ผมมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์ต่อให้เก่งขนาดไหนก็ไม่สามารถคาดเดาอนาคตแบบไกลๆได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นถึงผมจะมีหนังสือเกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตไกลโพ้นอยู่ 4-5 เล่ม แต่ส่วนใหญ่ก็แทบไม่ได้แตะ แม้แต่หนังสือ “คลื่นลูกที่สาม” ของ Alvin Toffler ที่ว่าน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ผมก็สามารถอ่านไปง่วงไปได้ จนสุดท้ายต้องส่งมันกลับไปบนชั้นหนังสือ
แต่วันหนึ่งผมก็เกิดความหงุดหงิดอยากรู้ว่า AI มันมีความสามารถถึงระดับไหนกันแน่ ผมก็เลยหาซื้อหนังสือที่พูดเกี่ยวกับ AI ก็เลยได้ Rise of Robot มาอ่าน หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Martin Ford ซึ่งเป็น Futurist และนักเขียนที่เน้นเรื่องผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ
หลังจากที่อ่านจบ ความรู้สึกแรกคือ กลัว AI มากขึ้นกว่าเดิม Ford คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ว่าเราอาจถูกพวกหุ่นยนต์แย่งงานเราไปหมดไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน จนสุดท้ายแล้วอาจจะเป็นเหมือนที่ Elon Musk พูดไว้ในดีเบทล่าสุดกับ Jack Ma คือ อาชีพสุดท้ายก็คือคนเขียนโปรแกรมให้ AI และในที่สุดแล้วอาชีพนี้ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน
ผมก็ลองคิดวิธีรับมือกับ AI เหมือนกัน แต่ระหว่างที่อ่านไปก็ถูก Ford ยกข้อมูลที่มีน้ำหนักมาบอกปัดสมมติฐานของผมได้อย่างง่ายดายซึ่งพอเป็นแบบนี้ก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกันเวลาที่อ่าน แต่เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คงไม่ใช่ทำให้เราเกิดความกลัว ผู้เขียนน่าจะต้องการให้เราตระหนักถึงความสำคัญในอนาคตมากกว่า และนั่นคือสิ่งที่ Futurist ทำ
การคาดการณ์ของ Ford จะแม่นยำขนาดไหนคงต้องว่ากันในอนาคต แต่สิ่งที่เขาทำให้เห็นในหนังสือก็คือความสมจริง ข้อมูลที่มีน้ำหนักประกอบกับการเล่าเรื่องทำให้เราเชื่อได้ว่าทุกสิ่งที่ผู้เขียนเขียนลงไปมันจะเป็นความจริงเข้าซักวัน
คราวนี้ผมเลยเกิดอยากรู้ว่าคนที่เป็น Futurist มีวิธีการมองอนาคตแบบไหนถึงสามารถมองไกลได้ขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม Rise of Robot ไม่ได้บอกวิธีการเอาไว้ แต่ไม่เป็นไร เราลองไปหาคนอื่นดูก็ได้
ผมค้นข้อมูลเจออยู่ 2 คนที่ให้มุมมองที่น่าสนใจ คนแรกจะช่วยปรับ mindset ให้กับเรา ส่วนคนที่สองจะสอนวิธีการวางแผนอนาคตแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบที่คนทั่วไปใช้กัน
----------------------
=ปรับ mindset ให้มองอนาคตแบบ Futurist=
Ari Wallach ทำงานเป็น Futurist มากว่า 20 ปี ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อคาดการณ์และเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคต
เขาเล่าว่าเวลาที่ไปพูดคุยกับผู้คนแล้วเขาบอกว่า เอาล่ะ เรามาพูดถึงอนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้ากันเถอะ คนเหล่านั้นก็จะบอกว่า เยี่ยมไปเลย แต่เมื่อคุยไปคุยมา เขาก็เริ่มรู้สึกว่าช่วงเวลามันเริ่มสั้นลงๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาไปพบ CEO ของบริษัทแห่งหนึ่งแล้ว CEO คนนั้นบอกว่า “ผมอยากคุยเกี่ยวกับอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า”
Wallach เรียกความคิดแบบนี้ว่า Short-termism ซึ่งมันแผ่กระจายไปทั่วทุกซอกทุกมุมในสังคมของเรา ตั้งแต่บ้านไปถึงธุรกิจและลามไปถึงการวางนโยบายของรัฐบาล การมองอะไรสั้นๆนั้นคิดออกง่ายกว่าการมองระยะยาว แต่การมองระยะสั้นไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆที่เราเผชิญอยู่ได้
การมองระยะสั้นทำให้ CEO ไม่กล้าลงทุนซื้อเครื่องจักรราคาแพงเพราะมันจะส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน
การมองระยะสั้นทำให้ครูไม่คิดจะสร้างความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งกับนักเรียน จนสุดท้ายเด็กต้องลาออก
การมองระยะสั้นทำให้เราไม่ใส่ใจกับการออมเงินทีละเล็กทีละน้อย จนสุดท้ายก็ไม่มีเงินเก็บซักที
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆบนโลกนี้ เราต้องปรับ mindset กันใหม่ซึ่ง Wallach ก็ให้วิธีคิดมา 3 แบบที่จะช่วยให้เรามองอนาคตให้ไกลขึ้น
1) Transgenerational thinking
ชื่อยาวไปหน่อยแต่แนวคิดไม่ได้ซับซ้อน ผมจะเรียกว่าการคิดแบบส่งต่อไปอีกรุ่นแล้วกัน Wallach กล่าวว่าเมื่อเราคิดจะทำสิ่งดีๆให้กับโลก คนเราส่วนใหญ่จะคิดแค่ช่วงเวลาระหว่างที่เราเกิดจนถึงเวลาที่เราตาย แต่ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้จะส่งผลให้กับคนรุ่นต่อไป ความคิดของเราจะขยายกว้างมากขึ้น
สมมติว่าคุณมีลูกวัยกำลังซน คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความสงบสุขเวลาที่คุณพาพวกเขาไปทานข้าวเพราะเด็กๆชอบส่งเสียงดัง แล้วถ้าคุณต้องการให้ลูกๆของคุณหยุดโวยวายล่ะ จะทำยังไง คุณอาจจะทำแบบพ่อแม่หลายคนนั่นคือหยิบสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตให้ลูกเล่น พวกเขาก็จะสงบลงแบบที่คุณต้องการ แต่แน่นอนว่ามันคือการแก้ปัญหาระยะสั้น
สิ่งที่ Wallach ต้องการให้คิดใหม่คือ สิ่งไหนที่ทำแล้วจะส่งผลดีต่อลูกคุณมากกว่าและมันน่าจะดีต่อไปจนถึงหลาน ถึงเหลนของคุณด้วย
การใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์กับลูกย่อมส่งผลดีกว่า คุณอาจจะชวนลูกๆคุยถึงเรื่องที่โรงเรียน หรือในเวลาว่างๆก็วาดรูปเล่นกับลูก แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตามมันย่อมเป็นเรื่องยากกว่าการยื่นสมาร์ทโฟนให้ลูกแน่นอน
แต่ผลลัพธ์ที่คุณจะได้คือความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกๆ แล้วพวกเขาก็น่าจะนำประสบการณ์ดีๆที่ซึมซับไปใช้กับลูกของพวกเขาและมันจะตกทอดต่อไปเรื่อยๆ
-----
2) Future thinking
ลองหลับตานึกถึงอนาคตในอีก 10-15 ปีข้างหน้า คุณจินตนาการเห็นอะไรบ้าง คุณอาจจะนึกถึงเทคโนโลยีใหม่ๆเต็มไปหมด โลกของเราอาจจะมีของวิเศษแบบโดเรมอนให้เราใช้ ปัญหาใหญ่ๆที่โลกของเราเผชิญอยู่อาจจะสามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีในอนาคต
อนาคตที่คุณนึกถึงจะเป็นแบบไหนก็ได้ มันไม่มีเรื่องถูกผิด แต่ถ้าจะต้องมองแบบ Futurist แล้ว เราต้องมองโลกอนาคตในมุมอื่นๆด้วย อย่ามองแค่อนาคตแบบเดียว
งานของ Wallach ไม่ใช่การใช้พลังไปกับการค้นหาอนาคตแบบเดียว แต่เขาต้องทุ่มเทคาดการณ์อนาคตออกมาหลายๆแบบ ดังนั้นถึง Martin Ford จะเห็นอนาคตแบบหนึ่ง เราเองก็อาจจะเห็นอนาคตอีกแบบหนึ่งได้ แต่เราก็ต้องนำการคาดการณ์ของ Ford มาคำนวณด้วย หัวใจของการคิดถึงอนาคตก็คือเปิดใจให้กว้าง
-----
3) Telos thinking
คำว่า Telos มาจากภาษากรีก แปลว่า เป้าหมายขั้นสูงสุด มันคือการถามว่า สุดท้ายแล้วมันจะจบที่ตรงไหน Wallach กล่าวว่าเวลาที่เราคิดแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เราควรต้องคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราทำการแก้ไขแล้วด้วย
