จาก The Great Resignation สู่ The Great Layoff ปรากฏการณ์ชะลองาน-เลิกจ้างทั่วโลก | Techsauce

จาก The Great Resignation สู่ The Great Layoff ปรากฏการณ์ชะลองาน-เลิกจ้างทั่วโลก

ปรากฏการณ์ปลดพนักงาน (Layoff) ของบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เคยเฟื่องฟูในอดีต กำลังสั่นคลอนภาพจำของการเป็นบริษัทสมัยใหม่ที่ก่อตั้งมาพร้อมกับนวัตกรรมเทคโนโลยี ภาพของการการเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการทำงานสำหรับคนที่มีไอเดีย ซึ่งทำให้คนเก่งๆ จำนวนมากตั้งเป้าหมายเติบโตในสายอาชีพของตนเองผ่านการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมของบริษัท แต่ดูเหมือนว่าแผนการขยายธุรกิจที่เติบโตราวกับฟองสบู่ กำลังประสบปัญหาที่เข้ามาจากหลากหลายด้าน

สภาวะ Downturn ต่อเนื่องทำให้ยักษ์ใหญ่หลายเจ้าที่มีผลงานโดดเด่นในซิลิคอนแวลลีย์อย่าง Meta , Netflix, Amazon , Microsoft หรือ Uber ต่างพากันประกาศชะลอตัวในการรับพนักงานใหม่ ในบางกรณีที่ประกาศปลดพนักงานจำนวนมาก จากการสำรวจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา พบว่ามีพนักงานถูกเลิกจ้างกว่า 16,000 คน ท่ามกลางบริษัทกว่า 60 แห่งในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนบริษัทเทคโนโลยีในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่มีการเลิกจ้างเกินกว่า 5,000 คนในปีนี้

จาก The Great Resignation สู่ The Great Layoff ปรากฎการณ์ชะลองาน-เลิกจ้างทั่วโลก

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มาตรการการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ผู้คนทั่วโลกปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันและใช้เวลาภายในที่อยู่อาศัยของตนเองมากขึ้น รูปแบบอุปสงค์ของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้สินค้าบริการบางประเภทกลายเป็นที่นิยม เช่น อุปกรณ์เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แอพลิเคชันซื้อขายสินค้าออนไลน์ บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิง เป็นต้น และในขณะเดียวกันที่บางธุรกิจต้องปิดกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนคงที่ ทั้งด้านสถานที่ผลิต กระบวนการโลจิสติกส์ หรือการจัดการสวัสดิการของพนักงานไม่ไหวอีกต่อไป  

COVID-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก 

ในระยะต่อมา สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลายและดูเหมือนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่กระนั้นเศรษฐกิจโลกก็ดำเนินเข้าสู่ช่วงซบเซาอีกครั้ง เพราะพิษจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ปะทุขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022  การตอบโต้ด้วยมาตรการทางการเงินและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างกันสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค หลายประเทศเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นตามด้วยการพุ่งสูงขึ้นของราคาอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุที่จำเป็นในการผลิตระดับโรงงานอุตสาหกรรม ซ้ำเติมความเสียหายของปัญหาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Supply Chain Disruption) อย่างมีนัยสำคัญ เจ้าของธุรกิจน้อยใหญ่ต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกันที่ภาระได้ตกไปอยู่ที่คนทั่วไปทั้งในฐานะผู้บริโภคและพนักงานของบริษัทเหล่านี้

การระงับกิจการหรือถอนกิจการจากรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายธุรกิจระดับโลกต้องเปลี่ยนเส้นทางการผลิตของตนเอง สูญเสียรายได้มหาศาลจากผู้ใช้งานขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ ต่อเนื่องด้วยการควบคุมการแพร่ระบาดในจีนที่เข้มงวดต่อเนื่อง ธุรกิจทั่วโลกที่มีฐานผลิตในจีนเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะการปิดโรงงานภายในจีนชั่วคราว จะเห็นว่าจากปัจจัยเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันในระดับโลก ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ซ้ำเติมให้วิกฤตเศรษฐกิจภายในปี 2022 นี้ดำเนินเข้าสู่ช่วงภาวะถดถอย

วิกฤติเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ

ผลกระทบต่อมาจาก COVID ภาวะสงคราม ราคาน้ำมัน และวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารที่พุ่งสูง สร้างอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นทั่วโลก นำมาโดยสหรัฐอเมริกาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องจัดประชุมเพื่อเตรียมประกาศมาตรการควบคุมดอกเบี้ยอยู่เป็นประจำ และเมื่อสหรัฐฯ เกิดภาวะเงินเฟ้อเด่นชัด ทำให้ส่งผลกระทบไปยังธนาคารกลางของแต่ละประเทศที่ต้องสร้างมาตรการรองรับตามไปด้วย และล่าสุด ธนาคารโลกประกาศลดเปอร์เซ็นต์ GDP อีกครั้งโดยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 เหลือเพียง 2.9% จากเดิม 3.2% โดยเตือนว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยธรรมดา แต่เป็นความเสี่ยงที่เข้าใกล้ Stagflation โดยหลายปีที่ผ่านมานี้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยสวนทางกับการเติบโตที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 

VC เตือน ตลาดทุนชะลอตัวเดินหน้าสู่ช่วง Downturn

บรรดากลุ่ม VC ซึ่งประกอบไปด้วย Y Combinator ที่ลงทุนใน Startup เจ้าดังหลายเจ้า อย่าง Dropbox, Coinbase, Airbnb และ Reddit รวมถึง Target Global, OTB Ventures, TheVentureCity และ Sequoia Capital เริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อพุ่งสูง จึงได้ออกคำเตือนให้บรรดากลุ่มธุรกิจและสตาร์ทอัพทุกบริษัท “Plan for the Worst” เสนอคำแนะนำให้บริษัท สตาร์ทอัพ และนักลงทุนเปลี่ยนแผนดำเนินงานเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนในอนาคต โดยแนะนำให้บรรดา Startup ลดค่าใช้จ่ายและมุ่งขยายเงินทุนสำรองที่ใช้ดำเนินกิจการของบริษัท เพราะไม่มีกิจการไหนที่รอดจากผลกระทบ เมื่อมองจากมุมเศรษฐกิจมหภาค และจากการที่เกิดปัจจัยด้านลบทางเศรษฐกิจมากมาย ทำให้กลุ่มนายทุนเริ่มเปลี่ยนทิศทาง Downgrade Position Port โดยชะลอการให้เงินลงทุนในบาง Sector

Nathan Benaich VC จาก Air Street Capital กล่าวว่า "อุตสาหกรรมโดยรวมได้ให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ให้ดำเนินงานแบบ Conservative มากขึ้น แทนการสนับสนุนแผนงานที่วางไว้ของปีก่อน และให้มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ใช้ได้ผลในปัจจุบัน มากกว่าจะเดิมพันกับแผนในระยะยาว จนกว่าจะสามารถอ่านตลาดได้ดีขึ้น”

Michael Stothard นักลงทุน Startup จาก Firstminute Capital ในลอนดอน กล่าวว่า "คำแนะนำโดยปกติของเขาคือการขยายรันเวย์ ซึ่งนั่นหมายความว่า Startup ต้องทำการลดต้นทุนหรือทำการเพิ่มทุน หากพวกเขาสามารถทำได้"

VC หลายแห่ง มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพของเงินทุนสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นถึงสัญญาณที่บ่งชี้ว่าบรรดาผู้ก่อตั้งจำเป็นที่จะต้องรับฟังนักลงทุนของตนที่ดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารมากขึ้น และเป็นการยากสำหรับธุรกิจที่ไม่ทำกำไรได้ตามที่ตั้งไว้  แต่ละบริษัทอาจต้องดิ้นรนต่อสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น สร้างความกดดันต่อสตาร์ทอัพในการควบคุมรายจ่าย ตอกย้ำถึงภูมิทัศน์การระดมทุนที่ไม่ได้จมอยู่กับเงินร่วมลงทุนอีกต่อไป 

เริ่มการพลิกผันเข้าสู่ปรากฏการณ์ Layoff

ภาคธุรกิจต้องเจอศึกหนักในการพยุงบริษัทของตนให้อยู่รอดในสถานการณ์ดังกล่าว องค์กรขนาดใหญ่เล็ก รวมถึงสตาร์ทอัพจำเป็นต้องปรับขนาดองค์กร บางธุรกิจอาจรับพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น บริการด้านออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และในบางธุรกิจที่ต้องลดจำนวนพนักงานหรือชะลอการจ้างงานลง เปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจที่ต่างไปจากเดิมเท่าที่ทำได้เพื่อปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าภาคการผลิตและการขนส่งเริ่มฟื้นตัว เพราะ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายในช่วงปลายปี 2021 แต่ก็ฟื้นได้ไม่เต็มที่ เนื่องด้วยสงครามในภูมิภาคยุโรป ความไม่แน่นอนในจีนที่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปิดตัวของโรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Electronics, Automotive, Technology, Machinery เพราะกำลังในภาคการผลิตไม่สามารถฟื้นคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ 

นักวิเคราะห์จากสื่อนอกหลายสำนัก เริ่มรายงานถึงสัญญาณของ Post-Pandemic ที่นำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานในบริษัทเทคโนโลยีตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 และชัดเจนขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ในขณะที่สตาร์ทอัพในซิลิคอนแวลลีย์เริ่มประกาศเลิกจ้างพนักงาน โดยมีบริษัท 29 แห่งที่เลิกจ้างพนักงานตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ตามข้อมูลของ Layoffs.fyi  แพลตฟอร์มที่ติดตามการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ต่อเนื่องยังเดือนพฤษภาคมที่มีพนักงานกว่า 16,000 ถูกเลิกจ้าง ซึ่งหากรวมตั้งแต่ช่วงโควิดเริ่มระบาดรุนแรงในเดือนมีนาคม 2020 พบว่ามีสตาร์ทอัพประมาณ 786 รายทั่วโลกที่เลิกจ้างพนักงาน รวมแล้วกว่า1.32 แสนคน บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานในภาคของธุรกิจและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีนั้นกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต และนี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี 

จาก The Great Resignation สู่ The Great Layoff ปรากฎการณ์ชะลองาน-เลิกจ้างทั่วโลก

ภาพ New Startup Layoffs since COVID-19 จาก Layoffs.fyi

เกิดเหตุการณ์เลิกจ้างแบบโดมิโน

- Netflix ปลดพนักงานราว 150 คน หลังจากที่มียอดผู้ใช้ลดน้อยลง ท่ามกลางสงครามสตรีมมิ่ง 
Meta หยุดการจ้างงานเพิ่ม และยังต้องลดเงินทุนในการวิจัย AR เพื่อนำงบไปใช้ส่วนอื่น
- Twitter ชะลอการจ้างงาน และยังได้ปลดพนักงานระดับสูง เพื่อเปลี่ยนทิศทาง ระหว่างรอ Elon Musk ซื้อกิจการ
Amazon ลดการจ้างงานในคลังสินค้า โดยให้เหตุผล “ใช้คนเยอะเกินไป” โดยอ้างว่าเสียโอกาสไปกว่า 2 พันล้านเหรียญในการจ้างงาน
Walmart จ้างคนเยอะไปเพื่อทดแทนแรงงานที่หายช่วงโควิด พอปีนี้ ผู้คนกลับมาทำงานเยอะกว่าที่คาดไว้
Snap บริษัทแม่ของ Snapchat ยืนยันว่าจะลดการจ้างงานเพราะทำรายได้ไม่ตรงเป้า 
PayPal เลิกจ้างพนักงานหลายสิบคนจากสำนักงานใหญ่ที่ San Jose ในสหรัฐอเมริกา
Uber ปรับลดรายจ่ายเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ให้มากที่สุด 
Gorillas แอปฯ ขายของชำอยู่ในขั้นตอน “การตัดสินใจที่ยากลำบาก” ปลดพนักงานประมาณ 300 คน
Instacart แอปฯ Delivery โลจิสติกส์ขายของชำก็ได้ชะลอการจ้างงาน
Saleforce นอกจากจะชะลอการจ้างงานแล้ว ยังยกเลิกการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ส่วนใหญ่ด้วย
Nvidia ชะลอการจ้างงานในปีนี้ เพื่อรักษางบประมาณในการดูแลพนักงานที่มีอยู่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
intel หยุดการจ้างงานสำหรับแผนกที่รับผิดชอบด้านชิปประมวลผลเพื่อลดต้นทุน
- Tesla ที่ก่อนหน้านี้ Elon Musk ได้พูดถึงการมีพนักงานในกิจการ EV มากเกินไป เป็นการส่งสัญญาณเลิกจ้างงานล่วงหน้า และต่อมา Country Manager ของ Tesla ประจำสิงคโปร์ได้ถูกปลดเมื่อไม่นานนี้

ขณะเดียวกันเมื่อขยับมาที่จีนและอินเดีย ต่างก็ล้วนตกอยู่ในกระแสการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่เช่นกัน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 บริษัทเทคโนโลยีประมาณ 19 แห่งในจีนได้ปลดพนักงานบางส่วนออก เช่นบริษัทอีคอมเมิร์ซในจีน ตามด้วยบริษัท edtech และบริษัทเกม Alibaba, Tencent และ JD.com ได้เลิกจ้างพนักงานไปก่อนหน้านี้แล้ว โดย Alibaba ลดจำนวนพนักงานลงมากกว่า 15% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในปีนี้ ขณะที่ Tencent และ JD.com ได้ปลดพนักงานราว 10% ถึง 15% ขณะที่อินเดียมีพนักงานถูกเลิกจ้างจากสตาร์ทอัพต่างๆ กว่า 5,000 คนทั่วประเทศ และบริษัทอย่าง OYO, Ola, PharmEasy มีแผนการเลื่อนออก IPO ไปล่าช้ากว่ากำหนด และปัจจุบันอินเดียเหลือสตาร์ทอัพที่มีสถานะยูนิคอร์นเพียงแห่งเดียว จากเดิมที่มีถึง 15 แห่ง สาเหตุจากการ Downsizing ขนาดองค์กรและการปรับตัวตามกฎระเบียบที่ควบคุมการทำงานบริษัทเทคโนโลยี 

โดยสถานการณ์สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมมากขึ้น โดเฉพาะอินโดนีเซียปรับตัวมากที่สุด ได้แก่ edtech Zenius บริษัท Fintech LinkAja และบริษัทในเครือของ JD.com ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีรายงานว่าพนักงานแต่ละคนปลดพนักงาน 200 คนบริษัท จากข้อมูลรายงานว่าสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียปรับลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในเดือนพฤษภาคม การระดมทุน VC สำหรับสตาร์ทอัพในภูมิภาคที่ลดลงไป 36.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 7% ในไตรมาสแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของ Crunchbase

ส่วนในบ้านเรานั้น กำลังเห็นสัญญาณการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่นี้เด่นชัดขึ้นเมื่อ Shopee ได้ปลดพนักงานทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง Shopee ในไทยบางแผนกนั้นถูกเลิกจ้างมากกว่า 50%  ทำให้ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องติดตามถึงท่าทีบริษัทอื่นๆ ว่าจะมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดต่อไป เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมากต่อทุกฝ่าย ทั้งเจ้าของธุรกิจและพนักงานที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมจากสภาวการณ์ดังกล่าว

ดูเหมือนว่าบริษัทในแวดวงเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ที่เติบโตจนมีมูลค่าสูงในช่วงโควิดดำเนินมาสู่จุดที่สิ้นสุดวงจร โดยในทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าที่พุ่งสูงขึ้นและการเสนอขายหุ้น IPO ที่เฟื่องฟูต่อเนื่อง ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในโอกาสและการเติบโต ดูเหมือนจะถึงจุดอิ่มตัว ข้อเสนอที่ให้ประโยชน์สูงกับพนักงานกว่าในตลาดกลายเป็นต้นทุนสูงยากต่อการบริหารจัดการ การเลิกจ้างคือวิธีการเบื้องต้นของธุรกิจเพื่อปรับสมดุลค่าใช้จ่ายเงินสดสำรอง ในขณะเดียวกันอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงผลกระทบที่อาจส่งผลถึงกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหลังจากนี้


อ้างอิง

Everything you need to know about tech layoffs and hiring slowdowns

Post-pandemic reset leads to wave of layoffs in tech

Tech layoffs top 15K in a brutal May

Tech Layoffs In 2022: The U.S. Companies That Have Cut Jobs 

Silicon Valley braces for tech pullback after a decade of decadence

From layoffs to hiring freezes, here's how companies like Amazon and Walmart are preparing for what could be a 'seismic shift' coming to the economy

Tracking layoffs across Asia’s startup ecosystem (Updated)







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อ่านตามผู้นำระดับโลก 20 หนังสือที่ Elon Musk, Jeff Bezos และ Bill Gates แนะนำให้อ่าน

ผู้บริหารระดับสูงหลายคนได้กล่าวว่า พวกเขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญทางธุรกิจจากหนังสือ ซึ่ง Elon Musk, Jeff Bezos และ Bill Gates ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทั้งหมดยังเห็นพ้องกันว่า การเรียนรู้...

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...