หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง King Man อาจได้เห็นภาพบางส่วนของเทคโนโลยีการเดินทางที่เรียกว่า Hyperloop (ไฮเปอร์ลูป) หรือการขนส่งที่กำลังถูกกำลังถูกพูดถึงในขณะนี้ เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรื่อง หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เผยถึงพาหนะที่จะปฏิวัติการคมนาคมของประเทศไทย และคืออนาคตใหม่ที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูง มาดูกันว่าไฮเปอร์ลูปที่ว่านี้คืออะไร เทคโนโลยีนี้จะสามารถเกิดขึ้นจริง หรือเป็นแค่เรื่องขายฝัน?
Hyperloop คือเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งแห่งโลกอนาคต ด้วยการเดินทางผ่านท่อสุญญากาศ โดยมีพาหนะที่เรียกว่า pod หรือแคปซูล ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้า(magnetic levitation – Maglev) เดินทางไปยังจุดหมายที่ต้องการ โดย Pod จะเดินทางไปด้วยความเร็วสูงสภาพแวดล้อมที่มีแรงดันต่ำและแรงเสียดทานต่อ ทำให้ในทางทฤษฎี มีการคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางไว้ที่ 1200 กิโลเมตร / ชั่วโมง เลยทีเดียว
Elon Musk หรือ Iron Man ในนิยามของคนไทย ผู้ก่อตั้ง Tesla และ Space X ได้เปิดเผยทฤษฏีนี้ในปี 2013 โดยมองว่าไฮเปอร์ลูปคือพาหนะแห่งอนาคตและยังไม่หวงไอเดีย โดยอนุญาตให้บริษัทอื่นนำแนวคิดไปต่อยอดได้ หลังจากนั้นบริษัท Virgin Hyperloop One และ Hyperloop Transportation Technology ได้นำแนวคิดของเขาไปพัฒนาต่อ ประกอบกับ Elon Musk ได้ตั้งบริษัท The Boring Company เพื่อพัฒนาไฮเปอร์ลูปด้วยเช่นกัน ปัจจุบันจึงมี 3 บริษัทใหญ่โดยอเมริกาและแคนาดาที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ในทางทฤษฎีระบุว่าไฮเปอร์ลูปจะมีความเร็วอยู่ที่ 1200 กิโลเมตร / ชั่วโมง โดยในปัจจุบัน บริษัท Virgin Hyperloop One ได้ทดสอบเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปที่รัฐเนวาดา (ซึ่งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่นี่เมื่อปีที่แล้ว) โดย Virgin Hyperloop One ได้มีการทดสอบความเร็วในระยะทาง 500 เมตรพบว่า สามารถทำความเร็วอยู่ที่ 387 กิโลเมตร / ชั่วโมง และคาดว่าจะทำได้เร็วกว่านี้หากท่อมีระยะทางที่ยาวขึ้น
ในขณะเดียวกัน Virgin Hyperloop One ได้มีการเปิดเผยคลิปวีดีโอจำลองการเดินทางจาก Dubai ไป Abu Dhabi ได้ในเวลา 12 นาที จากเดิม 90 นาที ทำให้มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้น่าจะสำเร็จที่ดูไบ ซึ่ง Virgin Hyperloop One ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนา Hyperloop ให้สำเร็จในเชิงพาณิชย์ในปี 2021 อีกด้วย
ในขณะที่การเลือกตั้งในประเทศไทยกำลังร้อนแรง ไฮเปอร์ลูปก็ได้รับการถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้จัดแถลงข่าวเผยแนวคิดในหัวข้อ ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหลังจากเขาเดินทางไปศึกษาถึงสถานที่จริงกับบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมไฮเปอร์ลูประดับโลกถึง 3 แห่งเมื่อปีที่แล้วธนาธรได้เผยใน Facebook ส่วนตัวว่า
“Hyperloop อนาคตใหม่ของระบบขนส่งมวลชนไทย ที่ไปไกลกว่ารถไฟความเร็วสูง”
เขาเล่าว่า เขาได้คุยกับร็อบ เฟอร์เบอร์ ผอ.ฝ่ายวิศวกรรมของ Virgin Hyperloop One เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟไฮเปอร์ลูปในไทย
“ร็อบยืนยันว่าไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก รวดเร็วระดับ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลังงานเพียง 15% ของรถไฟแมกเลฟที่ทันสมัยที่สุดของญี่ปุ่น ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังมีราคาถูกกว่า ทั้งในด้านการลงทุนราง และระบบปฏิบัติการ (ทั้ง capex และ opex) โดยใช้เงินเพียงครึ่งเดียวของรางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการใช้งบประมาณน้อยกว่า เท่ากับระยะเวลาคืนทุนที่สั้นกว่าด้วย”