Thomas Kuhn นักปรัชญาและนักฟิสิกส์ประดิษฐ์คำว่า paradigm shift ขึ้นมาและกล่าวว่า “ผู้คนจะไม่เคลื่อนย้ายไปหาอีกสิ่ง ถ้าหากพวกเขาไม่อาจจินตนการถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเคลื่อนไปหาได้” ถ้า Futurist สื่อสารได้ไม่ชัดเจนก็เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
การกล่าวสุนทรพจน์ I Have a Dream ของ Martin Luther King Jr. คือตัวอย่างที่ดีที่ Futurist ควรทำตาม King ได้กล่าวถึงปัญหาและสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในยุคนั้น จากนั้นเขาได้ให้ความเข้าใจแก่ผู้คนอย่างหนักแน่นว่าความฝันของเขาคืออะไรและสิ่งใดจะเกิดขึ้นตามมา
--------------------
=วางแผนอนาคตของธุรกิจแบบ Futurist=
เวลาวาดแผนการในอนาคต เรามักจะเห็นคนส่วนใหญ่ขีดเส้นตรงมาหนึ่งเส้นแล้วมาร์กจุดแต่ละช่วงเอาไว้ จากนั้นใส่รายละเอียดเข้าไปแต่ละจุด กรณีแบบนี้เราเรียกว่า Timeline
แต่ Amy Webb ซึ่งเป็น Quantitative futurist บอกว่าเธอไม่ใช้ Timeline ในการวางแผนอนาคต เหตุผลก็เพราะ Timeline ทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่าหลายๆอย่างเราสามารถควบคุมที่ไม่แน่นอนหลายๆอย่างได้
เราใส่เหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นเข้าไป เติมความสับสนวุ่นวายเข้าไปให้เราต้องขบคิด แล้วก็ร่างความสำเร็จขึ้นมาในแต่ละจุด แถมรับประกันด้วยว่าสำเร็จตามแผนแน่นอน
อย่างไรก็ตามโลกของเรานั้นยุ่งเหยิงกว่าที่คิดและ Webb พบว่าถึงแม้จะมีการวาง Timeline กันมาแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาระดมความคิดกันจริงๆ กลับได้แต่มุมมองทีใช้แก้ปัญหาระยะสั้น
ปี 2001 Webb ได้ไปพบกับกลุ่มผู้บริหารหนังสือพิมพ์เพื่อพูดคุยถึงการคาดการณ์อนาคต แต่ผู้บริหารเหล่านั้นกลับตั้งเป้าเอาไว้แค่ปี 2005 เท่านั้น การมองแบบนั้นมันสั้นเกินไปที่จะรับมือกับภัยคุกคาม เธอคิดว่าพวกเขาควรตระหนักถึงอนาคตให้ไกลกว่านี้
Webb ได้ยกตัวอย่าง i - Mode phone ซึ่งเป็นโทรศัพท์ญี่ปุ่น เธอใช้ตอนที่อยู่ในโตเกียว มันเป็นสมาร์ทโฟนดั้งเดิมที่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ สามารถทำการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ได้ และมีกล้องถ่ายรูปด้วย เธอถามผู้บริหารเหล่านั้นว่า จะเป็นยังไงถ้าโทรศัพท์เครื่องนี้มีราคาถูกลง มันจะไม่เกิดการไหลทะลักของข้อมูล การเกิดโฆษณาดิจิทัล และโมเดลธุรกิจที่แบ่งผลกำไรกันอย่างงั้นเรอะ
แต่เมื่อสมาร์ทโฟนอยู่นอกกรอบ 2005 พวกผู้บริหารจึงยังไม่สนใจที่จะหาวิธีใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟน พวกเขายังคงวางแผนระยะสั้นอยู่เหมือนเดิม และหลังจากการประชุมครั้งนั้นธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็เริ่มแย่ลง จนสุดท้ายก็ถูก disrupt
เพื่อป้องกันการมองอะไรสั้นๆที่เกิดจากการใช้ Timeline Webb จึงเสนอให้เราใช้สิ่งที่เรียกว่าTime Cones แทน มันจะช่วยให้เรามองทั้งระยะสั้นและระยะยาวในเวลาเดียวกัน ทุกงานที่เกี่ยวกับการคาดการณ์ เธอจะใช้ Time Cones ในการวางแผน
ใน cone จะประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1) Tactic 2) Strategy 3) Vision และ 4) System-level evolution ทั้ง 4 ส่วนนี้ถูกแบ่งออกไปตามช่วงเวลา มันคือสิ่งที่ใช้ในการรับมือกับปัญหาตามช่วงเวลานั้นๆ
จุดแรกของ cone คือจุดที่แคบที่สุด กรอบระยะเวลาที่เราวางเอาไว้คือ 12-24 เดือนข้างหน้า กรอบเวลานี้เราสามารถใช้ tactic หรือยุทธวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นได้ เพราะมันเป็นช่วงที่เรามีข้อมูลและหลักฐานพร้อมมากที่สุด ยุทธวิธีของเราอาจจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการมองหาลูกค้าใหม่ๆ
แต่ยุทธวิธีนั้นต้องเข้ากันกับ Strategy หรือยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย ยุทธศาสตร์เอาไว้ใช้รับมือกับอนาคตในอีก 24 เดือนถึง 5 ปีข้างหน้า ช่วงเวลานี้เราจะคาดการณ์อะไรได้ยากขึ้น การลงมือทำและการวัดผลก็ต้องดูกันให้ยาวกว่าช่วงแรกแต่ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากเท่ากับยุทธวิธี กุญแจสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์คือ “ไม่ต้องคุมเข้ม แต่เป้าหมายต้องชัด”
Webb พบว่าบริษัทส่วนใหญ่ติดอยู่ช่วงระหว่างยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
พอมาถึงการมองอนาคตในอีก 5-10 ปี ความไม่แน่นอนยิ่งมากขึ้นแต่ข้อมูลกลับน้อยลง สิ่งที่จะทำให้บริษัทเดินหน้าอย่างแน่วแน่คือ วิสัยทัศน์ของผู้นำ โดยในส่วนนี้ Webb ในฐานะ futurist จะเข้ามาช่วยในการตัดสินใจโดยจะดูว่าผู้บริหารจะติดตามผลการวิเคราะห์ยังไง จะไปลงทุนที่ไหน และพวกเขาจะพัฒนาแรงงานที่วันหนึ่งจำเป็นต้องใช้ยังไง
แต่ในที่สุดแล้ววิสัยทัศน์ก็ต้องเข้ากันกับส่วนสุดท้ายของ cone นั่นคือ System-level evolution มันเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของ cone ซึ่งสื่อถึงอนาคตที่กว้างไกลเกินกว่าจะคาดเดาได้แม่นยำ
ในอนาคตที่ไกลกว่า 10 ปี ผู้บริหารต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าจะสร้าง “วิวัฒนาการ” ให้กับองค์กรของตัวเองให้ไปทางไหนเพื่อเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเทคโนโลยีใหม่ การเปลี่ยนแปลงของตลาด การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์
แน่นอนว่าเราก็ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าเราจะเจออะไรบ้าง แต่อย่างน้อยคนที่เป็นผู้นำก็ต้องอธิบายได้ว่าคาดหวังให้องค์กรและกลุ่มอุตสาหกรรมมีวิวัฒนาการไปในทิศทางไหน
--------------------
Time cones ของ Webb ต่างจาก Timeline ตรงที่มันมีการขยับไปข้างหน้าเสมอ
ถ้าเป็น Timeline จะไม่มีความยืดหยุ่นเท่า พอเรากำหนดจุดลงไป เราก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง แต่ใน Time cones นั้น ทุกครั้งที่คุณได้รับข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ๆเข้ามา คุณต้องรีเซ็ตจุดเริ่มต้นของคุณใหม่ ยุทธวิธีที่เคยใช้อาจจะต้องเปลี่ยน ผลที่คุณได้คือ องค์กรที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถอยุ่รอดได้โดยการปรับตัวตามสถานการณ์
ดูเหมือนไม่ว่ายุคสมัยไหน ความสามารถในการปรับตัวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย การมี futurist มาให้มุมมองที่กว้างไกลก็เป็นตัวช่วยให้เรารู้ว่าควรปรับตัวไปทางไหน บางทีสิ่งที่พวกเขาพูดอาจจะดูเพ้อๆไปบ้าง แต่เราก็ควรทำแบบที่ Ari Wallach แนะนำคือ จินตนาการถึงความเป็นไปได้ให้ได้มากที่สุด
Futurist ไม่ได้มีหน้าที่ฟันธงอนาคต แต่พวกเขาช่วยชี้แจงข้อมูลที่สำคัญและสอนให้เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีอคติ สอนให้เรารู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราควรต้องรับมือแบบไหน จากนั้นสิ่งที่เราทำก็จะทำให้เกิดอนาคตแบบใดแบบหนึ่ง
หรือก็คือเหมือนกับประโยคที่ว่า วิธีทำนายอนาคตที่ดีที่สุดก็คือ สร้างมันขึ้นมา
--------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
https://ideas.ted.com/three-ways-to-think-about-the-future/
https://hbr.org/2019/07/how-to-do-strategic-planning-like-a-futurist
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด