GameFi อนาคตของอุตสาหกรรมเกม หรือแค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ? | Techsauce

GameFi อนาคตของอุตสาหกรรมเกม หรือแค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ?

พูดถึงเทรนด์ในโลกคริปโตที่เกิดบูมมากที่สุดในช่วงปี 2020-2021 ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น GameFi ด้วยแนวคิดที่ฉีกกรอบการเล่นเกมแบบเดิมที่เรารู้จัก แรกเริ่มเราเล่นเกมเพื่อความสนุกเป็นที่ตั้ง แม้ว่าเราต้องเสียเงินเพิ่มเล็กๆ น้อยๆ ผ่านการซื้อบริการภายในเกม แต่ถ้าเกมมันยังสนุก เราก็ยอมจ่าย แต่ถ้าเราเล่นเกมไปด้วย แล้วได้เงินไปด้วยล่ะ ฟังดูจูงใจไม่ใช่น้อยเลยว่าไหม 

GameFi

ด้วยความสำเร็จของเกม Axie Infinity ผู้ที่สร้างเกมแนว Play-to-Earn (P2E) ที่เป็นกระแสดังติดตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง จนทำให้หลายคนมองไปในทางเดียวกันว่า GameFi อาจจะกลายเป็นอนาคตใหม่ของอุตสาหกรรมเกมเลยก็เป็นได้ ส่งผลให้ผู้พัฒนาหลายคนต่างพากันกระโดดเข้ามาเกาะเทรนด์ สร้างโปรเจกต์ GameFi ต่างๆ ขึ้นมามากมาย มีทั้งที่พยายามพัฒนาจริง และแค่ทำเพื่อโกงตั้งแต่แรก (Rug Pull) 

แต่ถึงกระนั้นในปี 2022 นี้เอง ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวคิด P2E ไม่ใช่แนวคิดที่ยั่งยืนอะไร เกมส่วนใหญ่ยังคงหนีไม่พ้นกลไกแบบแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) หรือการเอาเงินคนใหม่จ่ายเงินคนเก่าวนไปเรื่อยๆ อีกทั้งรูปแบบเกมที่แทบจะสำเนากันมา มี NFT กอบกับเงินตอบแทนที่เรียกว่า “Reward Token” จากการเล่น แต่ Reward Token ดังกล่าวไม่ได้มีอรรถประโยชน์มากพอให้คนนำไปใช้ในระบบต่อ คนส่วนใหญ่ก็เลือกเทขายมากกว่าเก็บไว้อยู่ดี เพราะฉะนั้นการสร้างเกมโดยใช้ NFT และ Reward Token ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืน เพียงแค่สามารถยืดเวลาให้คนอยู่ในระบบนานขึ้นอีกหน่อยเท่านั้น และด้วยระบบดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการสร้างกำแพงด้านราคาขนาดใหญ่ให้คนใหม่ที่จะเข้ามาเล่นต้องจ่ายมากกว่าคนแรกๆ ที่เล่นอยู่ก่อน ส่งผลให้ระบบเติบโตช้า และท้ายที่สุดก็จะค่อยๆ ตายลงไป

ทำไม GameFi จึงมีแนวโน้มที่จะล้มเหลว?

จะพูดว่าล้มเหลวเลยก็คงยังไม่ใช่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะแนวทางของเกมไม่ได้พยายามสร้างฐานผู้ใช้ที่อยู่อย่างถาวร และไม่สามารถดึงผู้ใช้ใหม่ๆ ให้เข้ามาในระบบได้ต่อเนื่อง อีกทั้งทุกเกมที่ใช้คำว่า GameFi ต่างพ้วงมาด้วย P2E เสมอ ในเมื่อโมเดลของตัวเกมไม่ได้มีการหากำไรจากตัวเกมที่สร้างตั้งแต่แรก Reward Token ที่เราได้รับก็มาจากผู้เล่นใหม่ที่ต่อคิวเข้าทีหลังเรานั่นเอง ที่สำคัญการพ่วงมาด้วยคำว่า P2E จุดประสงค์ของผู้เล่นที่เข้ามาย่อมเข้ามาเล่นเพื่อกอบโกยเป็นหลัก ยิ่งถ้าเข้ามาได้ในช่วงแรกของเกม หรือที่เรียกติดปากกันว่า “ต้นน้ำ” ก็ยิ่งทำให้ได้เปรียบผู้ใช้ที่ตามมาในเรื่องต้นทุนอย่างมหาศาล และสามารถสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำได้ไม่ยาก ซึ่งหากโปรเจกต์เกมใหม่ที่จะเข้ามาอุตสาหกรรมนี้ยังคงทำให้ผู้เล่นมองหาช่องทางในการเข้าตั้งแต่ต้นน้ำอยู่เหมือนเดิม จะมาอีกกี่โปรเจกต์ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างกัน

ทำอย่างไร GameFi ถึงจะไปต่อได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน?

GameFi ส่วนใหญ่ใช้แนวคิดของเกมแบบง่ายๆ แค่คลิ๊กไม่กี่ครั้งก็จบ โดยขาดซึ่งความสนุกอันควรจะเป็นแก่นหลักของการสร้างเกม ทางรอดทางเดียวของ GameFi ที่อยากใส่ P2E เข้ามาด้วย หากต้องการจะทำให้ยั่งยืน ก็ไม่ต่างอะไรจากการทำธุรกิจทั่วไปของอุตสาหกรรมเกมที่ต้องมี ได้แก่

  • การสร้าง Busniess Model ที่สามารถทำเงินได้จากเกม - อาจจะเป็นรายได้จากการโฆษณาเพื่อเพิ่ม Brand Awareness จากข้างนอก เพื่อสร้างแหล่งรายได้นอกเหนือไปจากการบังคับให้ซื้อ NFT เพื่อใช้ในการเข้ามาเล่นเกม ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่แย่อะไร แต่การบังคับให้ซื้อ NFT ที่มูลค่าไม่คงที่ จะสกัดการเติบโตของผู้ใช้ที่จะเข้ามาในอนาคต หรือขายบริการบางอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เล่นในเกม ไม่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตัวละครไปในทางที่ต้องการได้หลากหลายขึ้น เช่น การขายชุด, หรือ Skin เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ใหม่ๆ เป็นต้น

  • เกมต้องไม่มีกำแพงตอนแรกเข้าที่สูงเกินไป - แม้เกมที่ต้องให้ผู้เล่นใหม่จ่ายค่าบริการบางอย่างในราคาที่สูงก่อนจึงจะสามารถเข้ามาเล่นได้ จะดูสร้างรายได้ได้แบบก้าวกระโดด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถจ่ายในราคาสูงขนาดนั้นได้ การสร้างกำแพงแรกเข้าที่สูงอย่างที่อธิบายไว้ตอนต้น จะยิ่งทำให้ตัวเกมเติบโตด้านผู้ใช้งานช้า หรือไม่เติบโตเลย ส่งผลให้รายได้ที่เกิดขึ้นต่อแพลตฟอร์มน้อยลงไปด้วย แต่กลับกันหากกำแพงนั้นลดลง หรือไม่มีเลย การเติบโตด้านผู้ใช้งานก็จะทำได้ง่าย ซึ่งรายได้เข้าแพลตฟอร์มสามารถหาด้วยวิธีอื่นได้เช่นกัน

  • ตัวเกมต้องสนุก! - ข้อสำคัญที่ขาดไม่ได้ ตัวเกมที่มีเนื้อเรื่องที่ดีบวกกับเกมเพลย์ที่สนุก จะช่วยให้ผู้ใช้เดิมอยู่ต่อ ผู้ใช้ใหม่อยากเข้า

ปัจจุบันเกมส่วนใหญ่ที่เป็น GameFi แนว P2E เรียกได้ว่าเกิน 80 เปอร์เซ็น ไม่ได้เข้าข่ายการกระทำดังกล่าวข้างต้น เพราะส่วนมากนักพัฒนาไม่ได้มีประสบการณ์อยู่ในอุตสาหกรรมเกมตั้งแต่แรก แต่มาจากฝั่งที่เป็นนักพัฒนาสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่คุ้นเคยกับโลก Blockchain เสียมากกว่า  สุดท้ายก็ต้องปิดโปรเจกต์กันไปเยอะพอสมควร รวมถึงการทำเกมในแต่ละโปรเจกต์บน Blockchain เป็นรูปแบบเกมเดียวจบ ทำให้ผู้เล่นอยู่ในระบบแค่ช่วงหนึ่ง แล้วหายจากไปเนื่องจากความเบื่อหน่าย หากสามารถสร้างระบบนิเวศน์ที่สามารถใช้ Token เดียวกัน แต่เล่นได้หลายๆ เกม จะทำให้ตัวแพลตฟอร์มสามารถอยู่ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งทีม Gala Games พยายามพัฒนาแพลตฟอร์มรูปแบบนี้อยู่ เพราะทีมที่ทำเป็นทีมผู้มีประสบการณ์ทั้งในอุตสาหกรรมเกม และ Blockchain ด้วย จึงการันตีได้ว่าเกมมีความสนุกเป็นแก่นหลักแน่นอน แต่ก็ยังต้องรอพิสูจน์ตัวเองในหลักเศรษฐศาสตร์ของเหรียญที่ตัวเองสร้างอีกหลายด่านพอสมควรว่าระบบนี้ยั่งยืนจริง อีกทั้งยังมีการถกเถียงกันระหว่างคนในอุตสาหกรรมเกมอยู่ไม่น้อย ถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างเกมให้อยู่ในรูปแบบของ GameFi ว่าแท้จริงแล้วกำลังเพิ่มความยุ่งยากในการพัฒนาอยู่หรือเปล่า? 

จากประสบการณ์ของผู้เขียน มีเพียงไม่กี่เกมที่ยังสามารถอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Axie เองที่ปัจจุบัน การเล่นก็แทบไม่สามารถที่จะ earn รายได้ที่เท่ากับมาตรฐานในการดำรงชีวิตแล้ว แต่ผู้เล่นก็ยังพอมีอยู่เพื่อรอการพัฒนาของเกมในเฟสถัดไป, Splinterlands เกม P2E อีกเกมที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่า Axie แม้ผลตอบแทน ณ ปัจจุบันไม่ได้มากเท่าตอนแรกแล้วก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ยังยินดีจ่ายเพื่อเช่า หรือซื้อแพ็คการ์ดที่จะช่วยทำให้ตัวเองเก่งขึ้นอยู่ หรืออย่าง MIR4 ที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วย P2E แบบเต็มขั้น แต่ใช้โมเดลแบบ Pay-to-Win เข้ามาผสมด้วย ทำให้เกมสามารถอยู่ได้ ยังไม่รวม Ni no Kuni : Cross Worlds ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้ ทั้งยังเพิ่งใส่ระบบ P2E เข้าไป ถึงแม้จะยังไม่ค่อยแจงรายละเอียดในอนาคตว่าจะทำระบบนี้ให้ยั่งยืนอย่างไรต่อ หรือมีแผนจะให้สามารถซื้อขายตัวละครได้แบบ MIR4 ผ่าน NFT หรือไม่ แต่สำหรับ Ni no Kuni : Cross Worlds มีคุณสมบัติแทบจะครบทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งทีมผู้พัฒนาเป็นเจ้าหลักที่มีประสบการณ์ในการทำเกมอยู่แล้ว ทำให้เป็นที่น่าติดตามกันต่อว่าเกมนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการ GameFi ไปในทิศทางไหน หากอนาคต GameFi สามารถหลุดพ้นโมเดลแชร์ลูกโซ่ไปได้ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด หรือวิธีการใด อุตสาหกรรมเกมคงมีอะไรให้น่าตื่นเต้นอีกเยอะเป็นแน่

สามารถติดตามบทความอื่นๆ และพูดคุยกับผู้เขียนผ่าน Facebook Page ได้ที่ Beam Chanon บีม ชานน จรัสสุทธิกุล CEO & Co-founder Forward Labs 


References: [1]  [2]  [3]  [4] 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...

Responsive image

เริ่มปีใหม่ด้วย Life Audit เปลี่ยนความฝันเป็นแผนที่ชัดเจน

เริ่มต้นปีใหม่ให้มีความหมายด้วย Life Audit กระบวนการ 3 ขั้นตอนที่ช่วยสำรวจความต้องการที่แท้จริงของคุณ พร้อมวางแผนเป้าหมายอย่างมีระบบและได้ผลจริง...