"การที่ยานพาหนะเคลื่อนที่ในอุโมงค์สูญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานจากล้อกับรางและจากลม การใช้พลังงานจึงประหยัดที่สุด ลดการนำเข้าพลังงาน และสามารถทำให้ประเทศไทยใช้พลังงานน้อยลงในการขนส่งผู้โดยสารอีกด้วย
ที่สำคัญที่สุด ไฮเปอร์ลูปเป็นนวัตกรรมล้ำยุคก็จริง แต่ระบบทั้งหมดกลับเรียบง่ายจนสามารถผลิตที่ไหนก็ได้ในโลก นอกจากระบบขับเคลื่อนที่เป็นเทคโนโลยีของ Virgin Hyperloop One ระบบอื่นเช่น ราง ตัวรถ รวมถึงอุโมงค์สูญญากาศที่ใช้สำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบรางรถไฟ สามารถผลิตได้ในไทย เท่ากับว่าหากเราสร้างไฮเปอร์ลูปในไทยได้จริง นอกจากคนไทยจะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เร็ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกสบาย และราคาไม่แพง ยังสามารถก่อเกิดการจ้างงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศขนานใหญ่ด้วย" ธนาธรเผยใน Facebook
โดยในงานแถลงข่าวที่ผ่านมาธนาธรได้เล่าว่า ไฮเปอร์ลูปมีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูง ทั้งยังจะช่วยสร้างงานให้กับคนไทยถึงๅ 180,000 กว่าตำแหน่ง โดยยังมีโอกาสในการผลิตสิ้นส่วนในประเทศ และพัฒนาทักษะในประเทศ และประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอ ในการทำไฮเปอร์ลูปเส้นทางเหนือสู่ใต้ คือเชียงใหม่ กรุงเทพ และภูเก็ต และสามารถก้าวเข้าไปร่วมพัฒนากับประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกา และแคนาดาได้ หากเริ่มตั้งแต่ตอนนี้
โดยธนาธร กล่าวว่าจะเปิดเผยรายงาน Preliminary Feasibility Report ในช่วงหลังการเลือกตั้งเพราะหากเปิดเผยในช่วงนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ ดังนั้นคาดว่าจะเปิดเผยในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2562 โดยรายงานผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้น แต่ทุกคนสามารถนำไปศึกษา พัฒนา อ้างอิง ทำซ้ำ ดัดแปลง และวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ โดยถือว่าผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของสาธารณะ
ในเวลานี้ไฮเปอร์ลูปยังไม่เกิดขึ้นสำเร็จเป็นรูปธรรมที่ใดในโลก และไฮเปอร์ลูปที่คุณธนาธรไปศึกษาดูงานนั้น ยังทำความเร็วห่างไกลจากเป้าหมายที่เขาวางไว้คือ 1100 กิโลเมตร / ชั่วโมง และตัวอย่างไฮเปอร์ลูปที่ดูไบ ก็รองรับผู้โดยสารได้น้อย ในขณะที่ความคิดเห็นของคนทั่วโลกบางส่วนมองว่า ทฤษฏีที่เกิดขึ้นจาก Elon Musk นี้ ไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ และอาจเป็นเทคโนโลยีที่รองรับเฉพาะคนที่มีกำลังจ่ายเท่านั้น จึงไม่เหมาะกับประชาชนทั่วไป
เพราะ Hyperloop อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี หากต้องการรับส่งผู้โดยสารครั้งละปริมาณมากๆ จะตอบโจทย์ผู้ใช้งานในไทยหรือไม่ ก็ต้องรอดูต่อไปว่า หากธนาธรได้เป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลจริง เขาจะทำโครงการนี้สำเร็จหรือไม่ และหากเขาไม่ได้เป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล เทคโนโลยีนี้จะยังคงเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือจะเป็นเพียงแค่เรื่องขายฝันก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น
อ้างอิง Wired , Space X , Hyperloop One , ThanathornOfficial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด