Buy Now Pay Later โมเดลการเงินที่อาจมา Disrupt บัตรเครดิตในอนาคต | Techsauce

Buy Now Pay Later โมเดลการเงินที่อาจมา Disrupt บัตรเครดิตในอนาคต

Buy Now Pay Later (BNPL) หรือ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เป็นโมเดลธุรกิจของการให้บริการทางการเงิน ที่กำลังเป็นที่นิยมในบรรดาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น E-commerce ท่องเที่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของเราทุกคนทั้งสิ้น ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปทำความรู้จัก BNPL กันให้มากขึ้น รวมถึงมาวิเคราะห์กันว่าทำไมถึงได้รับความนิยม แล้วโมเดลการเงินในรูปแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตอย่างไร และมีใครบ้างที่จะต้องปรับตัวจากการเติบโตของผู้เล่นข้ามอุตสาหกรรมเช่นนี้

Buy Now Pay Later

Buy Now Pay Later คืออะไร

Buy Now Pay Later (BNPL) หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง คือ บริการการเงินที่จุดขาย (Point of Sale Financing: POS) โดยจะอนุมัติให้ลูกค้าได้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการก่อน และหลังจากนั้นค่อยผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการเป็นขั้นตอนถัดไป ซึ่งลูกค้าจะสามารถใช้บริการนี้ได้ต่อเมื่ออยู่ในขั้นตอนของการชำระเงิน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของเส้นทางการบริโภคลูกค้า (Customer Journey)

แม้ว่าผู้ให้บริการจะมีเงื่อนไขของบริการ BNPL แตกต่างกัน แต่หลักการทำงานเบื้องต้นของ BNPL โดยรวมจะเริ่มต้นตั้งแต่ที่ลูกค้าได้ทำการซื้อของหรือบริการจากร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมบริการ จากนั้นเลือกตัวเลือก BNPL ที่โหมดการชำระเงิน ภายหลังจากที่ระบบตรวจสอบประวัติลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ก็จะอนุมัติให้ทำธุรกรรมดังกล่าว โดยอาจต้องชำระเงินเบื้องต้นอย่างน้อย 25% จากยอดซื้อทั้งหมด แล้วรอชำระเงินส่วนที่เหลือจนกว่าจะครบกำหนดไว้ ในการชำระเงินรูปแบบนี้ ลูกค้ามีตัวเลือกที่ยืดหยุ่น สามารถเลือกแบ่งชำระเงินได้เป็นงวด ๆ เช่น ทุก ๆ 2 สัปดาห์ หรือ ทุก ๆ เดือน และสามารถชำระเงินสดผ่านธนาคาร หักจากบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตได้อัตโนมัติ

Buy Now Pay Later POS

Buy Now Pay Later แตกต่างจากบัตรเครดิตอย่างไร

มองดูผิวเผินจะพบว่า BNPL นั้นแทบไม่ต่างกับการผ่อนชำระสินค้าและบริการกับบัตรเครดิตเลย แต่จุดเด่นของ BNPL ที่ดึงดูดให้ลูกค้าสนใจมากขึ้นก็คือ BNPL ไม่เก็บดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มเติม ต่างจากบัตรเครดิตที่เมื่อลูกค้ามีกำหนดชำระเงินทุกเดือน 

สิ่งที่ตามมาคือยอดสินเชื่อคงค้าง ยิ่งระยะเวลาผ่อนชำระนานมากเท่าไร ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มจากเงินต้นมากขึ้นในทุก ๆ งวด ซึ่งส่งผลให้เกิดหนี้ได้โดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ เงื่อนไขการขอใช้บริการ BNPL ไม่ซับซ้อนและใช้เวลาอนุมัติง่ายกว่าบัตรเครดิต จึงทำให้ในปัจจุบัน คนเริ่มนิยมวิธีการชำระเงินแบบ BNPL มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยข้อมูลจาก Worldpay ผู้ให้บริการ E-Payment เผยว่า มูลค่าธุรกรรมที่เกิดจาก BNPL ในปี 2020 สูงถึง 97,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 2.1% จากธุรกรรมการเงินทั้งหมด และอาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 4.2% ภายในปี 2024

ทำไม Buy Now Pay Later ถึงได้รับความนิยม โดยเฉพาะคนวัยทำงานรุ่น Millennial

จากผลสำรวจของ Insider Intelligence พบว่า BNPL เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะได้รับความนิยมจากประชากรวัย Millennial มีอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ผู้บริโภคส่วนใหญ่และเป็นวัยทำงานที่คิดสัดส่วนสูงถึง 50% จากทั้งหมด และชื่นชอบที่จะชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน BNPL มากถึง 40% 

โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก Millennial ได้เติบโตเปลี่ยนผ่านในยุคที่เศรษฐกิจปราศจากความมั่นคง เผชิญกับวิกฤตมากมายไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 9/11 วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ และโควิด-19 ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและหนี้เสียที่มาจากบัตรเครดิต 

Phil Pomford General Manager ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Worldpay Merchant Solutions เชื่อว่าวิกฤตการเงินระดับโลกมีบทบาทสำคัญที่คนรุ่น millennial มองการขอสินเชื่อและบัตรเครดิตเปลี่ยนไป

“ในช่วงที่หลายปีที่ผ่านมา คนวัย Millennials ได้ห่างเหินจากวิถีการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต และเสาะหาวิธีการชำระเงินทางเลือกมากขึ้น เพราะวิกฤติการเงินระดับโลกได้ทำให้คนเกลียดชังและกลัวหนี้สินและเครดิต คนมีภาพจำเครดิต หนี้ และดอกเบี้ยเสมือนเป็นความเสี่ยง และไม่อยากให้ตนเองมาเผชิญเหมือนกับที่พ่อแม่เขาต้องเจอ” Pomford กล่าวกับทาง Savings.com.au “และผมเชื่อว่า Buy Now Pay Later เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับบัตรเดบิต ทำให้คนสบายใจจะใช้จ่ายมากขึ้น”

Millennials

Buy Now Pay Later โมเดลการเงินเชิงจิตวิทยา ที่ทำให้การเป็นหนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

Buy Now Pay Later (BNPL) ทำให้คนเข้าถึงการชำระเงินออนไลน์มากขึ้น และคนกล้าจับจ่ายซื้อของที่มีราคาสูง เพราะเงื่อนไขการผ่อนจ่ายในจำนวนเงินที่คงที่ อีกทั้งเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำมาก หรือไม่เก็บเลย ทำให้คนรู้สึกว่าการซื้อของใช้และบริการเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น 

อีกทั้งมองว่าเงินที่ตนเองต้องชำระให้กับ BNPL ไม่ใช่หนี้ที่ธนาคารออกให้ก่อน แต่เป็นเงินของตัวเองที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ทีหลัง ไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยเงินก้อนใหญ่ทีเดียว

ทั้งนี้ เทรนด์ในโซเชียลมีเดียมีส่วนผลักดันให้คนเปลี่ยนมาใช้ BNPL ผลสำรวจจาก Allianz Life Insurance ได้เผยว่า Millennial ที่เป็นเป้าหมายหลักของ BNPL นั้นก็มีแนวโน้มที่จะซื้อของส่วนใหญ่ที่เจอจากทางโซเชียลมีเดีย ได้รับอิทธิพลจากเพื่อนและผู้นำทางความคิด อินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 48% เพราะการที่ได้ซื้อของใช้ตามโซเชียลมีเดีย เสริมความมั่นใจตนเองและได้รับการยอมรับจากสังคม ด้วยเหตุนี้แพลตฟอร์ม BNPL ส่วนใหญ่ ต่างทุ่มงบโฆษณาและพัฒนาการตลาดในโซเชียลมีเดียให้เข้ากับพฤติกรรมกลุ่มคนนี้ไปโดยปริยาย

Buy Now Pay Later ทำให้การผ่อนเป็นเรื่องง่าย ทำได้ในแพลตฟอร์มเดียว

การขอผ่อนชำระหรือสินเชื่อตามสถาบันการเงินทั่วไปนั้น จะต้องใช้เอกสารมากมาย อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร รายการฝากถอนในบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) ที่ต้องใช้ย้อนหลังถึง 3-6 เดือน และสำเนาสลิปเงินเดือนย้อนหลัง ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขการขอบัตรเครดิตหรือสินเชื่อก็ซับซ้อน ตรวจสอบละเอียด โดยเฉพาะคนที่ไม่มีฐานเงินเดือนเท่าเกณฑ์ที่วางไว้ หรือมีอาชีพอิสระที่ฐานเงินเดือนไม่แน่นอนด้วยแล้วก็จะขอบัตรเครดิตได้ยากกว่าปกติ 

ในขณะที่ BNPL จะมีนโยบายการอนุมัติเงินที่ผ่อนปรนกว่า บางแพลตฟอร์มของ BNPL จะอาศัยเพียงข้อมูลทั่วไป อาทิ ชื่อ ที่อยู่ อายุ อาชีพ รายได้ เลขที่บัญชีธนาคาร รวมไปถึงการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าออนไลน์ ก็สามารถได้รับอนุมัติวงเงินแล้ว และทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่นาน เพราะ BNPL มีกระบวนการตรวจสอบ Credit Scoring และความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของผู้ใช้ผ่านระบบอัลกอริทึมและโมเดล Machine Learning จึงทำให้ขั้นตอนการยื่นผ่อนชำระเงินในแพลตฟอร์มเป็นไปอย่างสะดวกสบาย 

นอกจากนี้ BNPL เสริมกลยุทธ์ให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายผ่าน 2 รูปแบบยอดนิยม ได้แก่ 

  • แอปพลิเคชันที่จับคู่กับคู่ค้าในแพลตฟอร์ม E-Commerce  อาทิ Affirm, Afterpay,  Zip, Pay in 4 โดย PayPal 

  • บริการ BNPL ที่ติดตั้งร่วมอยู่ในแอปพลิเคชัน Super App เช่น ShopeePay ที่ติดตั้งในแอปพลิเคชัน Shopee เป็นต้น 

ดังนั้นภาพจำของ BNPL จึงเป็นบริการทางการเงินที่ใช้ได้ง่าย ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน 1 เครื่องก็สามารถผ่อนชำระได้แล้ว

ปรากฏการณ์ Buy Now Pay Later บูมในบรรดา Tech Company อาเซียน

Buy Now Pay Later (BNPL) อาจเป็นอีกหนึ่งบริการทางการเงินที่มาท้าชนกับธุรกิจบริการบัตรเครดิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต เนื่องจาก ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญปัญหาร่วมกัน นั่นก็คือ การเข้าถึงบริการทางการเงิน  โดยภายในจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 670 ล้านคนในภูมิภาค มีประชากรเพียง 27% เท่านั้นที่มีบัญชีเงินฝาก รวมไปถึงจำนวนผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อนับเป็นสัดส่วนถึง 438 ล้านคน อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของชาวอาเซียนจะพึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ดังเห็นได้จากคาดการณ์จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจาก Coherent Market Insights ที่เติบโตอย่างรวดเร็วถึง 400 ล้านคน 

ด้วยเหตุนี้ จุดเด่นของ BNPL ที่สามารถให้บริการการผ่อนชำระโดยปราศจากเงื่อนไขที่ซับซ้อน อนุมัติได้ง่ายกว่าระบบผ่อนชำระปกติ ประจวบเหมาะกับบริการส่วนใหญ่ของ BNPL จะอยู่ในระบบออนไลน์และอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก จึงมีแนวโน้มสูงที่จะเจาะตลาดผู้ใช้งานในอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะบริการได้เข้าถึงพฤติกรรมการทำธุรกรรมของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกันนี้ ผู้เล่นบริการ BNPL ในอาเซียนต่างเติบโตและมีศักยภาพการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว อาทิ Grab, Gojek, Traveloka, Kredivo, Shopee ที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรม E-Commerce, การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีการเงิน ก็มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่เป็น FinTech Startup ผุดขึ้นมากระจายตัวไปทั่วภูมิภาค อาทิ Akulaku (อินโดนีเซีย), Cashalo (ฟิลิปปินส์), atome (สิงคโปร์), hoola (สิงคโปร์) เป็นต้น นับว่าธุรกิจดั้งเดิมและหน้าใหม่ต่างสนใจที่จะมาพัฒนาแพลตฟอร์ม BNPL มาเติมเต็มระบบนิเวศในอาเซียน

กรณีศึกษา: สถาบันการเงินดั้งเดิมจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไรจาก Buy Now Pay Later

แม้ว่า BNPL จะเข้ามาอุดรอยรั่วของบริการการเงินรูปแบบเดิม และเสนอเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายให้กับกลุ่มคน Millennial ที่อาจมาบดบังบทบาทสำคัญของสถาบันการเงินดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีกรณีศึกษาสำคัญที่ธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ ต่างปรับตัวเองให้เข้ากับเทรนด์ BNPL ที่กำลังมาแรง รวมไปถึงได้เข้ามาเล่นในตลาดด้วยเช่นกัน 

ตัวอย่างเช่น Mastercard ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตระดับโลก ได้เปิดบริการผ่อนชำระ BNPL ที่มีชื่อว่า “Mastercard Installments” สำหรับตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรเมื่อวันอังคารที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา โดย Mastercard จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างธนาคารและ Fintech Startup และเสนอการผ่อนชำระแบบ BNPL ได้โดยตรง

ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เราก็ได้เห็น Macy’s ห้างสรรพสินค้าของสหรัฐฯ ก็ได้ใช้กลยุทธ์ Partnership สร้างความร่วมมือกับ Klarna แพลตฟอร์ม BNPL เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้า เช่นเดียวกับ Affirm อีกหนึ่งแพลตฟอร์ม BNPL ก็ได้จับคู่ไปกับร้านค้าอื่น ๆ เช่น Shopify, Gucci, Bonobos, The RealReal และ Pelonton

ไม่เพียงแต่การเสนอบริการใหม่และจับคู่กลยุทธ์ทางธุรกิจแล้ว สถาบันการเงินก็ได้ปรับตัวเองโดยเข้าไปลงทุน หรือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับแพลตฟอร์ม BNPL ที่มีศักยภาพที่จะเติบโต เช่น SCB 10X บริษัทในกลุ่มของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ก็ได้ประกาศร่วมทุนกับ Traveloka บริการแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ และบริการ BNPL 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโมเดลการเงิน BNPL จะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรดา Tech Company ในอาเซียนต่างกระโดดเข้าไป และขยายธุรกิจมาเป็นคู่แข่งสถาบันการเงินดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างง่ายดายขึ้นเช่นกัน 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 สัญญาณพนักงาน Red Flag จากความเห็นของ CEO ชั้นนำ

หลายครั้งที่เราพยายามสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์งานอย่างเต็มที่หรือตั้งใจเป็นพนักงานที่ดีที่สุด แต่บางทีก็มีอะไรที่เราอาจมองข้ามไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็น Red Flag ที่ทำให้ CEO ...

Responsive image

เปิดลิสต์ 9 หนังสือเล่มโปรด ของ Sam Altman ที่แนะนำให้ทุกคนอ่าน

บทความนี้รวบรวม 9 หนังสือเล่มโปรดที่ Sam Altman แนะนำ ที่เต็มไปด้วยมุมมองและแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากหนังสือเหล่านี้ ที่จะช่วยให้คุณมองโลกได้กว้างขึ้น พร้อมตั้งคำถามที่ท้าทายความค...

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...