landscape จะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จะเกิดการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบที่จะไม่มีเรื่องของขนาดผู้เล่นมาเป็นข้อจำกัดอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมว่าใครจะทำได้ดีกว่า หรือใครจะสามารถเข้าไปอยู่ในเกมการตลาดนั้นได้
ตามที่ผมเคยพูดเสมอคือ ใคร ๆ ก็ปล่อยกู้ได้ แต่ไม่ใช่จะได้หนี้คืนมาเสมอ เพราะการให้สินเชื่อจำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงและการติดตามทวงถามหนี้ที่ดีด้วย ซึ่งต้องพึ่งพาทีมงานและการเรียนรู้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่เพียงแค่ข้อมูลทางการเงินเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ credit score แต่ต่อไปจะมีข้อมูลอื่น ๆ มาช่วยให้สามารถตรวจสอบความเสี่ยงของผู้กู้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น พฤติกรรมของลูกค้าบน Social Network การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้บริการอื่น ๆ ทาง app เป็นต้น
ตอนปล่อยกู้วันนี้ลูกค้าทุกคนต่างก็ดีหมด แต่ความเสี่ยงจะเกิดต่อเมื่อผ่านไป 24 ถึง 48 เดือนแล้ว ดังนั้นจึงขึ้นกับว่าใครจะ monitor และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้คุณเอาตังก์คืนมาได้
อาจจะยังไม่ถือเป็น platform โดยตรง แต่หลังจากมี Big Data และ AI ทำให้มีข้อมูลเชิงสถิติและกระบวนการที่ช่วยให้คาดการณ์ได้จากพฤติกรรมของผู้กู้ว่าหากเป็นรูปแบบนี้แล้วมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียได้ภายในเมื่อใด ซึ่งปัจจุบันด้วยระบบที่มีอยู่สามารถทำนายได้เร็วสุดในช่วงระยะ 6 เดือน แต่ถ้าเร็วขึ้นเป็น 3 เดือนจึงจะนับว่า predictive power สูงมาก
นอกจากนี้การเฝ้าสังเกตข้อมูลเครดิตบูโรก็มีส่วนช่วยให้การติดตามหนี้มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน หรือจำเป็นต้องเปิดหูเปิดตาเรื่อย ๆ ว่าลูกค้าไปสร้างหนี้เพิ่มขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นหรือไม่ ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม ซึ่งย่อมนับว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น
Big Data และ AI จะช่วยให้ปล่อยกู้และติดตามหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การก่อหนี้เกินตัวเป็นพฤติกรรมการใช้เงินของแต่ละคนที่ติดตัวมาอยู่แล้ว เพียงแต่เทคโนโลยีช่วยให้การอนุมัติสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้ผู้บริโภคขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น หรือเท่ากับมีส่วนช่วยลดการเติบโตของหนี้นอกระบบนั่นเอง
ขณะที่ micro lending ที่เดิมจะวนเวียนอยู่แต่ในกลุ่มนอกระบบ เพราะไม่สามารถปล่อยผ่านระบบสถาบันการเงินได้ ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับความเสี่ยงแต่เป็นเรื่องของตันทุน จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วเพียงแค่วันนี้เรายกมาใส่ไว้ในระบบสถาบันการเงิน
ยิ่งมีการแข่งขันมากขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์กับลูกค้า เพราะช่วยให้กลุ่มที่เดิมเข้าถึงสินเชื่อได้ยากจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ขณะที่ฝั่งผู้ให้สินเชื่อก็จะเข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น กรณีที่ธุรกิจในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยาคือ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และกรุงศรี ออโต้ (ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ที่บริหารโดย บมจ. อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส) ร่วมมือกับ Lalamove (ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นขนส่งสินค้าแบบ On Demand) ด้วยการให้สินเชื่อกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเครือข่ายของ Lalamove ที่มีผลงานดีเยี่ยมก่อน (กลุ่ม Super Star และ Star) ซึ่งครอบคลุมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อผ่อนชำระ ตลอดจนบริการทางการเงินอื่น ๆ ด้วย
“ด้วยข้อมูลที่อยู่บน platform ก็จะบอกได้ว่าแต่ละเดือนขี่รถไปแล้วกี่รอบ มีรายได้เป็นเท่าไรแล้ว มีความต่อเนื่องในการทำงานอย่างไร มีพฤติกรรมการทำงานในแต่ละวันอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยบอกถึงความเสี่ยงของลูกค้าได้ว่ามีมากหรือน้อย”
นอกจากนี้ เชื่อว่าในอนาคตจะเกิด platform ที่ให้ข้อมูลแบบ vertical หรือข้อมูลเชิงลึกของแต่ละกลุ่มสายอาชีพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามขึ้นกับว่าแต่ละสถาบันการเงินจะนำข้อมูลต่าง ๆ เช่น เครดิตบูโร พฤติกรรมบน Social Network หรือ อื่น ๆ มาใช้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อด้วยหรือไม่ อีกทั้งเป็นไปได้ที่จะเห็นผู้เล่นใหม่ที่เน้นทำตลาดสินเชื่อในแบบ vertical เพิ่มขึ้นอีกก็ได้ แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นกับว่าปล่อยไปแล้วจะบริหารความเสี่ยงและตามเก็บหนี้คืนได้จริงหรือไม่
e-KYC และ NDID นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และช่วยแก้ปัญหาการระบุตัวตนสำหรับหลายธุรกรรม เพราะเมื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลบุคคลโดยไม่ต้องแสดงบัตรประชาชนที่เป็นพลาสติกแต่ทำโดยระบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปแสดงตัวที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ แล้ว อีกทั้งด้วย e-Signature ก็ช่วยให้ไม่ต้องเซ็นเอกสาร จึงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและกิจกรรมในทุกอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมถูกนำไปใช้กับผู้ที่มีความพร้อมก่อน เช่น ธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีความเข้มข้นในการระบุตัวตนของลูกค้าสูงสุด แต่ต่อไปจะขยายไปยังมิติอื่น ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ บริษัทประกัน เป็นต้น
“e-KYC จะเป็นตัวตั้งตั้น ต่อไปก็จะเห็นกระแสเรื่อง Biometrics อื่น ๆ มีบทบาทมากขึ้น”
ในส่วนของ Blockchain จะเกิดการนำมาใช้งานจริงจังมากขึ้น “ในเชิงธุรกิจ” ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น สำหรับ “ในเชิงตลาดผู้บริโภค” Cryptocurrency ในส่วนของเมืองไทยก็ดูมีความเป็นไปได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะเราเริ่มยอมรับให้มีการซื้อขายที่ถูกต้องได้ มีระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา มีการออก ICO เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เป็น as a service ที่ไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงเห็นแนวโน้มที่บรรดาธนาคารพาณิชย์สร้าง ecosystem ให้เกิดกับหลาย platform
คงหนีไม่พ้นว่าผู้เล่นที่น่ากลัวจริง ๆ สำหรับกลุ่มสถาบันการเงิน คือ Tech Enterprise รายใหญ่ เช่น LINE ที่เริ่มขยายตัวเองออกไปไกลกว่า Messaging Platform แต่ต่อยอดไปบริการต่าง ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การชำระเงิน ขนส่ง หรืออื่น ๆ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการจากประเทศจีนหลาย ๆ บริษัทและ Facebook ก็เริ่มเข้ามาในตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จากข้อได้เปรียบในแง่ฐานลูกค้า เทคโนโลยี และเงินทุน ก็ย่อมมีโอกาสแข่งขันได้เหนือกว่า
ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลย แต่จะเป็นในลักษณะลงลึกหรือเป็น vertical ที่สุดท้ายแล้วจะเหลือผู้ชนะเพียงไม่กี่รายในกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ เช่นกลุ่ม payment gateway, royalty platform เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นตลาดใหญ่และมีกลุ่มที่มีอำนาจในการซื้อแค่ไม่กี่สิบล้านคน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมี Fintech Startup จำนวนมากมายได้
จะเป็นผู้นำได้ platform ต้องดี ตีโจทย์ของผู้บริโภคแตก สามารถ plug in กับเจ้าของพื้นที่เดิมหรือผู้ประกอบรายใหญ่ได้ ก็ช่วยให้บริษัทเติบโตได้ แต่คงยากที่จะทำพุ่งขึ้นไปได้ขนาดไปฆ่าเบอร์หนึ่งได้
มองว่า Big Data และ AI จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของแทบทุกธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการควรรู้ว่าจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรก่อน จึงจะรู้ว่ายังขาดอะไร และต้องไปเพิ่มอะไร แล้วจะสร้างประสิทธิภาพอย่างไรด้วย Big Data และ AI
“ธนาคารมองว่า Big Data และ AI จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีมีผลต่อการช่วงชิงชัยชนะ แต่การนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์จะช่วยต่อยอด business model ใหม่ ๆ ได้”
ใกล้ถึงจุดที่เราจะรู้พฤติกรรมลูกค้าจาก app ที่เราให้บริการ จากการใช้บัตรเครดิตของลูกค้า หรือแม้แต่จาการโทรเข้า call center อาทิ ทุกวันนี้สามารถคาดการณ์ได้แล้วว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าจะมีคนจำนวนเท่าไรที่จะเปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ซึ่งวิเคราะห์จากยี่ห้อโทรศัพท์และรุ่นที่ดาวน์โลด app จากการเข้าไปอ่านข้อมูลทางออนไลน์ ตลอดจนจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
รวมถึงการทำตลาดแบบรายบุคคลหรือเป็น tailor-made มากขึ้น เช่น แจ้งโปรโมชั่นเฉพาะคุณล่วงหน้า 1 ชั่วโมงสำหรับร้านอาหารที่ไปกินประจำ หรือแม้แต่นำเสนอว่าให้จองโต๊ะให้ด้วยก็ได้ ที่ในที่สุดอาจขยายจนเป็น e-market place ในที่สุด หรือหลุดจากเกมการแข่งขันของธนาคารไปสู่การเป็น commerce มากขึ้นจากที่เรามีข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้นในแบบ right content right time
ตอนนี้ในองค์กรมีเด็กรุ่นใหม่มาร่วมงานกับองค์กรเรามากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้คนหลายรุ่นสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนทะลุกำแพงการสื่อสารจากผู้บริหารระดับบนลงมาล่าง
ดังนั้นอันแรกที่เราปรับคือเรื่องการสื่อสารภายในองค์กร ซึ่งเริ่มค้นหาว่าช่องทางใดจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสารมากสุด และรูปแบบ content ใดที่พนักงานนิยมใช้ ต่อมาคือต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์ของการสื่อสารคืออะไร นั่นคือเรื่องใดที่ต้องการข้อมูล หรือเรื่องใดที่อยากให้ข้อมูล ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยให้องค์กรหรือธนาคารแตกยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ หรือเอาชนะคู่แข่งได้
การช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและสร้าง environment ที่สามารถก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ คือวัตถุประสงค์หลักของการปรับวัฒนธรรมองค์กร
ด้วยพนักงานที่มีถึง 20,000 คนคงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่ขอให้เริ่มจากคนราว 5% ที่ช่วยเราและสามารถพูดหรือโน้มน้าวให้คนกลุ่มใหญ่รู้สึกคล้อยตามแล้วต้องการมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลง
เมื่อราว 2 ปีก่อนเราตั้งทีมที่เรียกว่า ‘ซุปเปอร์จี๊ด’ จำนวนราว 30 - 40 คน ที่คัดเลือกจากหลาย ๆ มิติ เช่น อายุงาน ศักยภาพการทำงาน กิจกรรมบน social network โดยเริ่มจากเรียกมาพูดคุยถึงแนวทางการปรับวัฒนธรรมองค์กรแล้วให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปสื่อสารต่อยังคนกลุ่มใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ได้มากที่สุด แต่แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะครบถ้วนทั้ง 100%
ผมใช้เวลาว่างกับการอ่านหรือดูข้อมูลเรื่อย ๆ เพื่อเปิดโลกและช่วยให้เรามีข้อมูลเพื่อพร้อมปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ตลอด จึงจะสามารถดำเนินชีวิตและการทำงานได้ถูก แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนรุ่นเก่าจึงติดกับการอ่านข้อมูลหรือหาความรู้จักหนังสือเล่ม แม้ว่าก่อนนี้จะลองพยายามไปอ่านในรูปแบบอื่น เช่น ออนไลน์ มาแล้ว แต่ไม่ถูกจริต
ทุกวันนี้ก็อดไม่ได้ที่จะชอบเดินเข้าร้านหนังสือและซื้อหนังสือเก็บไว้จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกอ่านหลากหลายหัวข้อ เช่น ธุรกิจ เทคโนโลยี การบริหารจัดการ การพัฒนาตัวเอง ชีวประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
แต่ที่สำคัญคือถ้าอ่านแล้วมีแค่ประโยคเดียวที่สำคัญจนจุดไฟในตัวเราหรือได้แนวคิดที่นำมาปรับใช้แล้วสร้าง impact กับธุรกินของเราได้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว
เวลารู้สึกท้อหรือ down ผมค่อนข้างดึงตัวเองกลับมาได้เร็วกว่าคนอื่น ด้วยการฟังเพลง What a Wonderful World และ ลีฟ แอนด์ เลิร์น (Live and Learn) ซึ่งไม่รู้เหตุผลว่าทำไมถึงช่วยได้ แต่ทุกครั้งที่รู้สึกหม่น ๆ พอฟังเพลงพวกนี้ก็จะรู้สึกดีขึ้น
อีกวิธีคือการอ่านหนังสือ เพราะเมื่อไปมีสมาธิหรือสนใจกับเนื้อหาในหนังสือแล้วก็จะช่วยให้ลืมเรื่องที่หมองหม่น นั่นคือหนังสือเรื่อง What I Wish to Know When I was 20 ที่อ่านเป็นรอบที่ 3 แล้วทุกครั้งที่อ่านก็จะช่วยให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ
แต่จริง ๆ แล้วที่มีประสิทธิภาพมากสุดคือครอบครัว เพราะลูกคือแบตเตอรี่ที่ดีที่สุดเท่าที่มวลมนุษยชาติได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะรู้สึกแย่อย่างไรได้กอดลูกสองคนก็เหมือนชาร์จแบตเตอรี่เต็มเร็วที่สุด
เราต้องมีสติและอย่าไปหมกมุ่นกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมักบอกตัวเองเสมอว่าให้ผมในอนาคตมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแทนแล้วกัน เพราะถ้าไม่หยุดคิดก็ไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาตรงนี้ไปทำอย่างอื่นได้ ยกเว้นเรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องแก้ให้ได้ก็ต้องพยายามเค้นตัวเองเพื่อหา solution ที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นเรื่องนี้แล้วจะได้ไปทำเรื่องอื่น ๆ
สูดลมหายใจลึก ๆ แล้วออกไปจาก environment ตรงนั้นก่อน แล้วสักพักค่อยคิดออกเอง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด