สตาร์ทอัพสาย Sharing Economy ในไทย ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘โชคช่วย’ | Techsauce

สตาร์ทอัพสาย Sharing Economy ในไทย ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘โชคช่วย’

ในประเทศที่ 'Sharing Economy' เริ่มแตกหน่ออ่อนเป็นต้นกล้าอย่างสยามเมืองยิ้ม เรามีหลากหลายสตาร์ทอัพที่กำลังตามเทรนด์โลกอย่าง The Uber of X ด้วยการแบ่งปันทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดมากขึ้น เช่น coworking space ต่างๆ, บริการเช่าที่พักชั่วคราว เช่น Airbnb, บริการให้เช่าจักรยาน, หรือที่คุ้นเคยกันมากที่สุด คือบริการที่คนทั่วไปสามารถนำรถตัวเองออกมาขับหารายได้ (ก็เจ้าของชื่อคอนเซปต์) อย่าง Uber หรือ Grab นั่นเอง

แต่ในวันที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยกับคอนเซปต์ของ Sharing Economy ดีนักทำให้กฎหมายต่างๆ ยังไม่ได้ออกมารองรับให้ดีพอ หรือกระทั่งการปรับตัวของธุรกิจท้องถิ่นแบบเดิมๆ ก็ดูจะยังตามไม่ทันเท่าไรนัก ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นข่าวการประท้วง เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาคุ้มครองบ้าง ภาครัฐบ้าจี้ออกมาล่อซื้อล่อจับบริการการเดินทางทางเลือก ทั้งๆ ที่เป็นบริการที่มีประโยชน์กับประชาชนตาดำๆ โดยแท้ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น หากเราลองไล่เรียงลำดับเหตุการณ์กันดูสักนิด ก็ดูเหมือนจะมีคน ‘อยู่เป็น’ ในสังคมแบบสยามประเทศอยู่เหมือนกัน

ย้อนกลับไปในวันที่บริการคู่แข่งรถสาธารณะอย่างแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นข่าวครั้งแรก หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าจุดเริ่มต้นมาจาก Grab กับบริการ GrabBike ที่ทำให้สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งสยามประเทศออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่า Grab ทำไม่ถูกต้อง กรมการขนส่งทางบกต้องออกมาปกป้องผู้ทำถูกกฎหมายอย่างพวกพี่ๆ เขา ถึงขนาดมีประกาศจะพัฒนา ‘แอปเรียกมอ’ไซค์วิน’ ออกมาสู้ภายใต้ความร่วมมือกับกรมฯ แต่สุดท้ายข่าวก็เหมือนจะเงียบหายเข้ากลีบเมฆไป พร้อมบริการใหม่ไฉไลของ Grab ที่เรียกพี่วินได้เช่นเดียวกับมอเตอร์ไซค์ทั่วไปที่อยู่ในระบบ นี่คือตัวอย่างการ ‘อยู่เป็น’ ทางหนึ่งของ Grab ก่อนกระแสต่อมาจะทิ้งช่วงไปสักพัก แล้วใครต่อใครก็พูดถึง Uber

Uber ถูกจุดกระแสขึ้นมาเป็นตัวร้ายทำลายอาชีพคนหาเช้ากินค่ำอย่างคนขับแท็กซี่ที่ปฏิบัติตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกกฎหมาย สารพัดการเรียกร้อง ฟ้องสื่อ ตามหาความยุติธรรมให้สมาชิกในสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ถึงขนาดเป็นสาส์นท้ารบก็ยังมี แต่ เอ๊ะ! ชื่อของ Grab หายไปไหน ในเมื่อเขาก็มีบริการ GrabCar คู่แข่งสายตรง Uber ไม่ใช่หรือ

เรื่องมันเริ่มที่การ ‘อยู่เป็น’ ตั้งแต่แรกเริ่มก็ว่าได้ วิธีการที่ Grab เปิดตัวนั้นดูจะแยบยลไม่ใช่น้อย แม้เราจะไม่อาจรู้ได้ว่านี่เป็นหมากที่ตั้งใจวางหรือไม่

เมื่อ Grab เริ่มด้วยการเข้าหาผู้ที่ดูท่าจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการเกิดขึ้นของบริการในลักษณะนี้อย่างเหล่าแท็กซี่ พร้อมชื่อที่ดูเป็นมิตรชัดเจนว่า ‘GrabTaxi’ โดยใช้วิธีส่งคนไปตามปั๊มแก๊สซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของเหล่าคนขับแท็กซี่เพื่อชักชวนพี่ๆ เข้ากลุ่ม รวมถึงเจาะไปตามสหกรณ์แท็กซี่ต่างๆ ใช้วิธีการแบบเพื่อนชวนเพื่อนในหมู่คนขับก็ยังมี เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางจึงเริ่มเดินเกมต่อที่การเปิดบริการ GrabCar และเปลี่ยนชื่อ Rebrand ตัวเองเป็น Grab เฉยๆ ตามมาด้วย GrabBike และอื่นๆ อีกมากมาย

ภาพจาก Grab

Grab จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจ เป็นบทเรียนที่ควรค่ากับการถอดสำหรับหลายๆ สตาร์ทอัพที่อาจจะต้องเผชิญปัญหาจากการสร้าง Value Chain หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ไป Disrupt หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่าไปทับที่เจ้าที่เดิม โดยเฉพาะเจ้าที่ขาใหญ่ที่หยั่งรากลึกจนอาจลำบากจะโค่นถอน การเข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละสังคมอย่างแท้จริง อาจจะกลายเป็น Competitive Advantage ที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นกุญแจไปสู่การขยายขนาดธุรกิจได้อย่างโชคช่วย (Serendipity) ก็เป็นได้

อย่างกรณีล่าสุดที่มีเหตุปะทะกับบริการรถท้องถิ่นอย่างรถแดงให้ได้ดราม่ากันอยู่พักใหญ่ ท่ามกลางเสียงบ่นระงมของชาวเชียงใหม่ถึงสารพัดข้อดีข้อเสียต่างๆ นานา แต่ต่อมา ‘คนอยู่เป็น’ ก็ไม่ทำให้เราผิดหวังด้วยการออกบริการใหม่ Grab Redtruck จับมือประสานโดยไม่รู้อะไรกลายเป็นกาวใจ มาเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้ Grab เสียอย่างนั้น ไหนจะบริการใหม่อย่าง Just Grab ที่คาดว่าออกมาทั้งยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งปิดปากพี่ๆ แท็กซี่ด้วยโอกาสทำเงินได้มากกว่ามิเตอร์ด้วยราคาเหมาๆ ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจในการแข่งขันกับ GrabCar ปกติ และยังลดเวลาในการรอรถของผู้ใช้ด้วยการเพิ่ม Supply ของ Pool รถไปในตัว ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เหนือเมฆอยู่ไม่น้อย

ไหนจะตัวเลขค่าธรรมเนียมของ GrabCar ที่เหมือนจะหักหัวคิวต่ำกว่าคู่แข่ง แต่เมื่อบวกค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินที่เก็บแยกอีกส่วนแล้ว จริงๆ ตัวเลขก็ดูจะไม่ได้ต่างกันเท่าไร แต่แค่ฟังแล้วรู้สึกดีก็เท่านั้น ไม่นับเรื่องการเพิ่มอัตราค่าเรียกพี่แท็กซี่ในช่วงที่ (ว่ากันว่า) มี High Demand ของวันอีกต่างหาก จะเห็นได้ว่าการใช้กลยุทธ์ทางจิตวิทยาก็มากับเขาด้วยเช่นกัน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่า Grab จะประสบความสำเร็จไปเสียหมด

เมื่อความพยายามในการดันอีกหนึ่งบริการอย่าง GrabHitch ซึ่งเป็นรูปแบบของ Carpooling ในลักษณะว่า ‘ขอติดรถไปด้วยคน เดี๋ยวเราช่วยค่าน้ำมันนะคุณนะ’ ดูจะไม่ติดตลาดสักเท่าไร แม้จะเป็นบริการคล้ายๆ กับ Rideshare ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศอย่าง UberPool หรือ Lyft ซึ่งปัจจัยก็คงจะไม่หนีจากเรื่องวัฒนธรรมความไม่คุ้นเคยของคนไทยสักเท่าไร ไหนจะความเกรงใจ จะจ่ายเท่าไร นัดเวลาอย่างไร คงสร้างความยุ่งยากกว่าที่คิด

แต่อย่างไรก็ตาม จากกรณีทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สิ่งหนึ่งที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนคือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหล่าสตาร์ทอัพจากโลกฝั่งตะวันตกอาจจะยังเข้าไม่ถึงนัก หรือหากจะกล่าวกันจริงๆ แม้แต่สตาร์ทอัพในฟากฝั่งตะวันออกอย่างเราๆ เองก็อาจจะมองข้ามการเข้าใจถึงรากฐานของวัฒนธรรม สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน Value Chain หรือ Ecosystem ท้องถิ่นนั้นๆ ไป ในโลกของความเป็นจริงแค่ Business Canvas, Business Plan หรือ Financial Projection ดีๆ อาจจะไม่ได้นำสตาร์ทอัพไปสู่ความสำเร็จเสมอไป หากคิดจะเป็น Unicorn ตัวต่อไป อาจจะต้องมองให้ลึกลงไปมากกว่าที่คิด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...